ไม่พบผลการค้นหา
มติของเยอรมนีในการตกลงยอมขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการลบล้างการคว่ำบาตรที่มีขึ้นในปี 2561 จากกรณีที่ซาอุดีอาระเบียมีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามเยเมน ถูกรับรองในสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนการเดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางของ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

จากการรายงานของสื่อเมื่อวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) ระบุว่า รัฐบาลร่วมของเยอรมนี ได้รับรองการส่งออกอาวุธชุดใหม่ให้ซาอุดีอาระเบียแล้ว โดยการรายงานข่าวมีขึ้นหลังจากที่โชลซ์เดินทางกลับจากการเยือนซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์

รัฐบาลเยอรมนีได้ประกาศมาตรการแบนการส่งออกอาวุธให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียในปี 2561 จากเหตุการณ์ที่ซาอุดีอาระเบียมีส่วนร่วมในสงครามเยเมน รวมถึงกรณีที่ซาอุดีอาระเบียถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการฆ่า จามาล คาชอกกี ผู้สื่อข่าวที่มักเขียนข่าวต่อต้านรัฐบาลซาอุดีอาระเบียในปีเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และรองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ยืนยันผ่านหนังสือที่ส่งไปยังรัฐสภาเยอรมนีว่า มีข้อตกลงในการส่งออกอาวุธหลายฉบับ ที่ถูกรับรองโดยโชลซ์ ก่อนการเดินทางเยือนตะวันออกกลาง ทั้งนี้ หนังสือของฮาเบคระบุว่า ใบอนุญาตค้าอาวุธดังกล่าว เป็นโครงการร่วมที่เยอรมนีทำร่วมกับอิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร 

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะสามารถซื้ออุปกรณ์ ที่ใช้สำหรับการปฏิบัติการด้วยเครื่องบินเจ็ททอร์นาโด และยูโรไฟท์เตอร์ มูลค่า 36 ล้านยูโร (ประมาณ 1,335 ล้านบาท) อีกทั้งโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลยุโรปอื่นๆ ในการจัดหาอะไหล่สำรอง สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A330 MRTT ซึ่งมีมูลค่า 2.8 ล้านยูโร (ประมาณ 103 ล้านบาท) อีกด้วย

ก่อนหน้าที่จะมีมาตรการคว่ำบาตร การส่งออกอาวุธจากเยอรมันไปยังซาอุดีอาระเบียอยู่ที่จุดสูงสุดในปี 2555 ที่มูลค่ารวม 1.24 พันล้านยูโร (ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท) แต่ในปี 2561 รัฐบาลร่วมของพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) รวมถึงพรรคประชาธิปไตยสังคม (SPD) ได้ตกลงร่วมกัน ที่จะตัดการส่งออกอาวุธไปยังประเทศที่มีส่วนร่วมในสงครามเยเมน

ข้อตกลงในครั้งนั้น มีข้อยกเว้นบางประการที่อนุญาตให้มีการส่งออกวัสดุอุปกรณ์ทางการทหารจากเยอรมนีสู่กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการฆาตกรรมของคาชอกกี การคว่ำบาตรก็เปลี่ยนไปเป็นการแบนอย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ ก่อนการแก้ไขข้อตกลงกับซาอุดีอาระเบีย จุดยืนในการไม่ส่งออกอาวุธไปยังบริเวณที่มีข้อขัดแย้งของเยอรมนีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วในปีนี้ จากกรณีที่เยอรมนีถูกกดดันให้ส่งอาวุธไปช่วยเหลือยูเครนในสงครามที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ เยอรมนีกำลังหาทางในการเสริมความสัมพันธ์กับประเทศผู้ส่งออกพลังงานอื่นๆ และลดการพึ่งพาพลังงานก๊าซจากรัสเซียลงในช่วงสงครามยูเครน ซึ่งซาอุดีอาระเบียเองเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกพลังงานที่สำคัญที่สุดของโลก

เยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกอาวุธสงครามที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายอาวุธเพิ่มขึ้น 21% จากปี 2559 ถึงปี 2563 จากการรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์มระบุว่า ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ได้แก่ เกาหลีใต้ แอลจีเรีย และอียิปต์


ที่มา:

https://www.dw.com/en/german-government-approves-arms-exports-to-saudi-arabia-reports/a-63288334?fbclid=IwAR02W3BVVTda886UjTvPMO6l8rMIQcLUw9D6Jl97PtvAYxhzVPKqmS7p4oA