ไม่พบผลการค้นหา
ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 5 ราย มาจากสิงคโปร์ อิตาลี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,866 ราย ด้าน องค์การอนามัยโลกชื่นชมไทยคุมโควิด-19 ได้ดี แม้ไม่มีวัคซีน ขอทุกประเทศทำตามแบบอย่าง

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 5 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน (Quarantine Facilities) โดยมาจากสิงคโปร์ 1 ราย อิตาลี 1 ราย สหราชอาณาจักร 2 ราย และสหรัฐอเมริกา 1 ราย

รายที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 48 ปี เดินทางจากสิงคโปร์ถึงไทยวันที่ 30 ต.ค. เข้าพัก State Quarantine จ.ชลบุรี ทำการตรวจหาเชื้อวันที่ 3 พ.ย. (Day4) ผลไม่พบเชื้อ ต่อมาตรวจอีกครั้งวันที่ 12 พ.ย.(Day13) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่รพ.ชลบุรี

รายที่ 2 เป็นชาย สัญชาติอิตาเลียน อายุ 44 ปี อาชีพวิศวกร เดินทางจากอิตาลีถึงไทยวันที่ 7 พ.ย. เข้าพัก Alternative State Quarantine (ASQ) ในกทม. ทำการตรวจหาเชื้อวันที่ 12 พ.ย. (Day5) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในรพ.เอกชน

รายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี อาชีพพนักงานเสิร์ฟอาหาร เดินทางจากสหราชอาณาจักรถึงไทยวันที่ 9 พ.ย. เข้าพัก State Quarantine ในกทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 12 พ.ย. (Day3) ผลพบเชื้อ มีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ  

รายที่ 4 เป็นหญิงไทย อายุ 19 อาชีพนักศึกษา เดินทางจากสหราชอาณาจักรถึงไทยวันที่ 9 พ.ย. เข้าพัก State Quarantine ในกทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 12 พ.ย. (Day3) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ

รายที่ 5 เพศหญิง อายุ 39 ปี สัญชาติอเมริกัน เดินทางจากสหรัฐอเมริกาถึงไทยวันที่ 12 พ.ย. เข้าพักใน ASQ กทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 12 พ.ย. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในรพ.เอกชน

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 3,866 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 2,453 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,413 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 10 ราย รวมเป็น 3,707 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 99 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมที่ 60 ราย

DownloadFile.jpg


องค์การอนามัยโลกชื่นชมไทยคุมโควิด-19 ได้ดี แม้ไม่มีวัคซีน

พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญให้กล่าวถ้อยคำแถลงในพิธีปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 73 ซึ่งเป็นการจัดประชุมในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual) ผ่านทางระบบออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 500 คน จากประเทศสมาชิก 194 ประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่สนับสนุนประเทศสมาชิกในการตอบโต้โรคโควิด-19 และให้ทุกคนเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย ยารักษา และวัคซีนโรคโควิด 19 ผ่านข้อริเริ่ม ACT-Accelerator และกลไก COVAX พร้อมชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ และเป้าหมาย Triple-billion targets ขององค์การอนามัยโลก คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) การเตรียมความพร้อม ป้องกันและตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ และการสร้างเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี

พญ.พรรณประภา กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความร่วมมือกับสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยในการทบทวนการดำเนินงานตอบโต้โรคโควิด-19 เพื่อถอดบทเรียนและปรับปรุงการดำเนินงานของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยประสบความสำเร็จ คือ การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวของผู้นำโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทยที่มีการลงทุนมานานกว่า 40 ปี และความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคม นอกจากนี้ ยังได้ส่งกำลังใจไปยังทุกประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับโรคโควิด-19 และย้ำว่าไทยพร้อมสนับสนุนประชาคมโลกในการตอบโต้โรคระบาด โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุข และการส่งเสริมให้ยาและวัคซีนโรคโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ

พญ.พรรณประภา กล่าวต่อว่า ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีกล่าวจบ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีไทยที่สนับสนุนการทำงานขององค์การอนามัยโลก โดยระบุว่าไทยเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมที่รัฐบาลและสังคมทำงานร่วมกัน ทำให้ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ แม้ยังไม่มีวัคซีน พิสูจน์จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 นอกประเทศจีน แต่ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 4,000 ราย มีผู้เสียชีวิตเพียง 60 ราย โดยที่มีประชากร 70 ล้านคน และยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเมืองใหญ่และมีประชากรในชุมชนเมืองหนาแน่นมากที่สุดในโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ไทยทุ่มเทให้กับการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข มีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขมากกว่า 1 ล้านคน คอยดูแลสอดส่องระบบสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น และมีบทเรียนการรับมือโรคระบาดในอดีต โดยเฉพาะโรคซาร์สเมื่อปี 2546

"ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศทำตามแบบอย่างประเทศไทย เพราะไม่มีประเทศไหนที่สามารถพูดได้ว่า เตรียมพร้อมรับมือต่อการระบาดของโรคโควิด 19 ได้ดีแล้วหรือไม่มีบทเรียนให้เรียนรู้ได้อีก นอกจากนี้ ยังขอบคุณ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย ที่สนับสนุนข้อริเริ่มขององค์การอนามัยโลกในการสร้างคลังเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพ ที่สมาพันธรัฐสวิส เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันตัวอย่างเชื้อ สำหรับพัฒนายาและวัคซีนให้เป็นสินค้าสาธารณะ" พญ.พรรณประภา กล่าว