ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ครม.รับทราบส่วนราชการปรับลดงบประมาณปี 2564 เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาโควิด-19 พร้อมกันนี้ยังรับทราบโครงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ รับทราบการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ส่วนราชการต่างๆ เสนอ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อาทิ

  • สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปรับลด 60,271,400 บาท 
  • สถาบันพระปกเกล้า ปรับลด 20,968,163 บาท 
  • สำนักงานศาลยุติธรรม ปรับลด 157,866,100 บาท
  • สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปรับลด 33,806,000 บาท
  • สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรับลด 23,079,100 บาท
  • สำนักงาน ป.ป.ช.ปรับลด 166,725,600 บาท
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปรับลด 298,516,800 บาท
  • สำนักงานอัยการสูงสุด ปรับลด 141,716,500 บาท
  • สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปรับลด 10,556,300 บาท
  • สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ปรับลด 13.9633 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 6.62 จาก ที่ได้รับจัดสรร 210.7365 ล้านบาท คงเหลือ 196.7732 ล้านบาท  เป็นต้น

ครม. รับทราบโครงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอการขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2563 วงเงิน 600 ล้านบาท โดยโครงการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏมีทั้งสิ้น 38 แห่ง ได้น้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ด้านการศึกษาในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และจัดทำยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาบัณฑิต ยกระดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ควบคู่ไปกับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อว. จึงจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ (Artificial Intelligence) ในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และได้ส่งข้อเสนอโครงการ กิจกรรมหรือการดำเนินการประเภทที่ 2 ประจำปี 2563 กรณีทำความตกลงกับหน่วยงานรัฐ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กทปส. ของ กสทช. ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 600 ล้านบาท แต่ กทปส. กำหนดกรอบวงเงินไว้เพียง 200 ล้านบาท ทั้งนี้ กทปส. จะพิจารณาข้อเสนอโครงการฯ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 โดยโครงการฯ มีกิจกรรมการดำเนินงาน จำนวน 15 กิจกรรม ดังนี้

  • 1.1 พัฒนาและถ่ายทอดการสร้าง Data Model ต้นแบบ เพื่อให้หน่วยงานของมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคใช้เป็นต้นแบบ
  •  1.2 พัฒนาระบบฐานข้อมูล Student Profiling เพื่อจัดเก็บข้อมูลประวัติส่วนตัวนักศึกษา ประวัติการศึกษา ผลการเรียน ความสนใจและความถนัด
  •  1.3 พัฒนาระบบพัฒนาทักษะ (Re-skill & Up-skill) สำหรับครู/อาจารย์ เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ให้กับบุคลากรทางการศึกษา
  • 1.4 พัฒนาระบบ Learning Management System เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป
  •  1.5 พัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า เศรษฐกิจและชุมชน
  •  1.6 พัฒนาระบบ Sentiment Analysis เพื่อรวมรวบความเห็น ความสนใจ ตลอดจนปฏิกิริยาต่าง ๆ ของผู้คน
  • 1.7 พัฒนาระบบ Student Insight & Personalized Learning เป็นระบบการติดตามและวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
  • 1.8 พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัจฉริยะโดยมีการนำเทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้
  • 1.9 พัฒนาระบบฐานข้อมูลงบประมาณ ข้อมูลบุคลากร และข้อมูลโครงการสำหรับจัดเก็บข้อมูลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
  • 1.10 พัฒนาระบบรายงานเพื่อผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารใช้ติดตามความก้าวหน้าและตรวจสอบสถานะของข้อมูลในด้านต่าง ๆ 
  • 1.11 พัฒนาระบบรับคำร้อง/ความคิดเห็น (Ticketing and Feedback) เป็นระบบที่เปิดรับคำร้องหรือความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ
  • 1.12 จัดหาและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายและอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลระบบ Private Cloud เพื่อเป็นระบบหลักและเป็นศูนย์กลางในการประมวลผลข้อมูล
  • 1.13 จัดหาและพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเป็นระบบสารสนเทศกลางในการให้บริการของมหาวิทยาลัย
  • 1.14 จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้งานรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อนำมาออกแบบระบบ
  • 1.15 ดำเนินการออกแบบและพัฒนากระบวนการประมวลผลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง

 2. สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ที่ อว. ขอรับการสนับสนุนจาก กทปส. ของ กสทช. จำนวน 600 ล้านบาท จำแนกเป็นดังนี้ 1. ค่าตอบแทนบุคลากรหรือค่าจ้างนักวิจัย 201,071,600 บาท 2. ค่าใช้สอยหรือค่าดำเนินการ 5,451,840 บาท 3. ค่าวัสดุ – บาท 4. ค่าครุภัณฑ์ 393,476,560 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) 5. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ – บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 600,000,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :