วันนี้ 26 พ.ค.2568 สำนักงานศาลปกครองออกหนังสือชี้แจง 'ข้อกฎหมายคดีฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโครงการรับจำนำข้าวเปลือก' โดยระบุว่า
สํานักงานศาลปกครองขอชี้แจงข้อกฎหมายในการดําเนินกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ อผ.๑๖๐ - ๑๖๓/๒๕๖๘ ระหว่าง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ นายกรัฐมนตรีกับพวกรวมเก้าคน ผู้ถูกฟ้องคดี ดังนี้
๑. คดีในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ นั้น มีมูลเหตุมาจากกรณีที่มีคําสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๐๒๘.๒๓ บาท อันเป็นคําสั่งทางปกครองที่ให้ชําระเงิน ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ชําระกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอํานาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และขายทอดตลาดเพื่อชําระเงินตามคําสั่งได้ โดยไม่จําต้องฟ้องคดีต่อศาล ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ใช้บังคับอยู่เดิม และมาตรา ๖๓/๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่แก้ไขใหม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าคําสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยมีคําขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่งดังกล่าว คดีในส่วนนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคําสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลปกครองมีอํานาจเพียงพิพากษาเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ประกอบมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยศาลไม่มีอํานาจพิพากษาให้คู่กรณีฝ่ายผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คําสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงมีคําพิพากษาเพิกถอนคําสั่งพิพาทเฉพาะส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจํานวน ๑๐,๐๒๘,๘๖๑,๘๘๐.๘๓ บาท โดยศาลปกครองสูงสุดไม่ได้มีคําพิพากษาและออกคําบังคับให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าแต่อย่างใด
๒. คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดี เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๖ โดยตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่นั่งพิจารณาได้ลงลายมือชื่อในร่างคําพิพากษาครบทั้งห้าคนเรียบร้อยแล้ว ต่อมาประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีคําสั่งให้นําคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในการประชุมใหญ่นั้นจะประกอบด้วยตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่พ้นจากราชการไปแล้วจึงไม่อาจเข้าร่วมประชุมใหญ่ได้ ทั้งนี้ คําวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ จะเป็นไปตามเสียงข้างมากของที่ประชุม ต่อมา เมื่อมีการจัดทําคําพิพากษาตามมติของที่ประชุมใหญ่แล้ว ตุลาการในองค์คณะสองคนที่พ้นจากราชการไปแล้วจึงไม่อาจลงลายมือชื่อในคําพิพากษาได้ ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีบันทึกกรณีตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีเหตุจําเป็นไม่อาจลงลายมือชื่อได้ไว้ในคําพิพากษาแล้ว ทั้งนี้ การดําเนินกระบวนพิจารณาและจัดทําคําพิพากษาดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา ๖๘ และมาตรา ๖๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
๓. ส่วนการทําความเห็นแย้งนั้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนในที่ประชุมใหญ่มีสิทธิทําความเห็นแย้งได้ตามมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยปรากฏความเห็นแย้งและรายชื่อของตุลาการที่มีความเห็นแย้งอยู่ในคําพิพากษาแล้ว
จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน
สํานักงานศาลปกครอง
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๘