ไม่พบผลการค้นหา
บริษัทเทคโนโลยีและนักสิ่งแวดล้อมจับมือองค์กรไม่แสวงหากำไร พัฒนาแพลตฟอร์มติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกตามเวลาจริง ติดตามข้อมูลผ่านดาวเทียมประมวลผลโดยปัญญาประดิษฐ์ หวังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงองค์กรความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอันใหม่ 'ClimateTRACE' ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่างองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) และบริษัทเทคโนโลยีจำนวนหนึ่ง ที่มุ่งเป้าในการติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วโลกแบบเวลาจริง โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมรวมไปถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

เว็บไซต์ว็อกซ์ (VOX) รายงานว่า ความร่วมมือครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายองค์กร อาทิ Carbon Tracker ที่หันมาใช้การเรียนรู้ของเครื่องกลและข้อมูลดาวเทียมพยากรณ์การใช้พลังงานจากโรงงานไฟฟ้าทั่วโลก หรือ OceanMind ที่ใช้เซนเซอร์จับสัญญาณการเดินเรือทั่วโลกตามเวลาจริง ทั้งยังสามารถใช้ข้อมูลเครื่องยนต์คาดการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เช่นเดียวกัน 

เกวิน แมคคอร์มิค ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุด WattTime องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมใหม่นี้ ชี้ว่า OceanMind เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่เขาชื่นชอบนำมาหยิบยกเป็นตัวอย่างในการอธิบายความสามารถของเทคโนโลยีข้อมูล

"พวกเขาอยู่ในธุรกิจที่ใช้เซนเซอร์ที่หลากหลายมากในการตรวจจับการทำประมงผิดกฎหมาย พวกเขายังสามารถติดตามเรือทุกลำบนโลกใบนี้ได้แบบเวลาจริง"


โลก - AFP - สิ่งแวดล้อม

หน่วยงานที่เข้าร่วมกับ ClimateTRACE
  • Earthrise Alliance
  • CarbonPlan
  • Hudson Carbon
  • Rocky Mountain Institute
  • Hypervine
  • Blue Sky Analytics
  • OceanMind
  • Carbon Tracker
  • WattTime

ระบุที่มาได้ แล้วดียังไง?

เคลลี ซิมส์ กาลาเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จากโรงเรียนกฎหมายและการทูตเฟลทเชอร์ มหาวิทยาลัยทัฟส์ สหรัฐฯ ชี้ว่า ที่ผ่านมาหนึ่งในปัญหาสำคัญของความพยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมคือหลายประเทศไม่สามารถระบุที่มาของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้

กาลาเกอร์ อธิบายเพิ่มว่า แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การระบุที่มาของก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ก็ยังเป็นเรื่องยาก จึงส่งผลต่อแนวการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อการแก้ปัญหา อีกทั้ง ความไม่ชัดเจนของที่มาของก๊าซฯ เหล่านี้ก็ทำให้การตรวจสอบว่าแต่ละประเทศดำเนินการตามที่เคยสัญญาหรือลงนามเอาไว้เป็นเรื่องยาก

ไทริน แฟรนเซน จากสถาบันทรัพยากรแห่งโลก (World Resources Institute-WRI) เสริมว่า การปราศจากข้อมูลที่ดีทำให้แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 30 ปี หลังจากที่หลายประเทศร่วมลงนามในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กรยังไม่สามารถจัดทำรายการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมให้กับทุกประเทศได้ 

ปัจจุบันแผนการพัฒนาแพลตฟอร์มติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเวลาจริงจากทั่วโลกของ ClimateTRACE ยังอยู่ในกระบวนการเริ่มต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ย้ำว่าทีมงานต้องการส่งมอบโครงการดังกล่าวในการประชุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติปี 2564 หรือ COP26 โดยหวังว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกให้กับทุกประเทศ

อ้างอิง; VOX, Carbon Tracker, Time, Greenmatters