ไม่พบผลการค้นหา
การใช้อาวุธปืนก่อเหตุรุนแรงในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยาก แต่เหตุการณ์ 'กราดยิงโคราช' ทำให้กองทัพไทยถูกวิพากษ์ว่าหละหลวม นายทหารระดับสูงยุ่งเกี่ยวการเมืองจนไม่มีเวลาดูแลพลทหาร พร้อมแนะกองทัพปรับปรุงมาตการคุมคลังแสง ไม่ใช่เข้มงวดเฉพาะชายแดนภาคใต้

เว็บไซต์ Asia Times สื่อที่รายงานข่าวเกี่ยวกับเอเชีย เผยแพร่บทความ Thai mass shooting shows lack of military discipline ซึ่งพูดถึงเหตุการณ์กราดยิงและบุกห้างสรรพสินค้าที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8-9 ก.พ.2563 โดยระบุว่า เหตุกราดยิงในไทยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ากองทัพหละหลวม เพราะทหารเป็นมือปืนสังหารคนไปเกือบ 30 ราย ทำให้กองทัพไทยเผชิญหน้ากับข้อเรียกร้องให้ตรวจสอบประสิทธิภาพของหน่วยงานในการดูแลรักษาสรรพาวุธและควบคุมเหล่าทหารในกรมกอง

ริชาร์ด เอส เอร์ลิก ผู้เขียนบทความ ระบุว่า การไล่ฆ่าคนที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ และอาจจะเป็นเหตุการณ์การสังหารหมู่พลเรือนที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของไทย ขณะเดียวกัน ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพก็ตั้งคำถามว่า อาจจะเป็นเพราะนายทหารระดับสูงของไทยจำนวนมากมัวแต่ยุ่งเรื่องการเมือง รั้งตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงก่อรัฐประหาร แทนที่จะไปเข้มงวดเรื่องการกำกับดูแลพลทหาร

บทความของ Asia Times ระบุด้วยว่า การสกัดมือปืนที่มีเจตนาฆ่าคนในพื้นที่ที่ไม่ได้มีการวางระบบป้องกันเอาไว้เลยนั้น "แทบจะเป็นไปไม่ได้" โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งไม่ค่อยจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ต่างจากสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ แถบตะวันตกที่การถือครองอาวุธปืนไม่ใช่เรื่องแปลก

เหตุกราดยิงและบุกยึดห้างสรรพสินค้าที่ยาวนานต่อเนื่องกว่า 17 ชั่วโมงในไทยครั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับการยกย่อง คือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งไร้อาวุธ แต่กล้าหาญอย่างมากที่พยายามพาผู้คนที่ติดอยู่ในห้างไปหลบในที่ปลอดภัย และเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงทุกนายที่ร่วมมือกันในภารกิจยุติเหตุรุนแรงในห้าง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีค้นหาและจับตามองผู้ก่อเหตุ จนนำไปสู่การยิงปะทะและจบชีวิตผู้ก่อเหตุได้ในที่สุด

AFP-หน่วยกู้ภัยเข้าไปพร้อมทหาร เคลียร์พื้นที่เหตุกราดยิงโคราชที่เทอร์มินอล21-1.jpg

Asia Times รายงานด้วยว่า ผู้ก่อเหตุไม่พอใจผู้บังคับบัญชาเรื่องค่านายหน้าที่ดินที่ติดค้างอยู่ จึงยิงสังหารผู้บังคับบัญชารายแรก สะท้อนภาพทหารไทยได้ในระดับหนึ่ง เพราะเงินเดือนทหารชั้นผู้น้อยนั้นไม่มากมายอะไร ทหารไทยหลายคนจึงต้องหางานเสริมทำ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย จึงไม่อาจบอกได้ว่าผู้ก่อเหตุไม่พอใจด้วยเหตุผลนี้จริงหรือไม่ เพราะเหตุใดหลังจากนั้นเขาจึงพุ่งเป้าโจมตีพลเรือนในห้างสรรพสินค้าแทน ขณะที่ข้อความในเฟซบุ๊กของเขาระบุข้อความทำนองว่า "ไม่มีใครหนีความตายได้"

แม้ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าความขัดแย้งในสังคมไทยและความย่อหย่อนในกองทัพจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงจริงหรือไม่ แต่ก็มีคนวิจารณ์แล้วว่า กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป และไม่ใส่ใจหลักปฏิบัติของกองทัพ เพราะนายทหารระดับสูงของไทยพัวพันกับการรัฐประหารหลายครั้ง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา การที่กองทัพแบ่งความสนใจไปยังการเมือง ซึ่งถูกมองว่าเป็น "ความมืดมนและฉ้อฉล" ทำให้เกิดช่องว่างที่ 'อันตราย' ภายในกองทัพเอง 

ผู้วิพากษ์วิจารณ์กองทัพชี้ให้เห็นกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ปล้นปืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีกลุ่มติดอาวุธบุกค่ายทหาร รวมถึงการซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารและด่านตรวจในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่เหตุกราดยิงที่โคราชในครั้งนี้ตอกย้ำว่า กองทัพต้องเพิ่มความเข้มงวดในการเก็บรักษาและป้องกันสรรพาวุธของตัวเองในทุกที่ทั่วประเทศ อย่ามุ่งเน้นแต่เฉพาะพื้นที่ชายแดนภาคใต้เท่านั้น

วิสัยยศ-บรรยากาศหน้าห้าง TM21 คดีกราดยิงโคราช_๒๐๐๒๐๙_0001_0.jpg

นอกจากนี้ บทความระบุด้วยว่า ไทยเป็นประเทศที่มีสถิติผู้ถือครองปืนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย กระทรวงกลาโหมของไทยออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการถือครองอาวุธปืนเฉลี่ยปีละกว่าล้านกระบอก แต่ปืนยังมีราคาแพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะไทยไม่มีฐานการผลิตปืนในประเทศ จึงต้องนำเข้ามา ปืนราคา 500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 15,000 ที่สหรัฐอเมริกา อาจมีราคาเพิ่มเป็น 2,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 75,000 บาทได้หากนำมาขายในไทย

คนไทยส่วนใหญ่ที่มีปืนในครอบครอง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ รวมถึงชนชั้นกลางและผู้มีฐานะร่ำรวยที่นิยมสะสมหรือยิงปืนเป็นกีฬา ขณะเดียวกัน สถิติคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนในไทยก็มีจำนวนสูงเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งคดีเหล่านี้มีทั้งการฆาตกรรม, การใช้ความรุนแรงจากปืน, อุบัติเหตุที่เกิดจากปืน การฆ่าคนโดยไม่เจตนา รวมถึงการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืน

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Reuters รายงานด้วยว่า การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของนายทหาร สะท้อนให้เห็นว่าการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ประกอบการก่อเหตุเป็นสิ่งที่ต้องกำกับดูแลมากขึ้น เพราะเป็นการเผยแพร่ความรุนแรงสู่สาธารณะ โดยรอยเตอร์สระบุว่า เหตุกราดยิงโคราช เกิดขึ้นจากมือปืน 1 คน 4 จุดเกิดเหตุ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 29 ราย ไม่รวมผู้ก่อเหตุ

ส่วนเฟซบุ๊กเปิดเผยกับรอยเตอร์สว่าบริษัทเป็นผู้ระงับบัญชีของทหารผู้ก่อเหตุด้วยตนเอง เพราะการกระทำดังกล่าวละเมิดกฎการใช้งาน รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัว รวมถึงผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิงโคราชนี้ทุกๆ คน และย้ำด้วยว่า เฟซบุ๊กจะระงับบัญชีปลอมที่ตั้งขึ้นมาเลียนแบบคนร้ายทั้งหมดด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: