ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์ชนบทลุยตรวจโควิดชุมชนแออัด พบอัตราการติดเชื้อราว 10% ด้าน สธ.แจงการจัดส่งไซเซอร์ล็อตแรกทั่วประเทศ บุคลากรด่านหน้าฉีดแล้วกว่า 57,000 คน เร่งฉีดผู้สูงอายุ-กลุ่มโรคเสี่ยง-หญิงตั้งครรภ์ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม นอกจากนี้ยังให้ อภ.เตรียมสำรองฟาวิพิราเวียร์ 300 ล้านเม็ด เรมเดซิเวียร์ เพิ่ม 1 แสนขวดเพื่อความมั่นใจ

ชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับกลุ่มโควิดชุมชน ปฏิบัติการตรวจโควิดเชิงรุกในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเกือบ 30 จุด ตั้งแต่วันที่ 4-7 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีกำหนดจะตรวจจนถึงวันที่ 10 ส.ค.

ชมรมแพทย์ชนบทระบุว่า จนถึงวันที่ 7 สฺ.ค. พบว่า

  • ตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ไปแล้ว 69,115 คน
  • พบผลบวก 7,227 คน คิดเป็นร้อยละ 10.5
  • ในจำนวนนี้ ส่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR ต่อจำนวน 6,667 คน
  • ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิดกว่า 7,000 คนนั้นแบ่งเป็น

>สีเขียว เข้าระบบ สปสช. 72.2%

>สีเหลือง 25.6%

>สีแดง 2.2%

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถูกส่งเข้าระบบดูแลรักษาที่บ้าน Home Isolation ตามเกณฑ์ของ สปสช. ส่วนการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ที่หน้างานนั้นจ่ายไปราวครึ่งหนึ่งของผู้ที่ตรวจพบเชื้อ รวมแล้ว 163,700 เม็ด รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนที่หน้างานแล้ว 1,838 โดส

สธ.แจงการส่งวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก เร็วกว่ากำหนด 5 วัน เตรียมส่งเพิ่ม

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนโดส เริ่มทยอยจัดส่งตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ไปยังโรงพยาบาลใหญ่ครบ 170 แห่งทั้ง 77 จังหวัดภายใน 3 วัน และเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2564 ถือว่าเร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ 5 วัน ขณะนี้ฉีดแล้ว 5.7 หมื่นโดส จากการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ พบอาการปวด บวม ร้อน และไข้เล็กน้อย ไม่มีอาการรุนแรง

“การจัดส่งวัคซีนไปโรงพยาบาลใหญ่ เนื่องจากมีศักยภาพในการเก็บรักษาควบคุมอุณหภูมิและควบคุมติดตามการฉีดได้ง่ายกว่ากระจายไปจุดย่อยๆ เนื่องจากเมื่อเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส วัคซีนจะมีอายุ 31 วัน จึงต้องเร่งฉีดให้หมด โดยวัคซีน 1 ขวดฉีดได้ 6 โดส หากกระจายไปหลายจุดเมื่อเปิดใช้ 1 ขวดอาจไม่ถึง 6 คนจึงต้องรวมไว้ที่โรงพยาบาลใหญ่ก่อนในช่วงแรก”

 นพ.โสภณกล่าวด้วยว่า สำหรับวัคซีนที่ส่งไปล็อตแรกประมาณร้อยละ 50-75 นั้น เนื่องจากได้สำรวจความต้องการฉีด พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนฉีดบูสเตอร์โดสด้วยแอสตร้าเซนเนก้าแล้วกว่าร้อยละ 20 ต้องการฉีดไฟเซอร์ประมาณร้อยล 70 ซึ่งการบริหารจัดการด้วยวิธีการทยอยส่งเป็นล็อตทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากส่งไปทั้งหมด 100% ของจำนวนบุคลากร บางพื้นที่อาจได้เกินหรือขาด เนื่องจากมีบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยฉีดมาก่อน เช่น ผู้ที่จบใหม่ หรือบุคลากรด่านหลังที่ได้รับมอบหมายมาทำงานด่านหน้า เพราะว่าในพื้นที่มีโควิดระบาดเพิ่มขึ้น เป็นต้น สามารถแจ้งมาได้ที่กรมควบคุมโรค เพื่อส่งวัคซีนให้เพิ่มเติมล็อตถัดไปในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะจัดส่งครบจำนวนบุคลากรด่านหน้าตามการสำรวจเพิ่มอย่างแน่นอน

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้น ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 645,000 โดส รวมถึงชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนไทยเดินทางไปต่างประเทศ 1.5 แสนโดส จะทยอยส่งวัคซีนไปยังโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.นี้ เริ่มจัดบริการได้กลางสัปดาห์ โดยจะฉีดในคนที่ยังไม่เคยได้วัคซีนโควิดตัวอื่นมาก่อน มีการติดตามอาการหลังฉีด 30 นาที 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน โดยกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังแพทย์ที่รักษาจะประเมินว่าพร้อมรับวัคซีนหรือไม่และจะติดตามอาการหลังฉีด โดยรายงานผ่านระบบหมอพร้อม หลังฉีดวัคซีนหากมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่นหายใจไม่สะดวก สงสัยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบให้รีบมาโรงพยาบาล เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคนี้รักษาให้หายได้ ทั้งนี้ เคยมีรายงานจากสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนฉีดวัคซีน mRNA เป็นหลักมีโอกาสพบอาการดังกล่าวได้ประมาณ 4 ต่อ 1,000,000  โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และเพศชาย ยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนในประเทศไทยยังไม่พบอาการเหล่านี้หลังการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ข้อมูลถึงวันวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว 20,280,108 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 15,687,291 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 4,406,723 โดส และกระตุ้นเข็มที่ 3 ไปแล้ว 186,094 โดส สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส ได้กระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 170 แห่งทั่วประเทศ รอบแรกตั้งแต่วันที่ 4-6 สิงหาคม ส่งไปแล้ว 446,160 โดส

สำหรับเดือนสิงหาคมนี้ จะมีวัคซีนโควิด 10 ล้านโดส ซึ่งไม่ได้แต่มีไฟเซอร์ มีแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคด้วยโดยสองยี่ห้อนี้จะมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยแต่ละสัปดาห์จะส่งวัคซีนออกต่างจังหวัดประมาณ 2-2.5 ล้านโดส ดังนั้น วัคซีน 80% ไปนั้นไปที่ต่างจังหวัด และในจำนวนนั้นครึ่งหนึ่งส่งไปยัง 29 จังหวัด โดยเน้นฉีดให้ได้ 70% ในกลุ่มคนแก่ คนป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตวันที่ 7 ส.ค. จำนวน 212 รายพบว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน 172 ราย (89.58%)  ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 19 ราย (9.90%) และได้รับวัคซีน 2 เข็ม 1 ราย (0.52%)

ส่วนแนวโน้มผู้ติดเชื้อในประเทศขณะนี้ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุว่า ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด เนื่องจาก 1.ผู้ติดเชื้อเดินทางออกจากพื้นที่ระบาดกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษา 2. ผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ และไปแพร่เชื้อคนที่บ้าน 3.มีการระบาดในโรงงาน/สถานประกอบการทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาต้องคิดเสมอว่าตนเองมีความเสี่ยง ให้ป้องกันตนเองและคนรอบข้างอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ

เตรียมสำรองฟาวิพิราเวียร์ 300 ล้านเม็ด เรมเดซิเวียร์ เพิ่ม 1 แสนขวด

วันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าจนถึงวันที่ 4 ส.ค.มีความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ วันละ 8.5 แสนเม็ดต่อวัน ได้จัดสรรลงพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ 7​ ก.ค.- 4 ส.ค.ไปแล้ว 20.5 ล้านเม็ด กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้องค์การเภสัชกรรมจัดหายาเพิ่มเติม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกิดความมั่นใจ และช่วยชีวิตคนป่วยได้ทันท่วงที โดยใน 3​ เดือนนี้ ตั้งแต่ตุลาคม-ธันวาคม 2564 ให้จัดหาเพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านเม็ด (เดือนละ 100 ล้านเม็ด) โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมและกันยายน ให้จัดหา 120 ล้านเม็ด สำหรับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ให้จัดหาเพิ่มอีก 1 แสนขวด รวมเป็น 2 แสนขวดภายในเดือนสิงหาคมนี้ ให้เพียงพอตามเกณฑ์การรักษาใหม่เพื่อกระจายให้ทุกจังหวัด

สำหรับเวชภัณฑ์ที่ใช้ประจำ อาทิ หน้ากาก N 95 หน้ากากอนามัย ชุดกาวน์ ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า หมวกคลุมผม กว่า 11​ รายการ จากข้อมูลมีการใช้เวชภัณฑ์ในแต่ละเดือนมากที่สุดจากทั่วประเทศ เช่น ถุงมือยาง (disposable glove) มีการใช้ 19​ ล้านกว่าคู่ รองลงมา หน้ากากอนามัย (surgical mask) กว่า 16​ ล้านชิ้น หมวกคลุมผม (Disposable cap) 3 ​ล้านชิ้น ชุดกาวน์ (Coverall & gown) 1.6 ล้านชุด เป็นต้น มีการคาดการณ์การใช้งานเพื่อสำรองให้เพียงพอในการใช้แต่ละเดือน โดยจัดซื้อด้วยงบกลางและงบเงินกู้ มีการจัดสรรไปยังภูมิภาคทุกสัปดาห์ หากพื้นที่ใดไม่เพียงพอ สามารถประสานขอสนับสนุนเวชภัณฑ์เร่งด่วน ได้ที่ กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข