ไม่พบผลการค้นหา
ดร.นันทนา ชี้ รัฐบาลไทยภายใต้การนำ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวอย่างของการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤตที่ล้มเหลว เพราะให้ข้อมูลประชาชนไม่เพียงพอ เกิดความตื่นตระหนกในสังคม สะท้อนวิธีคิดของผู้นำเผด็จการที่มองว่าประชาชนด้อยกว่า

ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ นับตั้งแต่ฝุ่นพิษ PM 2.5 จนถึงการระบาดของไวรัสโคโรน่า ที่ประชาชนไทย ต้องเผชิญ หลายคนตกอยู่ในสภาวะตื่นตระหนกและเริ่มกักตุนหน้ากากอนามัย จนทำให้สินค้าขาดตลาด จนถึงกรณีที่นักศึกษาและประชาชนที่ยังติดอยู่ที่เมืองอู่ฮั่นต่างกังวลว่าจะถูกรัฐบาลลอยแพ

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเพราะรัฐบาลสื่อสารกับประชาชนในประเทศน้อยไป?

หากวิเคราะห์ในเรื่องการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤติ ดร.นันทนา นันทวโรภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทางการเมือง จากมหาวิทยาลัยเกริก ให้สัมภาษณ์ กับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ในเรื่องนี้ว่า ถ้าเราสังเกตตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี วิธีการสื่อสารของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤต ท่านจะไม่ค่อยให้ความเห็นใจผู้ที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ดร.นันทนา กล่าวว่า เรื่องฝุ่น PM 2.5 พล.อ.ประยุทธ์ ก็พูดประหนึ่งว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กระทบต่อชีวิตของประชาชนมากมาย มันเป็นเรื่องที่ขึ้น และไม่น่าจะทำให้คนได้รับผลกระทบมากมาย ซึ่งวิธีการพูดแบบนี้ ก็เหมือนกับการบอกว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหา มันมาแล้วมันก็ไป ซึ่งแบบนี้จะทำให้คนไม่พอใจแน่นอน เพราะว่าบางคนเขาได้รับผลกระทบในระบบทางเดินหายใจ จนกระทั่งอาจจะมีเลือดออก หรือหายใจติดขัด หรืออาจจะส่งผลกรทบต่อปอด มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว ที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่จะสื่อสารออกมา ควรจะเป็นการสื่อสารที่บอกถึงแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ไม่ใช่บอกว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไร

ส่วนในกรณีของไวรัสโคโรน่า ตั้งแต่ต้นมาแล้วที่เรารอสิ่งที่รัฐบาลจะออกมาสื่อสารว่า จะแก้ปัญหานี้กับคนไทยทั้งประเทศอย่างไร จะแก้ปัญหาให้คนไทยที่อยู่อู่ฮั่นอย่างไร แต่คำพูดที่ท่านพูดมาที่บอกว่า คนที่อยู่ที่อู่ฮั่นก็สุขสบายดี คำพูดนี้มันเหมือนกับราดน้ำมันเข้าไปในกองเพลิง เพราะอู่ฮั่นเป็นศูนย์กลางของโรค เราก็รู้กันว่าจุดเริ่มต้นของไวรัสโคโรนาอยู่ตรงนั้น และที่เมืองจีนก็ปิดมณฑลนั้นไปแล้ว แต่การที่บอกว่าคนไทยอยู่ที่นั่นสุขสบายดี มันเหมือนกับว่าเขาทุกข์ร้อนเต็มที่ คนที่อยู่ที่นั่นก็ไม่มีความสุขเพราะไม่รู้ว่า ตัวเองจะติดโรคเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีอาหารกินไปถึงเมื่อไหร่ แล้วไม่รู้ว่าตัวเองจะได้กลับประเทศไทยเมื่อไหร่ เขาย่อมมีความทุกข์วิตกกังวลอยู่แล้ว

ส่วนคนที่เป็นญาติพี่น้องที่อยู่เมื่อไทยก็ทุกข์ว่า ญาติเขาที่อยู่ที่อู่ฮั่นจะดำรงชีวิตอย่างไร จะอยู่ต่อไปอย่างไร ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เขาย่อมไม่มีความสุขอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันคนไทยที่อยู่ในประเทศก็มีความวิตกกังวลว่า คนไทยที่อยู่ในประเทศจีน ถ้าเขาได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา เขาจะช่วยตัวเองได้ไหม เขาจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งนี่คือปัญหาที่รัฐบาลจะต้องแก้ไข การออกมาพูดว่า คนที่อยู่ที่นั่นสุขสบายดี อันนี้มันเหมือนพูดประชด มันเหมือนทำให้คนที่เขาได้รับความเดือดร้อน ยิ่งรู้สึกโกรธแค้น แล้วก็ไม่พอใจกับสิ่งที่ท่านนายกฯ ได้พูด ซึ่งอันนี้ไม่ใช่การสื่อสารในภาวะวิกฤต แต่เป็นการสื่อสารที่สร้างวิกฤต

สัม อ.นันทนา

"การที่ผู้นำรัฐบาลไม่ได้แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจประชาชน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เดือดร้อนกับปัญหาของประชาชน นอกจากแสดงความเห็นอกเห็นใจแล้วก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งวางแผน ดำเนินการ จัดการปัญหาให้คลี่คลาย" ดร.นันทนา กล่าว

ดร.นันทนา ยังแสดงความเป็นห่วงว่า ในภาวะวิกฤตที่ทุกคนต้องการข้อมูลข่าวสาร เมื่อต้องการข้อมูลข่าวสารแล้วเขาไม่ได้ เขาก็จะไปแสวงหาข้อมูล เพื่อที่จะตอบสนองปัญหาว่า เขาจะพ้นจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร พอเขาไปแสวงหาข้อมูลในโลกออนไลน์ ก็จะมีข่าวปลอม ข่าวที่คลาดเคลื่อน หรือที่เราเรียกว่า Fake News ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่มันเกิดมาเพราะข่าวมูลจากรัฐบาลไม่เพียงพอ ซึ่งตรงนี้คือปัญหา และการที่จะไปดำเนินคดีกับคนที่ปล่อยข่าว ตรงนี้เป็นปลายเหตุแล้ว ต้นเหตุทำไมรัฐบาล ไม่วางแผน ไม่ดำเนินการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้อย่างเป็นขั้นตอนว่า จะแก้ ปัญหาอย่างไร จะดำเนินการอย่างไร เมื่อประชาชนได้ข้อมูลจนอิ่มตัวหรือพอใจแล้ว Fake News ก็จะไม่เกิด

การที่เขาไม่ออกมาให้ข้อมูลข่าวสาร หรือพูดถึงเรื่องในเชิงข้อมูลน้อย ตรงนี้สะท้อนให้เห็นการมองประชาชนอย่างไรบ้าง?

ดร.นันทนา วิเคราะห์ว่า ในระบอบประชาธิปไตยวิธีคิดของคนทุกคนเท่าเทียมกัน ผู้ปกครองมองประชาชนว่า ประชาชนมีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง ข้อมูลข่าวสารที่ได้ไปก็จะใช้วิจารณญาณคิดและตัดสินใจ ซึ่งตรงนี้การให้ข้อมูลมาก เป็นประโยชน์ เพราะประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลอย่างกว้างขวาง และใช้เหตุผล ใช้วิจารณญาณนารตัดสินใจได้

ในระบอบประชาธิปไตยวิธีคิดของคนทุกคนเท่าเทียมกัน ผู้ปกครองมองประชาชนว่า มีวิจารณญานเป็นของตัวเอง

ทั้งนี้ ดร.นันทนา กล่าวต่อว่า แต่ถ้ามุมมองของผู้ปกครองแบบเผด็จการ ก็จะมองว่า การให้ข้อมูลกับประชาชนมากเกินไป จะทำให้ประชาชนสับสน ประชาชนขาดวิจารณญาณก็จะเกิดการตื่นตระหนกตกใจ ทำให้เกิดความวุนวาย ฉะนั้นก็อย่าให้ข้อมูลเลย ให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น ให้ข้อมูลที่ประชาชนรับรู้แล้วมันเพียงพอ โดยที่รัฐบาลจะตัดสินใจเองว่าอะไรควรให้ไม่ควรให้ อันนี้เป็นวิธีคิดแบบเผด็จการ มองว่าประชาชนไม่ฉลาด มองว่าประชาชนไม่มีวิจารณญาณ อย่าให้ข้อมูลเยอะ เพราะถ้าให้ข้อมูลเยอะก็จะทำให้เกิดความตื่นตระหนกสับสน ฉะนั้นกักข้อมูลไว้ดีกว่า นี่เป็นวิธีคิดที่ผู้ปกครองมองประชาชนว่าด้อยกว่า แต่ในโลกปัจจุบันนี้ที่ข้อมูลข่าวสารมันกระจายไปเท่าแล้ว ถึงผู้ปกครองพยายามจะปิดข่าว ข้อมูลข่าวสารมันก็จะหลั่งไหลเข้ามา และมันจะกลายเป็นข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ ที่รัฐบาลไม่ต้องการให้คนรู้ แต่คนก็รู้ในที่สุด และมันก็จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลในเชิงลบ

ดร.นันทนา ยกตัวอย่างของ ประเทศญี่ปุ่น ในกรณีที่ประสบปัญหาวิกฤตจากสึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดร.นันทนา กล่าวว่า นี่เป็นวิกฤตใหญ่มาก แต่ประชาชนของเขาไม่ตื่นตระหนก ไม่กักตุนข้าวของจนกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต เป็นเพราะรัฐบาลของเขาให้ข้อมูล และทำให้ประชาชนรับรู้ว่า ปัญหาเกิดขึ้นตรงไหน และถ้าทุกคนเห็นแก่ตัวในการกักตุนทรัพยากรต่างๆ แล้วคนอื่นขาดแคลนมันก็จะกลายเป็นการซ้ำเติมกันเอง เขาก็จะไม่ทำแบบนั้น เพราะวิกฤตเกิดแล้ว และรัฐบาลให้ข้อมูลว่า จะดำเนินการแก้ไขวิกฤตนี้อย่างไร ประชาชนก็ให้ความร่วมมือ ไม่ทำให้ปัญหามันลุกลาม หรือเป็นปัญหาซ้อนปัญหา เขาก็ผ่านวิกฤตนั้นไปได้ ถือว่าประสบความสำเร็จ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่การบริหารจัดการภาวะวิกฤต และการสื่อสารในภาวะวิกฤตทำได้ดี

"จริงๆ แล้วในเรื่องของการสื่อสารในภาวะวิกฤต มันเป็นกรณีเฉพาะในแต่ละเรื่อง ซึ่งในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละประเทศ เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตเขาก็จะต้องให้ข้อมูลมากที่สุด เพื่อทำให้ประชาชนของเขาเข้าใจปรากฎการณ์ที่มันเกิดขึ้น ถ้าเราบอกว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤตมันประสบผลสำเร็จและทำให้วิกฤตขึ้นไม่ลุกลาม และไม่ทำให้ประชาชนเกิดการตื่นตระหนกทั้งที่เป็นวิกฤตใหญ่" ดร.นันทนา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง