ไม่พบผลการค้นหา
นักวิ่งระยะกลางชาวแอฟริกาใต้ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก แพ้ในศาลคดีเกี่ยวกับปริมาณเทสโทสเตอโรน หากอยากแข่งวิ่งต่อต้องลดระดับฮอร์โมนเพศชาย

'แคสเตอร์ เซเมนยา' นักวิ่งระยะกลางชาวแอฟริกาใต้เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัย แพ้คดีเกี่ยวกับกฎใหม่ของนักกีฬาเกี่ยวกับปริมาณเทสโทสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในกลุ่มฮอร์โมนเพศชาย เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากคำสั่งศาล หาก เซเมนยา ยังต้องการแข่งขันวิ่งในระดับกับนานาชาติ ช่วง 400 เมตร ถึง 1 ไมลล์ หรือประมาณ 1.6 กิโลเมตร เธอจำเป็นต้องทานยาเพื่อกดระดับฮอโมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายลง

นักวิ่งวัย 28 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงผิดปกติ (hyperandrogenous) ซึ่งทำให้เธอมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากกว่าผู้หญิงทั่วไป 

เซเมนยา

ในการพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (Court of Arbitration for Sport, CAS) ซึ่งประกอบไปด้วยคณะลูกขุน 3 คน ที่มาจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ ปฏิเสธคำร้องของเซเมนยาต่อ 'การควบคุมร่างกายนักกีฬา' แต่ย้ำว่ามีการพูดถึง "ความกังวลอย่างจริงจังต่อการปรับใช้กฎใหม่ในอนาคต"

"คำตัดสินจากศาลหยุดฉันไว้ไม่ได้ ฉันจะเฉิดฉายอีกครั้งและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงและนักกีฬารุ่นใหม่ในแอฟริกาใต้และทั่วโลกต่อไป" เซเมนยา กล่าว

ความถูกต้องที่แลกมากับความเสี่ยง

ภายใต้กฎฉบับใหม่ของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป นักกีฬาที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติของเพศสภาพ (Disorders of Sexual Differentiation, DSD) จำเป็นต้องลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนให้อยู่ภายใต้ 5 นาโนลิตร ต่อ เลือด 1 ลิตร เป็นเวลาอย่างต่ำ 6 เดือน และคงระดับฮอร์โมนไว้เท่านี้ตลอดระยะเวลาการเป็นนักกีฬา ซึ่งการเข้ารับการกดระดับฮอร์โมนเช่นนี้เป็นเวลานานอาจก่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และผลกระทบข้างเคียงอื่นๆ ได้

เซเมนยา

แม้กฎที่ออกมาใหม่นี้จะไม่สร้างผลกระทบให้กับนักวิ่งหญิงเป็นจำนวนมาก แต่นักกีฬาประเภทอื่นๆ อาจได้รับผลพวงจากกฎฉบับใหม่นี้ เนื่องจากกฎใหม่ฉบับนี้นับเป็นกฎที่ชัดเจนและละเอียดที่สุดด้านเพศสภาพตั้งแต่ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาเคยพิพากษามา ทั้งยังมีความเป็นไปได้สูง ที่ต่อไปนี้จะมีการจัดตรวจปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในการแข่งขันกีฬาหญิงทุกประเภท ซึ่งกฎนี้ไม่เพียงจะมีผลบังคับใช้กับ นักกีฬาที่มีภาวะเพศกำกวม แต่ยังรวมถึงนักกีฬาข้ามเพศ ผู้ที่เกิดมาด้วยเพศสภาพผู้ชายแต่ระบุตัวตนว่าเป็นเพศหญิง 

การโต้เถียงในประเด็นนี้ยังคงดำเนินต่อไป เพราะแม้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างเซเมนยาจะออกมาปกป้องสิทธิในร่างกายของตัวเอง แต่นักกีฬาหญิงจำนวนหนึ่งที่มีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายต่ำก็ออกมาเรียกร้องเช่นกันว่าการอนุญาตให้นักกีฬาที่ได้เปรียบอย่างเซเมนยาลงแข่งคือความอยุติธรรม 

สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินข้อพิพาทเช่นนี้ อาจจะเป็นการไตร่สวนตรวจสอบอย่างรอบด้านในทุกมิติ ทั้งทางวิทยาศาสตร์และจริยธรรม อย่างไรก็ตาม กฎใหม่ได้ออกมาแล้ว และกำลังจะมีผลบังคับใช้ ไม่ว่าผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นการลดทอนสิทธิและศักดิ์ศรีในร่างกายตัวเองของนักกีฬาหรือไม่ ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบด้านร่างกายและจิตใจที่จะตามมา

อ้างอิง; CNN, NYT, The Economist