ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด-ยโสธร จัดเวทีเสวนา Post EIA ภายหลังจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ชี้ถ้าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ไม่ยอมรับ Post EIA

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ประมาณ 140 คน จัดเสวนา “เปิด Post EIA การศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หลังการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย น้ำชี” หลังจากที่ทราบว่าจะมีการเผยแพร่งานการศึกษาผลกระทบหลังการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีของทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยมีตัวแทนจากสมาชิกขึ้นมาเล่าถึงกระบวนการการเรียกร้องและจุดยืนตลอดเวลาร่วม 13 ปีที่ได้ต่อสู้เรียกร้องมา ก่อนที่จะเริ่มเสวนาโดย ผดุงชาติ ฟองนารี ผู้ดำเนินรายการได้แนะนำวิทยากรและเริ่มต้นโดย ดร. กิตติชัย ดวงมาลย์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สังกัดภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.กิตติชัย กล่าวถึงความเป็นมาของการสร้างเขื่อนบนน้ำชี และจุดประสงค์ของโครงการซึ่งจะมีอยู่ด้วยกันสามประการคือ 1.เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมภายหลังการก่อสร้างโครงการเขื่อนร้อยเอ็ดเขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย Post EIA พร้อมทั้งนำเสนอกระบวนการการทำงานศึกษาผลกระทบ 2.เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP)

3.เพื่อจัดทำรายงานบริหารจัดการน้ำของโครงการและการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมลุ่มน้ำชี ซึ่งหลังจากได้ลงพื้นที่ดำเนินการศึกษาและเก็บข้อมูลก็สามารถสรุปโดยภาพรวมได้ว่า มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการเกิดผลกระทบหลังจากสร้างเขื่อนจริง พร้อมทั้งมีการเปรียบเทียบภาพในแต่ละปีที่มีการท่วมทั้งก่อนและหลังการสร้างเขื่อน ก่อนที่จะสรุปมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากโครงการ


มิติใหม่ในแนวทางการเรียกร้องของภาคประชาชน

ต่อมาคือ นิรันดร คำนุ อาจารย์ประจำหลักสูตร การพัฒนาชุมชนและสังคม ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวที่มาและความสำคัญของ Post EIA ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหลังจากโครงการ โดยเริ่มจากการเรียกร้องผลกระทบจากภาครัฐของพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะเงื่อนไขเรื่องความน่าเชื่อถือ โดยการเรียกร้องต้องมีเอกสารและการศึกษาทางวิชาการที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่งผลให้เกิดการศึกษาผลกระทบหลังจากโครงการของภาคประชาชนขึ้น

ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในแนวทางการเรียกร้องของภาคประชาชน พร้อมทั้งชี้ว่า Post EIA ข้อมูลความเป็นจริงจากทางภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมา EIA แม้จะตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามีบางโครงการไม่ได้โปร่งใสพอ จนมีการเอื้อผลประโยชน์ผ่านการว่าจ้างทำ EIA ในจุดนี้เองที่ทำให้การจัดทำ Post EIA มีความสำคัญ เพราะจะสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงออกมา พร้อมทั้งชวนให้มองไปที่โครงการใหญ่อย่าง โขง ชี มูล เดิม และโครงการใหม่อย่าง โขง เลย ชี มูล ว่าที่ผ่านมาปัญหาจากโครงการเดิมยังไม่ได้ถูกแก้ไขจนแล้วเสร็จ ยังมีโครงการใหม่ผุดออกมาซึ่งสะท้อนว่าไม่มีการถอดบทเรียนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการเดิมเลย

จิตราภรณ์ สมญานนธณากุล อาจารย์ประจำเอกการเมืองการปกครอง สาขารัฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในวิทยากรได้อภิปรายว่า EIA เป็นการศึกษาผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการของรัฐ โดยการจัดทำ EIA นั้นแม้ว่าจะออกมาอย่างสวยงาม แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐผู้เป็นเจ้าของโครงการกลับไม่มีการตรวจสอบถึงสภาพความเป็นจริง พร้อมทั้งแนะแนวทางแก่ผู้ร่วมเสวนาซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงสำหรับการศึกษาและตรวจสอบเอกสารการศึกษาผลกระทบทั้งก่อนและหลัง โดยพิจารณาเทียบข้อมูลภายในเอกสารและสภาพความเป็นจริงว่าตรงกันหรือไม่

อย่างไร มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือไม่ เพราะ “เราไม่สามารถปล่อยให้ภาครัฐกำหนดชะตาชีวิตของเราเองแต่เพียงอย่างเดียว” พร้อมทั้งชี้แจงว่า Post EIA ไม่ได้มีแค่ภายในประเทศไทยประเทศเดียว แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปและมีมานานแล้วเพื่อศึกษาถึงผลกระทบหลังโครงการของรัฐ และทิ้งท้ายไว้ว่า ในท้ายที่สุดจำเป็นต้องสังเกตในส่วนท้ายของเอกสารซึ่งคือการสรุปผลและมาตรการการเยียวยาผลกระทบ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่สรุปว่าตลอดการขับเคลื่อนเรียกร้องที่ผ่านมานั้น ตรงตามสิ่งที่คาดหวังกันไว้หรือไม่

สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง ได้กล่าวว่าในเรื่องที่มาของการเกิด Post EIA โดยเล่าว่าพี่น้องร่วมกันเรียกร้องตั้งแต่ปี 2553 จนเกิดคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจากโรงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ซึ่งเป็นเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นในน้ำชี ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกคือในตอนแรกบอกแค่เพียงว่าเป็นฝายยาง แต่เมื่อสร้างเสร็จกลับเป็นเขื่อนที่มีโครงสร้างคอนกรีตและควบคุมการไหลของน้ำด้วยประตูระบาย ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่เป็นช่องเขา ไม่ใช่แม่น้ำเช่นนี้ และจากโครงการนี้เองได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของพี่น้อง การท่วมขังของน้ำก็กินเวลานานร่วมหลายเดือนจากอดีตที่มีและท่วมไม่เกิน 15 วัน

และข้อมูลนี้เองยังไม่มีปรากฏใน Post EIA จึงอยากจะนำเรียนว่า ถ้า Post EIA ไม่ตรงไปตามเจตนารมณ์ และสภาพความเป็นจริงของพี่น้องประชาชน พี่น้องสามารถที่จะบอกได้เลยว่า ไม่ยอมรับ เพราะ Post EIA จำเป็นต้องสะท้อนปัญหาและสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่จะมาบอกว่า พี่น้องมีที่สองไร่ ถูกน้ำท่วมเพียง 2 ตารางวา แบบข้อมูลตรวจสอบสิทธิ์ในระดับพื้นที่ของผู้ร้อง ที่ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง เขื่อนร้อยเอ็ดได้ทำออกมาโดยอ้างอิง Post EIA มาไม่หมด และทางพี่น้องไม่สามารถยอมรับไม่ได้ ซึ่งสำนักการศึกษาผลกระทบ จำเป็นต้องศึกษาและเก็บข้อมูลตามความเป็นจริง พร้อมทั้งระบุระยะเวลาที่เก็บข้อมูลจากตรงไหนถึงตรงไหน ใช้มาตราส่วนอย่างไรต้องแจ้งให้ชัดเจน

"สิ่งที่พี่น้องทำมานั้น 13 ปีแล้ว นั้นนานเกินพอแล้ว มันควรจะจบลงได้แล้ว เราไม่อยากเห็นคนรุ่นต่อไปต้องมาเรียกร้องเรื่องนี้อีกแล้ว และ Post EIA ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพี่น้อง และระบุระยะเวลาให้ชัดเจน ไม่ใช่มาเก็บข้อมูลวันเดียวแล้วกลับ และ ขีดเส้นตาย 3 มีนาคม 2565 ในระดับจังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธร ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าจะมีการยกระดับการชุมนุมของพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยให้อนุกรรมการศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (Post EIA)"

ภายหลังจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย น้ำชี และอนุกรรมการวางหลักเกณฑ์ในการชดเชยเยียวยาราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย น้ำชี จะต้องดำเนินการประชุมให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม ส่วนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย น้ำชี ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน จะต้องดำเนินการประชุมให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน

.

ในช่วงท้ายมีการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาได้เสนอข้อคำถามต่อ ซึ่งมีการเน้นย้ำจากผู้เข้าร่วมเสวนาว่า หากข้อมูลของ Post EIA ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์และความเป็นจริงของปัญหา พี่น้องก็พร้อมที่จะบอกว่า ไม่ยอมรับ และพร้อมที่จะยกระดับการชุมนุมปักหลักเพื่อเรียกร้องหากจำเป็น