ไม่พบผลการค้นหา
"ส.ส.กทม." พร้อมด้วย "ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย" ลงพื้นที่แจกของชาวคลองสามวา คนรอรับแน่นกว่า 600 ราย เตรียมประสาน รพ.ในพื้นที่ตรวจโควิด-​19 ฟรี จี้รัฐ ตัดงบปี 63 เร่งเยียวยาให้ครอบคลุมทั้งเกษตรกร และเตรียมแผนเปิดเมืองโดยมีมาตรการรองรับ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.และประธานสภาวัฒนธรรมคลองสามวา กทม.ร่วมกับชมรมกลุ่มคนเท่ากัน และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันมอบข้าวสาร เจล หน้ากากอนามัยและสิ่งของบรรเทาทุกข์จำนวน 400 ชุด แก่ประชาชน ที่ตลาดนายใหญ่ เยื้องสำนักงานเขตคลองสามวา จัดระเบียบ รักษาระยะห่าง 2 เมตรครึ่ง รอบมอบครั้งละ 40 ชุด และมีตู้ฆ่าเชื้อพร้อมการตรวจวัดอุณหภูมิด้วย

โดยสภาวัฒนธรรมคลองสามวา วางระบบให้ตัวแทนทั้ง 5 แขวงในเขต นำคูปองไปมอบให้กับผู้เดือดร้อน เพื่อส่งตัวแทนมารับสิ่งของบรรเทาทุกข์ ซึ่งหน้ากากผ้าที่นำมาแจกได้จ้างชุมชนในพื้นที่ตัดเย็บ เพื่อกระจายรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งมีประชาชนที่ไม่มีคูปอง อีกมากกว่า 200 คน มารอรับการบริจาคด้วย ขณะเดียวกันก็มีของบริจาคที่เหลือเพียงพอเฉลี่ยให้ในส่วนนี้ โดยแจกให้เป็นรายครอบครัวเพื่อความทั่วถึง

คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า ประชาชนต่างสะท้อนความเดือดร้อนและต้องการอยากกลับมาประกอบอาชีพได้ดังเดิม ดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐผ่อนคลายทางนโยบายและเตรียมแผนเปิดเมืองโดยมีมาตรการต่างๆ รองรับ และเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยใช้งบประมาณปี 2563 ที่จะเหลือเวลาใช้เพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้นมาดำเนินการ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ ซึ่งแบ่ง 2 กลุ่มที่จะต้องได้รับการเยียวยา คือ ผู้ได้รับผลกระทบราว 20 ล้านคนๆ ละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน และเกษตรกรซึ่งได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่องหลายปี ประมาณ 5 ล้านครอบครัว โดยจ่ายครอบครัวละ 35,000 บาท ซึ่งจะใช้วงเงินรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท

ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ ได้สอบถามประชาชนผู้มารับของบริจาค เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ช่วงโควิด-​19 แพร่ระบาดและภายใต้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความต้องการของประชาชนที่พบว่า ส่วนมากอยากให้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะอยากกลับมาทำมาหากินได้ มากกว่าที่จะคอยรับของบริจาคหรือการเยียวยาจากภาครัฐ 

ขณะที่นายจิรายุ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าตนจะประสานงานกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ เพื่อร่วมจัดกิจกรรมออกให้คำแนะนำในการป้องกันและตรวจหาโรคโควิด-​19 ฟรี และแม้ตลาดนายใหญ่ หรือ "ตลาดไนน์ใหญ่" ในส่วนที่ขายอาหารและเครื่องดื่มยังเปิดบริการตามปกติหยุดไปเพียงตลาดนัดตามคำสั่งผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ต้องการ กลับมาประกอบอาชีพตามปกติเพราะขาดรายได้มานานและเกรงว่า อาจอดตายก่อนจะติดเชื้อโควิด 

นายจิรายุ ระบุด้วยว่า มาตรการต่างๆ ที่ทางการออกมาค่อนข้างสับสน โดยประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก ไม่เข้าใจว่าสั่งห้ามกิจกรรมใดบ้าง รวมถึง การห้ามขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งตนได้ลองไปซื้อหม้อหุงข้าวไฟฟ้าในห้างสรรพสินค้า แต่ก็งดการจำหน่าย โดยเห็นว่า คำสั่งต่างๆ จำนวนมากนอกจากไม่ชีดเจนแล้วยังไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะคนส่วนมากใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน แต่ผู้มีอำนาจเหมารวมว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและห้ามเปิดจำหน่ายช่วงนี้ เช่นเดียวกับการห้ามเปิดตลาดนัด แต่ร้านค้าส่วนต่างๆ ในตลาดก็ยังสามารถทำการค้าได้ ซึ่งหลายแห่งปิดตลาดทั้งหมด แต่ด้านหนึ่ง แม้เปิดค้าขายก็อาจไม่มีคนไปซื้อ