ไม่พบผลการค้นหา
กาซพรอม บริษัทด้านพลังงานที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลรัสเซีย เตรียมโอนเงินมูลค่ากว่า 3.6 แสนล้านบาท  ให้แก่รัฐบาลรัสเซีย หลังจากการทำรายได้สุทธิรวมเป็นประวัติการณ์กว่า 2.5 ล้านล้านรูเบิล (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) ตลอดระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีนี้ แม้นจะถูกคว่ำบาตรพลังงาน สืบเนื่องจากการทำสงครามในยูเครนก็ตาม

กำไรจำนวนมหาศาลในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันและก๊าซโลกพุ่งสูงขึ้น ตลอดระยะเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา ภายหลังจากการเกิดขึ้นของสงครามยูเครน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตพลังงานของรัสเซีย ที่สร้างความกังวลให้แก่ยุโรปและนานาชาติ 

รัฐบาลรัสเซียถือหุ้นกาซพรอมอยู่ที่ 49.3% และจะได้รับค่าตอบแทนแบ่งจ่ายกว่า 1.21 ล้านล้านรูเบิล หลังจากบอร์ดบริษัทเสนอการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นทั่วไปหุ้นละ 51.03 รูเบิล ทั้งนี้ มติดังกล่าวจะถูกเคาะโดยประชุมคณะกรรมการวิสามัญของบริษัทในวันที่ 30 ก.ย.นี้

การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวสะท้อนภาพความล้มเหลว ในความพยายามของชาติตะวันตกจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย หลังจากที่สหราชอาณาจักรและยุโรปได้ประกาศหยุดและชะลอการนำเข้าน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย เพื่อไม่ให้รัสเซียนำเงินจากการค้าพลังงาน ไปใช้ในการทำสงครามการรุกรานยูเครน อย่างไรก็ดี รัสเซียได้เพิ่มการส่งออกน้ำมันไปยังเอเชียแทน อีกทั้งราคาก๊าซกลับพุ่งสูงขึ้นเพื่อตอบรับต่อการตัดการส่งพลังงานของกาซพรอมไปยังยุโรป

ฟามิล ซาดีกอฟ รองหัวหน้าผู้บริหารของกาซพรอมกล่าวว่า “แม้จะมีแรงกดดันจากการคว่ำบาตรและสภาพแวดล้อมภายนอกที่ไม่เอื้ออำนวย แต่กาซพรอมกรุ๊ปกลับมีรายงานรายได้ IFRS และกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปี 2565” ทั้งนี้ กาซพรอมยังคงปิดท่อส่งก๊าซไปยังยุโรปในตอนนี้ ภายใต้ข้ออ้างว่าบริษัทกำลังทำการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 ซึ่งได้สร้างความกังวลใจให้แก่ยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้ออกมาอ้างว่าการซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซที่ล่าช้า เป็นผลสืบเนื่องมาจากการคว่ำบาตรของชาติตะวัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดส่งอุปกรณ์การซ่อมบำรุง 

ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลต่างๆ ในยุโรปกล่าวหา วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียว่า พยายามใช้พลังงานมาเป็นอาวุธในการตอบโต้กับยุโรป จากการช่วยเหลือยูเครนในการทำสงครามการต่อต้านการรุกรานของตน ในขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังหาทางแทรกแซงฉุกเฉินต่อตลาดการค้าก๊าซและพลังงาน เพื่อรับมือกับราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ซึ่งยุโรปเองจำเป็นจะต้องพึ่งพาการใช้ก๊าซในการสร้างความอบอุ่น

โดยเฉลี่ยแล้วประเทศในยุโรปมีการจัดเก็บก๊าซ ที่ถูกกำหนดโดยสหภาพยุโรปอยู่เหนือเป้าหมายก่อนฤดูหนาว  โดยยุโรปมีการจัดเก็บก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 84 พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าก่อนหน้าเป้าหมายเดิมที่ 65 พันล้านลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 1 ก.ย. และใกล้เป้าหมาย 88 พันล้านลูกบาศก์เมตรของเดือน พ.ย.นี้

ฝรั่งเศส โปแลนด์ อิตาลี และสาธารณรัฐเช็ก ได้บรรลุเป้าหมายการจัดเก็บก๊าซในเดือน พ.ย.แล้ว ในขณะที่ลัตเวียเป็นประเทศเดียว ที่ยังมียอดจัดเก็บก๊าซตามหลังเป้าหมายในเดือน ก.ย. ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นประเทศที่มีพื้นที่จัดเก็บก๊าซเหลือให้เติมมากที่สุดที่ 2.6 พันล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากเยอรมนีเองมีเป้าหมายการจัดเก็บ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บที่กว้างขวางกว่าชาติอื่นๆ


ที่มา:

https://www.theguardian.com/business/2022/aug/31/gazprom-to-pay-kremlin-86bn-after-record-profits?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR0QZUIsEJs3IdN5KurFia5Q3Ibw5N1nek99TfhArvDzp83MG2LeRdMebYU