ไม่พบผลการค้นหา
ไล่เรียงความคิด คนยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คิดอะไร และการบัญญัติเรื่อง ผู้สมัคร ส.ส.ห้ามถือหุ้นสื่อนั้นกลายเป็นเรื่องบานปลายขนาดนี้ได้อย่างไร
  • กรณี ‘ถือครองหุ้นสื่อ’ เป็นประเด็นร้อนเพราะเขียนไว้ในมาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำหนด ‘ลักษณะต้องห้าม’ ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มีข้อห้ามมากถึง 18 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ “ห้ามเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”
  • แม้กกต.จะปัดตกคำร้อง ‘ถือหุ้นสื่อ’ ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปแล้ว แต่ก็ใช้ช่องดำเนินคดีอาญาไปตาม ม.151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็ยังคงมีช่องในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกหลังการรับรอง ส.ส.ของพิธา ดังนั้น จึงยังคงต้องรอการวินิจฉัยว่า 1. ไอทีวีเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ 2.การถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก นับเป็นหุ้นของเจ้าตัวหรือไม่ 3.ความผิดดังกล่าวจะเป็นความผิดเฉพาะตัวในตำแหน่ง ส.ส. หรือลากไปถึงตำแหน่งนายกฯ รวมถึงการรับรอง ส.ส.ในพรรคหรือไม่
  • ที่มาของการห้าม ส.ส.ถือหุ้นสื่อนั้น บันทึกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 2560 ระบุว่ารับต่อมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งบัญญัติเรื่องนี้ไว้ครั้งแรก
  • เมื่อดูรายละเอียดจะพบว่าฉบับ 2550 กำหนดไว้กว้างกว่า 2560 อีก เพราะห้าม ‘ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ ทุกรูปแบบไม่ใช่แค่ ส.ส.หรือ ส.ว. โดยบัญญัติไว้ยาวเหยียดในมาตรา 48
  • “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว” มาตรา 48 รัฐธรรมนูญ 2550
  • เจตนารมณ์นั้นชัดเจนว่า เพื่อป้องกันนักการเมืองไปแทรกแซงหรือครอบงำสื่อ ในบริบทที่ตอนนั้นผู้คนกำลังหวั่นหวาดกับนายกฯ ที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ แต่กาลเวลาล่วงมาอีกทศวรรษ การห้ามถือหุ้นสื่อกลายเป็นเรื่องใหญ่ทางการเมืองที่ทำให้นักการเมืองต้องล้มคะมำ แม้สื่อนั้นจะไม่ปรากฏ ‘ในความเป็นจริง’ ก็ตาม
  • ในฐานะที่รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นต้นธารของการห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ ‘วอยซ์’ จึงไปอ่านข้อถกเถียงของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏในรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 24/2550 เป็นพิเศษ วันที่ 13 มิ.ย.2550 เพื่อดูว่าความคิดเบื้องหลังหรือหลักในเรื่องนี้คืออะไร มีข้อถกเถียงอย่างไร และเพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาว่าเรื่องนี้เข้ากับยุคสมัยนี้หรือไม่

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สสร. (สื่อมวลชน) :

“ผมคิดว่า เมืองไทยมีปัญหาเรื่องนี้เยอะ แม้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี่จะตีความถึง ส.ส. ส.ว. ถึงรัฐมนตรี ถึงนายกรัฐมนตรี หรือถึงนักการเมืองอื่นใดก็ตาม ผมคิดว่าในหลักการแล้ว เหล่าบรรดาตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลาย กับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในสื่อนี่มันไม่สมควร เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เพียงมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือว่ามีส่วนได้เสียเท่านั้น แต่การถือหุ้นและการเป็นเจ้าของสื่อมีความหมายมากกว่านั้น มันสามารถที่จะมีอิทธิพลทางการเมืองของประเทศ สื่อเรานี่มีอิทธิพลทางการเมือง อิทธิพลในการชี้นำ นักการเมืองเป็นบุคคลที่เข้ามาแสวงอำนาจ ถ้าไม่มีอำนาจก็ไม่เรียกว่าเป็นนักการเมือง มาแสวงอำนาจ จัดสรรอำนาจ เมื่อมีอำนาจทางการเมืองกับอำนาจของสื่อรวมกัน ผมคิดว่ามันหนักหนาสาหัสมาก ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีมาตรานี้”


สุนทร จันทร์รังสี สสร. (สื่อมวลชนภูมิภาค) :

“มาตรานี้เป็นเสมือนหนึ่งการมัดตราสังคนหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะคนหนังสือพิมพ์หรือสื่อภูมิภาค ซึ่งในประเทศไทยของเรา ต้องยอมรับว่า นอกจากเสี่ยงมากกว่า แล้วก็ยังอ่อนแอมากกว่าสื่อมวลชนในเมืองหลวงอีกด้วย”

“ทุกองค์กรย่อมไม่มีคนที่จะพิเศษสุด ดีพร้อม ก็คงจะมีบางสถานี บางฉบับ ที่ประพฤติผิดนอกลู่นอกทาง ผิดจรรยาบรรณไปบ้าง แต่ในหลักการนั้น เชื่อกัน มั่นใจกัน ยึดถือกันว่าประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิพากษา”

“ถ้าท่านไม่ไว้ใจระบบกลั่นกรองของประชาชน และท่านคิดว่าท่านไปปัดป้อง ผูกขาดมิให้สื่อมวลชนบางคนที่จะเป็นนักการเมือง ได้เป็นนักการเมืองควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ตามอุดมการณ์ของเขาแล้ว ท่านคิดหรือว่า ท่านจะป้องกันหนังสือพิมพ์มิให้ถูกแทรกแซงได้ คนทำหนังสือพิมพ์บางคน ซึ่งมิได้ทำงานการเมืองอย่างเปิดเผยเหมือนกับบางคนที่สุจริตใจนั้น ก็อาจจะขายตัว ขายวิญญาณให้กับนัการเมืองบางคนได้ สิ่งเหล่านี้มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นว่าประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้พิพากษาได้ว่า สื่อมวลชนฉบับใด สถานีใด ควรจะอยู่ได้หรือไม่ได้”  

 
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง :

“ถามว่าเห็นใจนักการเมืองท้องถิ่นไหม เพราะว่าในนักการเมืองท้องถิ่นนี่ ก็เป็นเจ้าของสื่อท้องถิ่นกันอยู่เยอะ ผมต้องกราบเรียนว่า ผมเห็นใจสื่อท้องถิ่น แต่ผมไม่เห็นใจนักการเมืองท้องถิ่น ผมว่าเราต้องแยกแยะ”

“ผมเห็นใจสื่อที่บังเอิญไปเป็นนักการเมือง เมื่อท่านไปเป็นนักการเมืองแล้วนี่ท่านต้องตัดให้ขาด แต่ถ้าขณะที่ยังไม่ได้เป็นนักการเมือง ระดับใดก็ตาม ผมว่าท่านก็มีสิทธิที่จะทำสื่อได้เต็มที่ ถ้าท่านสอบได้แล้วไปเป็นนักการเมือง จะโอนให้กับลูกก็ไม่ควร จะมีตัวแทนก็ไม่ได้ ผมคิดว่าอันนี้ต้องชัดเจน เพราะว่า 2 อำนาจนี้เป็นอำนาจที่สำคัญในบ้านเมือง และผมคิดว่าถ้า 2 อำนาจนี้รวมกันนี่ ผมว่าบ้านเมืองจะถูกบิดเบือน”

“องค์กรสื่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมผู้สื่อข่าว วิทยุโทรทัศน์ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นคุณเชาวรงค์ พี่มานิจเองก็ตอบได้ แล้วก็วิทยุชุมชนก็ดี เคเบิลทีวีในต่างจังหวัดก็ดี ต่างเห็นตรงกันหมดตรงนี้ ที่ผมพูดว่า เห็นด้วยกับ กมธ.ยกร่าง และเขาบอกด้วยซ้ำว่า ผู้ดำเนินรายการทีวีอย่างผม คนอ่านข่าวและผู้ดำเนินรายการทีวี ถ้าจะให้ดีต้องห้ามด้วย เมื่อไปเป็นนักการเมือง แล้วยังมาดำเนินรายการโทรทัศน์ก็ควรจะห้ามด้วย”


จรัส สุวรรณมาลา  สสร. (คณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) :

“เห็นด้วยกับมาตรานี้ เพราะว่าโดยหลักรัฐศาสตร์ สื่อมวลชนทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะเป็นนักการเมืองเสียเอง การบัญญัติจึงเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญ”


ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ :

“มาตรานี้มีขึ้นมาก็เพราะว่าสถานการณ์ที่เรา 5-6 ปีที่ผ่านมา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กุมอำนาจรัฐก็แทรกแซงสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในทุกวิถีทาง ไม่เพียงเท่านั้น ก็กว้านซื้อสื่อ มีสื่อเป็นเจ้าของ อันนี้ก็เป็นที่มาของการถือกำเนิดของมาตรานี้ขึ้นมา แล้วการที่ไปเป็นเจ้าของสื่อนี่ ก็ทำให้เกิดการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งทำให้กลไกในการตรวจสอบรัฐบาล หรือตรวจสอบอำนาจรัฐต้องการพิกลพิการไป ที่สำคัญไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เขาควรจะได้รับรู้”

  • การถกเถียงเรื่องนี้ของ สสร. ในการประชุมวันที่ 13 มิ.ย.ดังกล่าว แม้จะมีคนแย้งว่าไม่ควรบัญญัติลักษณะนี้ แต่เป็นเพียงเสียงท้วงติง ขณะที่ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรบัญญัติเรื่องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยข้อถกเถียงคือ จะบัญญัติไว้ในมาตรา 48 ในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ หรือจะไปบัญญัติไว้ในลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ซึ่งเขียนไว้ครอบคลุมกว่า หรือจะเขียนไว้ทั้งสองจุดแต่ปรับให้สอดคล้องกัน สุดท้ายได้ข้อสรุปในการประชุม สสร. ครั้งที่ 37/2550 เป็นพิเศษ วันที่ 29 มิ.ย.2550 ออกมาเนื้อหาเป็น มาตรา 48 ดังที่กล่าวไป
  • ต้องกล่าวไว้ด้วยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารปี 2549 ที่ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ทิ้ง แล้วยกร่างขึ้นใหม่ โดยกระบวนการคร่าวๆ คือ ตั้งสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คนจากหลายภาคส่วน แล้วให้เลือกกันเองให้เหลือ 200 คนเพื่อเป็น สสร. จากนั้นส่งให้ คมช. (คณะรัฐประหาร) เลือกเหลือ 100 คน
  • ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สสร. จะตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ขึ้นจำนวน 25 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิ และ คมช.จะตั้งเพิ่มอีก 10 คน รวมเป็น 35 คน เพื่อจัดทำดราฟท์แรกก่อนให้ สสร.อภิปรายแก้ไขกันอีกที  โดยกระบวนการทั้งหมดในการยกร่างต้องให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับจากการเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก
  • สสร. 2550 มีที่มาจากภาคต่างๆ คือ ภาครัฐ 30 คน / ภาควิชาการ 27 คน /ภาคเอกชน 25 คน / ภาคสังคม 18 คน ส่วนประธาน สสร.ก็คือ นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรองประธาน 2 คน คือ นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 1 และนายเดโช สวนานนท์เป็นรองประธานคนที่ 2
  • ส่วนกรรมาธิการยกร่างฯ มี นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ ได้รับเลือกให้ เป็นประธาน มีรองประธาน 4 คน ได้แก่ นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์  / นายจรัญ ภักดีธนากุล / ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ / นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ และมี ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นเลขานุการ ซึ่งประชุมกันทั้งสิ้น 62 ครั้ง
  • ในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 40/2550 วันที่ 6 ก.ค.2550 ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยวิธีขานชื่อ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 98 เสียง และมีสมาชิกขาดการประชุม 2 คน

อ้างอิง :

-เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2550

-ความเป็นมาและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2550