ไม่พบผลการค้นหา
'เสรีพิศุทธิ์' แนะหากประเมินไม่มีโอกาสดัน 'พิธา' เป็นนายกฯ คงต้องให้เพื่อไทยเป็นแกนนำ หาก ส.ว.ยังติดเงื่อนไขไม่ให้ผ่านอีก 'ก้าวไกล' คงต้องเสียสละไปเป็นฝ่ายค้านและหนุน 'เพื่อไทย' ตั้งรัฐบาลตามประชาชนต้องการ มองแก้ ม. 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่สำเร็จเหมือนเอาหัวชนกำแพง มีแต่หัวจะพัง ตอบนักข่าวถ้า กก-พท แยกกันจะทำยังไง เผยเงื่อนไขเสรีรวมไทยไม่เอาแค่ 'ประยุทธ์' พร้อมร่วมรัฐบาลทุกพรรค 'ประวิตร' ก็ได้ เพราะแค่ถูกเชิญมาร่วม ไม่ใช่คนทำรัฐประหาร

15 ก.ค.2566 ภายหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 2/2566 ของพรรคเสรีรวมไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงทิศทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป ในเมื่อยังไม่เห็นผล มีโอกาสที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะแยกจากกันหรือไม่

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลรวมตัวกันได้ทั้งหมด 312 เสียง โดยพรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุดคือพรรคก้าวไกล จึงได้มีมติร่วมกันให้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ของอีก 8 พรรคการเมืองจะต้องช่วยกันสนับสนุนให้นายพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้

"ครั้งที่แล้ว ส.ว.ลงคะแนนเพียง 13 คน ยังขาดอยู่ 52 คน ส.ว.คนที่เคยรับปากว่าจะลงคะแนนให้ก็งดออกเสียงอีก สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา แต่ในเวลานี้ก็มีการเจรจาเพิ่มเติม ตนก็หนักใจแทน ถ้าต้องโหวตอีก คุณพิธาจะสู้ต่อไปหรือไม่ หากมีโอกาส ทั้ง 8 พรรคการเมืองก็คงจะโหวตให้ แต่ถ้าไม่มีโอกาสก็คงต้องเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล"

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ กล่าวต่อไปว่า แต่ถ้า ส.ส.ฝั่งตรงข้ามหรือ ส.ว.ยังติดเงื่อนไขว่าไม่เอาพรรคก้าวไกลมาร่วมด้วยก็จะไม่ผ่านเหมือนเดิม ก็เป็นเรื่องของเพื่อไทยและก้าวไกลต้องตกลงกันเองว่าจะเอาอย่างไร เรามีความคิด แต่ไม่สามารถจัดการอะไรได้

"ในที่สุดเพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ได้ ก้าวไกลคงต้องเสียสละออกไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไปตามที่ประชาชนต้องการ การจัดตั้งรัฐบาลก็จะราบรื่นมากขึ้น อาจไปดึงพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่นๆ เพื่อให้มีเสียงเกิน 376 เสียง เป็นไปได้"

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ยังกล่าว ถ้าพรรคก้าวไกลยอมเสียสละไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็ต้องสนับสนุนเพื่อไทยด้วยไปเป็นรัฐบาล เราต้องเอาใจกันไว้ เผื่อวันข้างหน้าจะสนับสนุนตอบแทนซึ่งกันและกัน ไม่มีอะไรเสียหาย ทนอีกหน่อย อีกไม่นาน ถ้าเลือกใครไม่ได้ก็เลือก เสรีพิศุทธ์ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 เปิดช่องให้เสนอนายกฯ คนนอกได้

ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลยื่นเสนอปิดสวิตช์ ส.ว.โดยการแก้ไขมาตรา 272 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มองว่า ทำไม่ได้ตลอดที่ผ่านมา 4 ปีในสมัยประชุมที่แล้ว ครั้งนี้จะทำสำเร็จได้อย่างไร ถ้าเอาหัวกระแทกกำแพง กำแพงจะพังได้อย่างไร มีแต่หัวเราที่จะพัง ควรหาวิธีการใหม่ไปสู่ความสำเร็จ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย แต่ก็แล้วแต่เขา

อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้ไขมาตรา 272 อาจจะเกิดคำถามจากประชาชน ว่าเหตุใดไม่ดำเนินการแก้ปัญหาประชาชนตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่กลับมาแก้ปัญหาให้กับตัวเองซึ่งอาจมองไม่เหมาะสมได้

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคเสรีรวมไทย ผู้สื่อข่าวก็ได้สัมภาษณ์เสรีพิศุทธ์ด้วย โดยตอบคำถามเรื่องควรเสนอชื่ออื่นด้วยหรือไม่ เพื่อให้ผ่านเสียงโหวตของ ส.ส. และ ส.ว.

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า​ จะเสนอกี่คนก็ได้ทั้งนั้น เพราะไม่มีข้อบังคับ ส่วนที่ ส.ว. อ้างข้อบังคับไม่ส่งชื่อพิธาซ้ำ ตามข้อบังคับที่ 41 นั้น เป็นคนละส่วนกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตนมองว่าก็ยังเสนอได้ พิธาไม่ได้หมดสิทธิ์ ใครก็เสนอได้ พรรคก้าวไกลจะเป็นผู้เสนอหรือตนเสนอก็ทำได้

"เวลาอ่านหนังสือต้องอ่านให้ครบ ต้องอ่านทั้งเล่มไม่ใช่อ่านข้อเดียวแล้วมาคุย ถ้าอ่านข้อเดียวก็จะเจอข้อที่ 41 ที่กำหนดไว้ว่าญัตติที่เสนอไปแล้ว ถูกตีตกห้ามนำญัตติเดิมมาพิจารณาใหม่ เว้นแต่ประธานสภาฯจะอนุญาต แต่จะเถียงกันอย่างไรก็เป็นอำนาจของประธานสภาฯ​"

ขณะที่ในการโหวตนายกฯ วันที่ 19 ก.ค. นั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ กล่าวว่า ถ้าตนเป็นประธานสภาฯ ​จะไม่ให้อภิปรายแล้ว เพราะอภิปรายกันไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรจะพูด อภิปรายซ้ำๆ เดิมๆ ครั้งที่แล้วก็เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่กลับอภิปรายเรื่องมาตรา 112 ตนก็เลยต้องอภิปรายตามไปด้วย​ เพราะคนยังไม่เข้าใจเรื่องมาตรา 112 ทั้ง ส.ว.​ และ ส.ส.​ มีความรู้ขนาดไหนก็ไม่เข้าใจ​ ความจริงมาตรา 112 เป็นกฎหมายอาญาถึงอย่างไรก็แก้ได้ตามรัฐธรรมนูญ และมีการแก้มาหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่ไม่รู้เรื่องอะไรแล้วมาแสดงความคิดเห็น

เมื่อถามต่อว่าการโหวตรอบแรกเสียงของนายพิธายังไม่ได้ แล้วรอบ 2 จะได้หรือไม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์​ กล่าวว่า​ มีการเว้นระยะเวลาการโหวตทั้ง 2 ครั้งไว้ จากวันที่ 13 ก.ค.​ เป็นวันที่ 19 ก.ค เพื่อให้มีเวลาประสาน​ พร้อมมองว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสไม่มาก เพราะส่วนใหญ่จะปิดกั้นตัวเอง นี่ก็ไม่ได้​ นั่นก็ไม่ได้​ ไปยกมาตรฐานไว้สูงเลย

"พอมี 312 เสียง จะไปหาเพิ่ม ไปติดต่อพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มี 2 เสียง แต่พอด้อมส้มทั้งหลายที่ไม่รู้เรื่องพูดมาหน่อย ก็ถอยแล้ว​ ไปฟังเสียงพวกนี้ทำไม​ พวกนี้มีอะไรกับพรรคก้าวไกล​ ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรหรอก​ ไปฟังใครก็ไม่รู้"

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ยังยืนยันว่า ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอชื่อแคนดิเดตแข่งกับพรรคก้าวไกล​ เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลอย่างเต็มที่​ คบหากันมา​ คุยกันมา​ ทำ​ MOU​ กัน​ เพื่อเปิดสิทธิ์ให้พรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ​ พรรคเพื่อไทยก็คิดอย่างนั้น​ จะ​ 2 ครั้ง​ 3 ครั้ง​ 4​ ครั้ง​ ก็ได้​

"ถึงแม้จะเปลี่ยนไปเป็นเพื่อไทย​ ในขั้นต้น​ พรรคเพื่อไทยก็จะยังต้องเอาพรรคก้าวไกลไว้ พูดมาตลอดจะเสียคำพูดได้อย่างไร เพราะหากเสียคำพูดก็คบกันไม่ได้ เพื่อไทยกับก้าวไกลต้องคุยกันไปเรื่อยๆ"

สำหรับกรณีหากพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลแยกทางกัน จนพรรคเพื่อไทยไปเป็นรัฐบาล พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน​ พรรคเสรีรวมไทยจะมีจุดยื่นอย่างไร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์​ กล่าวว่า​ ขอให้ไปย้อนฟังการสัมภาษณ์​ของตนได้ทุกครั้ง​ ตนบอก มาตลอดว่าไม่เอาเผด็จการ​ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา

"ผมบอกว่าถ้าเป็นพล.อ.ประวิตร ผมเอาได้ คนมาวิพากษ์วิจารณ์ผม ก็ผมจะเอาแล้วทำไม พอ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่​ ผมก็รวมได้หมด​ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ ถ้าเขาไม่เอารวมไทยสร้างชาติ ผมก็รวมได้ ผมไม่ใช่คนปิดกั้นตัวเอง ผมเปิดได้หมด ก็ผมบอกว่าคนรัฐประหาร​คือ พล.อ.ประยุทธ์​ พล.อ.ประวิตร เพียงแค่ถูกเชิญมาร่วมรัฐบาลเฉยๆ ก็ไม่ใช่คนรัฐประหาร​" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ กล่าว

ขณะที่ในการประชุม วิรัตน์ วรศริน เลขาธิการพรรค ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค และไปเป็นรองหัวหน้าพรรคแทน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้ มังกร ยนต์ตระกูล รองหัวหน้าพรรค และอดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 2 ของพรรค รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทนตำแหน่งที่ว่างลง ส่วนกรรมการบริหารพรรคตำแหน่งอื่นๆ ยังคงเดิม