ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรอิสระ ประณามสื่อเผยแพร่ภาพ 'ศพพ่อลูกผู้อพยพ' ที่เสียชีวิตขณะว่ายน้ำข้ามฝั่งมายังสหรัฐฯ ระบุ "ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" แต่กอง บก.สื่อหลายสำนักยืนยัน ต้องการสะท้อนความจริงที่เป็นอยู่ และผู้อพยพ 'มีชีวิต' ไม่ได้เป็นแค่ 'สถิติ' ในรายงานของรัฐ

ออสการ์ อัลแบร์โต มาร์ติเนซ รามิเรซ ผู้อพยพชาวซัลวาดอร์ และแองจี้ วาเลอเรีย ลูกสาววัยเกือบ 2 ขวบของเขา ถูกพบเป็นศพเกยฝั่งแม่น้ำรีโอแกรนด์ในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2562 และภาพศพสองพ่อลูกนอนคว่ำหน้าใกล้กับกอหญ้าริมฝั่งแม่น้ำถูกเผยแพร่ผ่านสื่อหลายแห่งในสหรัฐฯ จนทำให้เกิดปฏิกิริยาหลายรูปแบบจากคนในหลากหลายแวดวง

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สนับสนุนนโยบายสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก รวมถึงมาตรการกีดกันผู้อพยพ ระบุว่า "เกลียด" ภาพดังกล่าว ทั้งยังโทษพรรคฝ่ายค้าน 'เดโมแครต' ว่าไม่ยอมเห็นชอบการปรับแก้นโยบายเรื่องผู้ลี้ภัย ทำให้ผู้อพยพจากประเทศต่างๆ หลั่งไหลมายังสหรัฐฯ โดยอ้างว่าเพื่อขอลี้ภัย ทำให้ 'ชัค ชูเมอร์' ส.ว.เสียงข้างน้อยแย้งกลับว่า ผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่ใช่อาชญากรค้ายาเสพติดหรือผู้ก่อความรุนแรง แต่เป็นเพียงคนธรรมดาที่้ต้องหลบหนีภัยอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศของตน

ขณะที่ 'แอรี เฟลชเชอร์' พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าวของสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ ซึ่งเป็นสื่อสายอนุรักษนิยมและสนับสนุนพรรครัฐบาลรีพับลิกัน ระบุว่า "ผู้อพยพต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง" โดยเฉพาะผู้ลอบเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย แต่ 'เจสสิกา ทาร์ลอฟ' พิธีกรร่วมรายการ โต้แย้งว่า การขอลี้ภัยในสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย ขณะที่ผู้อพยพจากหลากหลายประเทศใช้เม็กซิโกเป็นทางผ่านมายังสหรัฐฯ เพื่อหลบหนีภัยอาชญากรรมและความรุนแรงในประเทศของตัวเอง

นอกจากนี้ โฆษกสำนักวาติกันได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า สมเด็จพระสันตะปาปา หรือ 'โป๊ป' ฟรานซิส ประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ทรงเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งเมื่อได้เห็นภาพพ่อลูกผู้อพยพที่ต้องจบชีวิตลงขณะพยายามหนีจากสงครามกลางเมืองและความทุกข์ยาก โดยโป๊ปฟรานซิสทรงวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีทรัมป์มาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะพระองค์ทรงคัดค้านนโยบายสร้างกำแพงและมาตรการกีดกันผู้อพยพ แต่ทรงสนับสนุนรัฐบาลเม็กซิโกที่ประกาศรับรองผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการแสวงหาที่ลี้ภัย


ภาพสะเทือนใจ 'แค่ขายข่าว' หรือ 'กระตุ้นจิตสำนึก'

ภาพศพสองพ่อลูกถูกนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อหลายสำนักในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในโลกตะวันตก แต่องค์กรเพื่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ RAICES ออกแถลงการณ์ประณามสื่อต่างๆ ที่เผยแพร่ภาพดังกล่าว โดยกล่าวหาว่าสื่อเหล่านี้แค่ 'ขายข่าว' เกี่ยวกับโศกนาฏกรรม ซึ่งเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทั้งคู่

AFP-ศพพ่อลูกผู้อพยพเสียชีวิตในแม่น้ำสหรัฐฯ-1.jpg
  • ภาพสะเทือนใจที่สื่อสหรัฐฯ และองค์กรเพื่อผู้อพยพกำลังโต้แย้งกันอยู่ว่าควรเผยแพร่หรือไม่

องค์กร RAICES ยืนยันว่าจะใช้ภาพออสการ์ มาร์ติเนซ และแองจี้ วาเลอรี ขณะที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ประกอบการรณรงค์ด้านสิทธิผู้ลี้ภัย เพื่อให้สังคมอเมริกันเกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านผู้อพยพลี้ภัย และเป็นการยืนยันว่า ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้อพยพ พวกเขาเป็นเพียงครอบครัวหนึ่งซึ่งยอมเสี่ยงทุกอย่างที่มีเพื่อแสวงหาที่ลี้ภัยให้เด็กๆ ของพวกเขาได้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

อย่างไรก็ตาม เดอะนิวยอร์กไทม์ส, บีบีซี และ BNHR องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อการสิทธิผู้อพยพอีกแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ยืนยันว่า การเผยแพร่ภาพศพพ่อลูกผู้อพยพไม่ใช่การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เป็นการทำให้คนอเมริกันมองเห็นว่าผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้ก็เป็นคนหนึ่งซึ่ง 'มีชีวิต' ไม่ได้เป็นแค่ตัวเลขหรือสถิติในรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้อพยพลี้ภัยที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเพียงอย่างเดียว 

ด้าน 'ฮวาคิน คาสโตร' ส.ส.รัฐเท็กซัส สังกัดพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ระบุว่า ภาพศพพ่อลูกผู้อพยพอาจสะเทือนใจเกินกว่าจะจ้องมอง แต่เขาเปรียบเทียบภาพดังกล่าวกับภาพศพ 'อัยลัน เคอร์ดี' เด็กชายชาวซีเรียวัย 3 ขวบที่ถูกซัดเกยหาดตุรกีเมื่อปี 2015 ขณะครอบครัวของเขาพยายามข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนไปยังฝั่งกรีซ และเป็นภาพที่จุดชนวนการถกเถียงเรื่องนโยบายผู้อพยพในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จนมีผู้เคลื่อนไหวสนับสนุนให้รัฐบาลในหลายประเทศเปิดรับผู้อพยพเพิ่มขึ้น

ขณะที่ Newsweek สื่อสหรัฐฯ รายงานเพิ่มเติมว่า นโยบายด้านผู้อพยพลี้ภัยที่เปลี่ยนแปลงในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในสหรัฐฯ ถูกปฏิเสธคำร้องเพิ่มขึ้นถึง 65 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนหน้า และทรัมป์มักจะให้สัมภาษณ์อยู่เสมอว่า ผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศละตินอเมริกาคือพวกอาชญากรและนักข่มขืน แต่สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยไซราคิวส์ระบุว่า ผู้อพยพลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นผู้ประสบความรุนแรงหรือวิกฤตด้านต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง

แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีพันธกิจต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัย แต่กระบวนการรับเรื่องหรือพิจารณาเรื่องต่างๆ ล่าช้ากว่าเดิมมากในสมัยทรัปม์ โดยผู้อพยพส่วนใหญ่ถูกกักตัวตามแนวชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ และเยาวชนจำนวนมากถูกแยกจากครอบครัวไปอยู่ในค่ายผู้อพยพชายแดนสหรัฐฯ จนเกิดการพลัดพรากจากกัน ทั้งยังมีเยาวชนเสียชีวิตในค่ายผู้อพยพของสหรัฐฯ แล้วอย่างน้อย 22 คนตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุเกิดจากความเจ็บป่วย การขาดแคลนสาธารณูปโภคที่เหมาะสม ความแออัด และสภาพอากาศ


เพราะอยู่ประเทศบ้านเกิดไม่ได้ จึงต้อง 'ลี้ภัย'

ศพของออสการ์ มาร์ติเนซ และแองจี้ วาเลอเรีย จะถูกส่งกลับไปยังกรุงซานซัลวาดอร์ ประเทศเอลซัลวาดอร์ โดยรัฐบาลเอลซัลวาดอร์จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนย้ายร่างของทั้งคู่

เดอะนิวยอร์กไทม์สรายงานว่ามาร์ติเนซและโรซา รามิเรซ ผู้เป็นภรรยา ต้องการพาลูกสาว 'แองจี้' ไปยังสหรัฐฯ หลังจากประสบความแร้นแค้นและวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศตนเอง แม้ว่าทั้งคู่จะทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่อาจหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างเพียงพอ เพราะเมืองที่อาศัยอยู่นั้นถูกแบ่งพื้นที่ยึดครองโดยกลุ่มอาชญากรต่างๆ ทำให้เกิดปัญหายาเสพติดและความรุนแรงเรื้อรัง

มาร์ติเนซและภรรยาเดินทางไปยังเม็กซิโกเพื่อยื่นเรื่องขอลี้ภัยในสหรัฐฯ เมื่อเดือน เม.ย. แต่ถูกหน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ กีดกันไม่ให้เข้าประเทศ เขาจึงตัดสินใจว่ายน้ำข้ามฝั่งแม่น้ำรีโอแกรนด์ โดยหวังจะยื่นเรื่องขอรับความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยหลังจากที่ได้ขึ้นฝั่งสหรัฐฯ

ภรรยาบอกว่ามาร์ติเนซว่ายจนถึงฝั่งสหรัฐฯ ได้สำเร็จแล้ว และให้แองจี้ผู้เป็นลูกสาวรออยู่บนฝั่งเพื่อที่เขาจะว่ายกลับไปรับตนเอง แต่เด็กหญิงร้องขอติดตามพ่อ ทั้งยังพุ่งตัวลงไปในน้ำ ทำให้มาร์ติเนซหันกลับไปรับลูกสาว แต่เสียหลักและถูกกระแสน้ำซัดหายไปต่อหน้าต่อตารามิเรซผู้เป็นภรรยา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: