ไม่พบผลการค้นหา
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง 250 ส.ว.เพื่อนพ้องน้องพี่เป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงคิวลงมติเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา 24 พ.ค.นี้ ที่หอประชุมใหญ่ทีโอที แจ้งวัฒนะ เพื่อกุมบังเหียนสภาสูง ยี่ห้อคสช. แน่นอนว่า ไม่น่ามีอะไรพลิกโผ

ไล่ตั้งแต่ประธานวุฒิสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือ ตัวเต็งเพียงหนึ่งเดียวที่ปรากฎรายชื่อออกมาตรงกันผ่านสื่อทุกสำนัก ในรอบ 5 ปีของ คสช. บทบาทนายพรเพชร อาจไม่โดดเด่น แต่ก็ถือว่าไม่ขาดตกบกพร่อง ในการนั่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประสานการพิจารณากฎหมายฉบับสำคัญ ร่วมกับแม่น้ำ 5 สายได้อย่างราบรื่น 

เกิดเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2491 อายุ 70 ปี ปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับสอง (2515) ได้ทุนก.พ.ต่อปริญาโทด้านกฎหมาย ม.ฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ (2518) ตั้งต้นรับราชการทางกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขึ้นแท่นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นศาสตราจารย์พิเศษ เส้นสายยุ่บยั่บ ผ่านหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 41 

ฝากผลงานสำคัญเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นตัวแทนชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ส่งคำร้องให้วินิจฉัย การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผลคือ การเลือกตั้งเป็นโมฆะ คสช.เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ร่วมเป็นที่ปรึกษาและได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธาน สนช. 

ล่าสุดออกโรงปกป้อง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. นายกฯ และแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกสังคมโจมตีอย่างหนักถึงความเหมาะสมในการแต่งตั้งคนในครอบครัว ซึ่งมีประวัติการส่งใบลาประชุมมากกว่าร่วมประชุม 


พรเพชร 2967942.jpg

(พรเพชร วิชิตชลชัย)

ส่วนรองประธานวุฒิสภา 2 คนนั้น มีการปรับเปลี่ยนทั้งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานสนช.คนที่หนึ่ง และอดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง กับ นายพีระศักดิ์ พอจิต อดีตรองประธานสนช.คนที่สอง และอดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง จะไม่ได้ไปต่อ 

นายสุรชัยนั้นถือว่าน่าผิดหวังมากที่สุด ประสบการณ์สูงเป็นส.ว.มาตั้งแต่ปี 2551-2557 ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งระหว่างปี เคยเกือบเอื้อมถึงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา เมื่อปี 2555-2557 ทว่าเกิดการรัฐประหารขึ้นก่อน ได้เก้าอี้รองประธาน สนช. คนที่หนึ่งปลอบใจอีก 5 ปี รวม 7 ปี ในฐานะท่านรองฯ ก่อนต้องอกหักอย่างน่าเสียดาย 

เมื่อโผกางออกมาเป็นมีชื่อของ นายศุภชัย สมเจริญ 1 ใน 50 ส.ว.วิชาชีพ อดีตประธาน กกต. คือ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ยุค คสช. มีผลงานเข้าขากับแม่น้ำ 5 สาย ในช่วงการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ถูกวางตัวให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เพราะถือว่าภาพลักษณ์สง่างาม ให้สัดส่วนแก่ ส.ว.กลุ่มอาชีพ 


ศุภชัย สมเจริญ __13148179.jpg

(ศุภชัย สมเจริญ อดีตประธาน กกต.)

เกิดเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2492 อายุ 71 ปี ปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ปริญญาโท รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วปอ.รุ่นที่ 45 เริ่มรับราชการกรมตำรวจ เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมในชั้นศาลฎีกา 

ครั้งเป็น กกต. จัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 เจออุปสรรค ผู้ชุมนุม กปปส. ขัดขวาง จนที่สุดกลายเป็นโมฆะ เสมือนไม่เคยจัด แต่ก็อำนวยความสะดวกการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และคำถามพ่วงให้ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช.ร่วมลงมติกับส.ส.เลือกนายกฯอย่างราบรื่น เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 59 ที่ผ่านมา

สำหรับรองประธานสนช.คนที่หนึ่ง ถือว่าเซอร์ไพรส์ คือ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร อดีตสมาชิกสนช. ซี้ปึ้กร่วมชั้นเตรียมทหารรุ่นที่ 12 กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผงาดขึ้นมาเป็นเต็งหนึ่งตามโผ ในสัดส่วนคสช. แทนชื่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคสช. และพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนหน้านี้

เพื่อนพล.อ.ประยุทธ์รายนี้เป็นที่รับรู้ภายในแวดวง สนช. ถึงสายสัมพันธ์อันดีกับนายพีระศักดิ์ ที่ควง ส.ว.แต่งตั้ง สายชาวนาพ่อค้าข้าวหัวหมอร่วมผลักดันร่างพ.ร.บ.ข้าวจนล้มไม่เป็นท่ากลับมาจำนวนหนึ่ง และยังร่วมก๊วน สนช.พบประชาชน ไม่ขาดตกบกพร่อง แรงหนุนเพียบ มีโอกาสเข้าวินชนิดม้วนเดียวจบ

สิงห์ศึก เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2495 อายุ 67 ปี นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 วปอ.รุ่นที่ 48 รับราชการครั้งแรกที่กองพันทหารราบที่ 4 กรมผสมที่ 4 จ.ตาก จบหลักสูตรเสธ.กองทัพบก นั่งผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เกษียณด้วยตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก


สิงห์ศึก สิงห์ไพร S__12730387.jpg

(สิงห์ศึก สิงห์ไพร ตท. 12 สมาชิกวุฒิสภา)


สิงห์ศึก ประยุทธ์ itled.png

(พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งปฏิบัติราชการตามแผนป้องกันประเทศด้านตะวันออก ไทย - กัมพูชา ของกองทัพ เมื่อปี 2540-2543)

ฝากผลงานบาดแผลมิรู้ลืม ครั้งดำรงตำแหน่ง “ครูใหญ่ของกองทัพบก” เมื่อพล.อ.สิงห์ศึก เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มให้ทำบทความ”เอกสารแนวทางในการปฏิบัติทาง ทหาร: กรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเมือง” ในวารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2553 

มีเนื้อหาสรุปบทเรียนต่อการสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมกลุ่มนปช. เมื่อปี 2553 เยี่ยงวีรบุรุษสงคราม ระบุชัดถึงยุทธการล้อมปราบ ยอมรับในเอกสารถึงการใช้”หน่วยสไนเปอร์” เข้าสลายจากบนพื้นที่สูง

ระหว่างปี 2557-2562 ได้ปูนบำเหน็จเป็น สนช. นั่งประธานกมธ.การพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและการแรงงาน ผลงานโดดเด่นชัดเจน แสดงความเป็นสภาพบุรุษสั่งให้ลูกชาย ร.ท.บดินทร์ สิงห์ไพร ลาออกจากตำแหน่ง ผู้ชำนาญการประจำตัวสนช.ทันที หลังโป๊ะแตก และร่วมเป็นหนึ่งในกมธ.ซักถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีจำนำข้าว 35 ข้อ ก่อนเปิดฉากให้ สนช. ลงมติถอดถอนท่วมท้นกำจัดนายกฯ หญิง ให้ออกจากเวทีการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง