สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) เผยแพร่รายงาน เรื่อง "SLAPP คืออะไร และทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญ" โดยรายงานระบุถึงนิยามของ 'การฟ้องคดีปิดปาก' หรือ SLAPP (strategic lawsuits against public participation) ว่า เป็นการดําเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ซึ่งมีลักษณะ คือ การฟ้องร้องคดีต่อบุคคลหรือกลุ่มคนที่แสดงความเห็นถึงข้อห่วงกังวลต่อประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมในวงกว้าง อย่างเช่น การดำเนินโครงการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โครงการที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่นำกฎหมายเเละกระบวนการยุติธรรมมาดำเนินคดีต่อคนที่ออกมาเเสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะส่วนใหญ่ เป็นบริษัทเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ ศาลหรือผู้พิพากษา โดยกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีนั้นคนจำนวนมากมักจะนึกถึงคดีประเภทหมิ่นประมาท แต่ความจริงแล้วยังมีการใช้ข้อหาตามกฎหมายอื่นอีกมากมายที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดี ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน เป็นต้น
ในรายงานฉบับนี้ ยังเปิดเผยว่า คดี SLAPPs สร้างภาระและความยุ่งยากให้ผู้ถูกฟ้องคดี โดยเฉพาะหากเป็นการฟ้องคดีอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ผู้ถูกฟ้องจะได้รับความกดดันและเกิดความกลัว อีกทั้งในคดีอาญามีความเข้มงวดและขั้นตอนยุ่งยาก ผู้ต้องหาต้องมีการเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตามนัด
นอกจากนี้ คดี SLAPPs ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใต้ความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจและทรัพยากรระหว่างโจทก์ กับจำเลย โจทก์ที่เป็นบริษัทเอกชน มีทรัพยากรที่มากสำหรับใช้ดำเนินคดี โจทก์ที่เป็นรัฐ มีอำนาจ มีกลไกต่างๆและทรัพยากรของรัฐคอยสนับสนุน แต่จำเลยส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมที่ไม่ได้้ร่ำรวย เป็นชาวบ้านในชนบท ขาดทรัพยากรในการสนับสนุนต่อสู้คดี หลายกรณีต้องอาศัยองค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ แม้จะได้รับการช่วยเหลือด้านคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนอื่นๆ อยู่
ดังนั้น เมื่อมีการดำเนินคดี SLAPPs โดยเฉพาะที่เป็นคดีอาญา ผู้ถูกดำเนินคดีจะตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และได้รับความกดดัน ทำให้บางครั้งต้องจำยอมรับสารภาพเพื่อให้คดีจบและปลดเปลื้องภาระ จากข้อมูลพบว่ามีหลายกรณีที่ผู้ถูกดำเนินคดียอมรับสารภาพเพื่อลดภาระ ซึ่งศาลจะรอลงอาญา และมักจะมีเงื่อนไขคุมประพฤติ อย่างน้อยระหว่างนั้นกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี จะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือถ้าจะเคลื่อนไหวก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษอย่างไรก็ตาม คดีเเพ่งก็ถือว่ามีพลังกดดันไม่เเตกต่างจากคดีอาญา เพราะการต้องเผชิญความเสี่ยงกับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนหลายล้าน ย่อมสร้างความกลัวได้ไม่แพ้คดีอาญา
รายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยสถิติว่า ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดีมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง รองลงมาคือกลุ่มชาวบ้านในชุมชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งผู้ถูกฟ้องมีทั้งแกนนำและสมาชิกของกลุ่มหรือชุมชน และบางกลุ่มหรือชุมชนถูกฟ้องซ้ำหลายคดี เช่น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย ที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ถูกบริษัทเหมืองทองฟ้องร้องกว่า 20 คดี ถัดมาได้เเก่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาสาสมัครทางการเมือง สื่อมวลชน ทนายความเเละนักวิชาการ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังพบว่า การกระทำที่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องมากที่สุดคือ การเผยแพร่ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ รองลงมาคือการชุมนุมสาธารณะ การจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ อาทิ กิจกรรมล้อเลียน ดนตรี ละคร ชูป้าย เดิน เป็นต้น การทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงาน การให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความเผยแพร่ทางสื่อ การชุมนุมหรือจัดกิจกรรมในพื้นที่โครงการ การเผยแพร่ข่าวหรือบทความในสำนักข่าวออนไลน์ การแจกเอกสาร การแถลงข่าวหรือแถลงการณ์ การเข้าไปในพื้นที่ดำเนินโครงการเพื่อตรวจสอบ
ไม่เพียงเท่านั้นผู้ฟ้องคดีมัดฟ้องคดีปิดปากต่อผู้ที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม อย่างมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ให้ที่พัก ช่วยเหลือทางกฎหมาย สังเกตการณ์การจัดกิจกรรม เป็นต้น การทำหน้าที่สื่อมวลชน การพูดในเวทีสัมมนา และการเผยแพร่ผลการวิจัยหรือรายงานการละเมิดสิทธิด้วยเช่นกัน