ไม่พบผลการค้นหา
'ธนาธร' เฟซบุ๊กไลฟ์สู้โควิด-19 วิเคราะห์แบบจำลองอนาคต- ยกข้อมูลวิทยาศาสตร์ของ สธ. เตือนสถานการณ์เลวร้ายสุดไทยอาจมีผู้ติดเชื้อพุ่งถึง 16.7 ล้านคนใน 1 ปี หนุนใช้มาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะ จี้รัฐดูแลผู้มีรายได้น้อย- เปิดข้อมูลให้ ปชช. เตรียมรับมือ

เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 17 มีนาคม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เฟซบุ๊กไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊กกรณีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยระบุว่า วันนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน 100 ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง เราเห็นการเกิดขึ้นของไวรัสนี้เริ่มต้นจากประเทศจีน แล้วแพร่กระจายไปยังประเทศเกาหลี แพร่กระจายไปยังทวีปยุโรป แพร่กระจายไปยังอิหร่าน และแน่นอนที่สุด ก็เข้ามาถึงประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องสื่อสารและพูดจากันอย่างตรงไปตรงมา ถึงการแก้ไขปัญหาและการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส นี่เป็นความท้าทายที่ไม่ใช่แค่ของรัฐบาลไทย แต่เป็นความท้าทายของผู้คนในสังคมทุกคน 

นายธนาธร กล่าวว่า ข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้จำลองแบบอนาคตขึ้นมา 3 แบบด้วยกัน แบบแรก คือแบบที่เลวร้ายที่สุด แบบที่ 2 คือแบบความเลวร้ายปานกลาง และแบบสุดท้าย คือ แบบการรับมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุด จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข คนหนึ่งคนจะทำให้เกิดผู้ป่วยอีก 2.2 คน ดังนั้น ภายใน 1 ปี เราจะมีผู้ป่วย 16.7 ล้านคน ทั้งนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฉับพลันอีกด้วย การเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฉับพลัน และตัวเลขที่สูงขนาดนี้ จะทำให้เกิดความตึงเครียดในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งตนไม่คิดว่าระบบสาธารณสุข อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันจะสามารถรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ได้

ในสถานการณ์แบบที่ 2 คือสถานการณ์แบบปานกลาง อาจมีผู้ป่วยได้มากถึง 9.9 ล้านคน ภายใน 2 ปี และลำดับสุดท้าย ในสถานการณ์ที่มีการรับมือแบบมีประสิทธิภาพ เราอาจจะมีผู้ป่วยประมาณ 4 แสนคนคน ภายใน 2 ปี เราจะเห็นถึงความแตกต่างของจำนวนผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมรับมือกันอย่างร่วมแรงร่วมใจมากน้อยเพียงใด 

“ในกรณีที่รุนแรงที่สุด เดือนที่เกิดการแพร่ระบาดสูงสุด ก็คือเดือน ส.ค. และ ก.ย.ของปี 2563 ซึ่งผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดอยู่ที่ 1.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาลมาก และจากข้อมูลทางการแพทย์ ขององค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ อาจจะเป็นผู้ป่วยที่ต้องรักษาอยู่ในสถานพยาบาล ซึ่ง 20 เปอร์เซ็นต์ ของ 1.5 ล้านคน คือ 3 แสนคน หมายความว่าหากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงที่สุดขึ้น เราจำเป็นจะต้องมีทรัพยากรเพียงพอ ที่จะดูแลผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 ในระบบสาธารณสุขไทยถึง 3 แสนคน ไม่ใช่แค่เฉพาะเตียง เรากำลังพูดถึงเครื่องช่วยหายใจ เรากำลังพูดถึงหน้ากาก ถุงมือ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เรากำลังพูดถึงพื้นที่ที่เพียงพอ เรากำลังพูดถึงยารักษาโรคที่เพียงพอ สิ่งต่างๆเหล่านี้ จะต้องเตรียมการในเวลาอันใกล้ ซึ่งอีกเพียง 6 เดือนเท่านั้นเอง จะถึงจุดสูงสุดในสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายที่สุด ผมไม่คิดว่าเราจะมีประสิทธิภาพ และศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการกับมัน" นายธนาธร กล่าว 

หนุนมาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะสังคม

นายธนาธร กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราต้องทำและร่วมมือกัน คือการชะลอการแพร่ระบาด​ไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากเราสามารถชะลอได้ เดือนที่จะมีการแพร่ระบาด​สูงที่สุดคือเดือน ม.ค. และก.พ. ​ ปี 2564 หรืออาจมองได้ว่ามีเวลาเตรียม​การอีก 10 เดือน และจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดต่อสัปดาห์​ แทนที่จะเป็น 1.5 ล้านคน ในแบบจำลองจะเหลือพียงแค่ 480,000 คนต่อสัปดาห์​ ซึ่งจะมีผู้ป่วยที่ต้องรักษาอยู่ในสถานพยาบาลเหลือเพียง 100,000 ราย จะเห็นได้ว่าเราจะมีศักยภาพรับมือกับสถานการณ์​เหล่านี้ได้ดีขึ้น หากคนในสังคมร่วมมือกันชะลอการแพร่ระบาด​ไวรัส โควิด-19 ได้

นายธนาธร ยังได้ยกตัวอย่างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์​โดยวอชิงตัน​โพส ที่มี 3 แบบด้วยกัน ซึ่งมีความคล้ายกับโมเดลของกระทรวงสาธารณสุข​ที่ได้นำเสนอไป โดยมาตรการที่ดีที่สุดนั้น คือมาตรการ​ social distancing หรือมาตรการ​ที่ส่งเสริมให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการพบปะกัน เป็นมาตรการแก้ไขปัญหา​ได้ดีที่สุด ซึ่งจากการคำนวณของคอมพิวเตอร์​ ผลลัพธ์​ที่ออกมานั้นลดการติดเชื้อ​ได้เป็นจำนวนมาก และอัตรา​ที่ประชาชนจะไม่ติดเชื้อเลยจะสูงมากยิ่งขึ้น สำหรับมาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะคนในสังคม  อย่างแรกที่สุดเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ไม่เดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น​ หลีกเลี่ยงเข้าร่วมประชุม ไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีผู้คนรวมกันมากกว่า 10 คน 

ย้ำรัฐบาลต้องดูแลผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสาธารณสุข

 นายธนาธร กล่าวว่า มาตรการ​การหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คน ควรจะต้องดำเนิน​ไปพร้อมกับมาตรการการเยียวยา เรามีต้นทุนการหลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คน ดังนั้น รัฐบาล​ต้องมีมาตรการให้กลุ่มคนรายได้น้อยแสดงตัวได้อย่างไม่มีต้นทุน ต้องทำให้คนส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบสาธารณสุข​ได้อย่างต้นทุนน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน แม้ประชาชนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ก็ยังมีโอกาสที่ทำให้การแพร่เชื้อ​ไวรัสเข้าสู่ระยะที่ 3 หากเกิดเหตุ​การณ์​เช่นนั้นจริง ซึ่งเราเห็นตัวอย่างแล้วในประเทศแถบตะวันตก​ ที่จะใช้มาตรการหลักเลี่ยงการพบปะอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉิน​ การปิดสถานที่ หยุดการขนส่งสาธารณะ​ ซึ่งมาตรการ​เหล่านี้​ยังไม่เคยถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดในประเทศไทย และเราหวังว่าจะไม่เดินไปสู่จุดนั้น แต่ถ้าจุดนั้นมาถึงจริงๆ คิดว่า คงเป็นเวลาที่จะต้องบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมา​ ให้เข้าใจ รับรู้ ไม่ตื่นตระหนก และเพื่อเตรียมพร้อมรบมาตรการ​ต่างๆเหล่านี้ ซึ่งจะกระทบกับพวกเราทุกคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง