ไม่พบผลการค้นหา
'สุดารัตน์' จี้ ปตท.แจงปมท่อส่งก๊าซระเบิด ที่สมุทรปราการ ด้าน 'ศรีสุวรรณ' แนะจับตารัฐใช้ ม.96-97 แห่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ฟ้อง ปตท.เป็นคดีสิ่งแวดล้อมหรือไม่

จากกรณีเกิดเหตุการณ์ท่อก๊าซระเบิด บริเวณตรงข้ามวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ถนนเทพราช-ลาดกระบัง ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และอยู่ใกล้โรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดี เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 เป็นเหตุให้เกิดเปลวไฟขนาดใหญ่ เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง มีบ้านเรือนกว่า 34 หลัง และรถยนต์ 62 คัน รถจักรยานยนต์ 59 คันร้านค้า 7 ร้าน รวมทั้งสถานีตำรวจภูธรเปร็งที่อยู่ใกล้ๆก็ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด ผู้คนบาดเจ็บไปกว่า 52 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 3 รายนั้น

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความระบุว่า อยากได้ความชัดเจนจากผู้บริหาร ปตท. เรื่องท่อก๊าซระเบิด ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร มีมาตรการดูแลซ่อมบำรุงท่อที่ทราบมาว่ามีอยู่ทั่วประเทศกว่า 4,000 กม. ซึ่งผ่านกลางชุมชนใหญ่ๆ โรงเรียน โรงพยาบาล จำนวนมากอย่างไร และจะสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้ที่อยู่ใกล้ท่อก๊าซได้ยังไงต่อไป


จับตารัฐใช้ ม.96-97 แห่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ฟ้อง ปตท.เป็นคดีสิ่งแวดล้อมหรือไม่

ด้าน ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ในความรับผิดชอบต่อความเสียหายเหตุการณ์ท่อก๊าซระเบิดทางแพ่งนั้น เป็นหน้าที่ของบริษัทมหาชนของรัฐอย่าง ปตท.จะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ แต่ทว่าในความรับผิดชอบทางอาญานั้น ดูเหมือนหน่วยงานรัฐต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งทางฝ่ายปกครองของจังหวัดสมุทรปราการ กรมธุรกิจพลังงาน ยันกรมควบคุมมลพิษ มิได้กล่าวถึงหรือมีความพยายามที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่อย่างใด โดยเฉพาะการปล่อยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ปตท.เข้าไปสอบสวนหาเหตุที่เกิดขึ้นพร้อมเจ้าหน้าที่ กองพิสูจน์หลักฐาน พร้อมหน่วยกู้ภัยต่างๆและกองทัพสื่อมวลชน ซึ่งกว่าจะกันพื้นที่ให้เป็นเขตหวงห้ามก็ทำให้หลักฐานบางอย่างหมดไปได้ เพราะอย่าลืมว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตด้วย ซึ่งเป็นเหตุทางอาญา ตาม ปอ.291 ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเก็บรวมรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุมาประกอบสำนวนในการเอาผิดผู้บริหารหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ด้วย

กรณีที่เกิดขึ้น เป็นผลพิสูจน์โดยประจักษ์ที่ภาคประชาชนและเอ็นจีโอ เคยชุมนุมประท้วงการวางท่อก๊าซของ ปตท.ในหลายๆเส้นทางที่รอนสิทธิ์ประชาชนมาโดยตลอดว่า อาจสร้างความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซได้ แต่ ปตท.ก็ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าตั้งแต่เริ่มมีการวางท่อก๊าซมาตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบันเกือบ 40 ปีมานี้ไม่เคยเกิดเหตุถึงขั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ

แต่ครั้งนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดว่าข้อกังวลที่ชาวบ้านและเอ็นจีโอท้วงติงจนนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลมากมายมาโดยตลอดนั้นเกิดขึ้นจริงได้ และที่สำคัญหน่วยงานและคณะกรรมการ คชก. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่เห็นชอบ EIA โครงการท่อก๊าซที่ส่วนใหญ่อยู่ใต้โครงข่ายสายไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.นั้นถือเป็นความเสี่ยงที่อันตรายยิ่งทั่วประเทศ แต่ผู้ที่เห็นชอบ EIA จะสำนึกผิดและจะถ่ายบาปกับสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้อย่างไร และหน่วยงานรัฐจะใช้ ม.96-97 แห่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ฟ้อง ปตท.เป็นคดีสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไรต้องติดตามกันต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :