ไม่พบผลการค้นหา
ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้อง จำเลยผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 , 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการกดไลค์เพจหมิ่น โพสต์เสียดสุนัขทรงเลี้ยง และแชร์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์

วันที่ 13 ม.ค. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 21 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ฐนกร ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการกดไลค์เพจที่ใช้ภาพปกเป็นภาพตัดต่อรัชกาลที่ 9 การโพสต์เฟซบุ๊กเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และการแชร์แผนผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์

ศาลจะเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 10.50 น. คำพิพากษาสรุปใจความสำคัญได้ว่า

กดไลค์เพจเฟซบุ๊กชื่อ “ยืนหยัดปรัชญา”

จำเลยกดปุ่มไลค์เพจโดยไม่ปรากฏว่าทำอะไรอย่างอื่น คำว่าไลค์แปลว่า ชื่นชอบ จึงเป็นการกดเพื่อชื่นชอบเนื้อหาในเพจ การกระทำเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เบิกความว่า เดิมเฟซบุ๊กมีแต่ปุ่มกดไลค์ ไม่มีให้กดติดตาม เพิ่งมีปุ่มติดตามภายหลังการกระทำของจำเลย จำเลยเบิกความว่า ต้องการติดตามเนื้อหาจากเพจนี้ ขณะที่โจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นมาแสดง จึงจะยืนยันว่า จำเลยกดไลค์เพราะความชื่นชอบอย่างเดียวไม่ได้ เพจนี้มีเนื้อหาทำนองโจมตีรัฐบาล แสดงว่ามีเนื้อหามากมาย แม้มีภาพปกเป็นภาพตัดต่อ และมีภาพรัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่เหมาะสม แต่ไม่ได้แปลว่าจำเลยชอบหรือติดตามแค่ภาพปก เพราะจำเลยไม่ได้กดไลค์ภาพนั้น แต่กดไลค์เพจเพื่อติดตามเนื้อหาทั้งหมด

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังเบิกความว่า ภาพปกและภาพประจำตัวของเฟซบุ๊กนั้น เจ้าของเพจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของจำเลยพบว่าจำเลยกดไลค์เพจดังกล่าวจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2558 โดยไม่ปรากฏว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพปกมาตั้งแต่เมื่อใด จึงน่าสงสัยว่า ขณะจำเลยกดไลค์เพจดังกล่าว เพจนั้นใช้ภาพที่นำมาฟ้องเป็นภาพปกหรือยัง จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112

ส่วนข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้การกดไลค์จะทำให้เพื่อนบนเฟซบุ๊กเห็นสิ่งที่กดไลค์ได้ แต่ก็เป็นการดำเนินการของเฟซบุ๊กโดยสุ่ม อาจจะปรากฏให้เห็นหรือไม่ปรากฏก็ได้ การกดไลค์จึงไม่ใช่ผลโดยตรงทำให้เพจที่จำเลยกดไลค์ไปแสดงหน้าเพจของบุคคลอื่น ต่างจากการกดแชร์ ถ้าจำเลยมีเจตนาให้เพื่อนบนเฟซบุ๊กเห็น จำเลยน่าจะกดแชร์ มากกว่ากดไลค์ จึงไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

แคปภาพที่มีทองแดงและคอมเม้นต์ต่างๆ มาโพสต์เฟซบุ๊ก แล้วใช้ข้อความว่า “อ่านคอมเม้นต์แล้วซาบซึ้งจังครับ”

คำว่า “ซาบซึ้ง” ที่จำเลยใช้อาจตีความได้สองประการ คือ ซาบซึ้งและชื่นชมกับข้อความนั้น หรือการประชด เมื่อดูข้อความในคอมเม้นต์ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งคอมเม้นต์แรกไม่ใช่ข้อความดูหมิ่นเกลียดชัง คอมเม้นต์ที่สองแม้จะมีการประชด ก็เป็นการประชดบุคคลทั่วไปที่มาชื่นชมสุนัข การที่จำเลยพิมพ์ข้อความว่า ซาบซึ้ง จึงไม่ชัดว่ามีเจตนาชื่นชมหรือประชด ส่วนคอมเม้นต์ที่นำมาโพสต์ทั้งหมดก็ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จึงไม่มีความผิดมาตรา 112

และในคอมเม้นต์ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น ไม่มีลักษณะการยืนยันข้อเท็จจริง แม้ข้อความตามภาพจะระบุว่า คุณทองแดงเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 9 แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป แม้จะไม่มีประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการก็ตาม จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

แชร์แผนผังการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่มีภาพบุคคลสำคัญทั้งทหารระดับสูง และคนในคณะรัฐมนตรี

เนื้อหาในแผนผังเป็นปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่ดำเนินการโดยกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อใช้งบประมาณจำนวนมากและเกิดข้อสงสัย ประชาชนย่อมสนใจ แสดงความคิดเห็น จำเลยเบิกความว่าแชร์ภาพดังกล่าวเข้าไปในกลุ่มเพื่อการติดตามตรวจสอบโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ โจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า การโพสต์ของจำเลยเป็นการปลุกระดม ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง จึงเป็นการติชมโดยสุจริต ไม่ผิดมาตรา 116

พล.ท.บุรินทร์ ทองประไพ พยานโจทก์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุสื่อก็นำเสนอเรื่องดังกล่าว และพล.อ.ธีระชัย นาควานิช ก็แถลงว่าตรวจสอบแล้วไม่พบการกระทำความผิด แต่ไม่ปรากฏว่าตรวจสอบโดยหน่วยงานใด และไม่มีรายงานการตรวจสอบมานำส่งต่อศาล นอกจากนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เคยให้สัมภาษณ์ว่า มีการทุจริตในโครงการดังกล่าว ด้าน พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เบิกความยืนยันว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เคยให้สัมภาษณ์ว่า มีการหักหัวคิวในการก่อสร้าง เมื่อยังไม่อาจยืนยันได้ว่า แผนผังดังกล่าวเป็นความเท็จ จึงไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

จึงยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

สำหรับฐนกร เดิมทีเป็นพนักงานโรงงาน ในจังหวัดสมุทปราการ ขณะที่เกิดเรื่องเขามีอายุ 27 ปี ในวันที่ 8 ธ.ค. 2558 ฐนกร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย เชิญตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางปู ก่อนจะพาตัวไปที่สถานีตำรวจอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงค่ำ ต่อมามีเจ้าหน้าที่ีทหารในเครื่องแบบ เดินทางมารับฐนกรไปยังค่ายทหารแห่งหนึ่ง เพื่อควบคุมตัวไว้ 7 วัน โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558

สาเหตุที่เขาถูกควบคุมตัวเกิดจากการแชร์ภาพแผนผังทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ในเฟซบุ๊ก แต่หลังจากถูกควบคุมตัวโดยทหารได้เพียงคืนเดียว ในวันต่อมา (9 ธ.ค. 2558) พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับฐนกร ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวโดยทหาร พนักงานสอบสวนกองปราบปรามยังได้ยื่นขอหมายจับเขาต่อศาลทหารด้วย จนกระทั่งครบระยะเวลา 7 วันของการควบคุมตัว พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นำตัวฐนกรมาฝากขังที่ศาลทหาร ซึ่งศาลทหารอนุญาตให้ฝากขัง หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ฐนกรยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางเงินสด 300,000 เป็นหลักประกัน ซึ่งมาจากเงินระดมทุนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ แต่ศาลยกคำร้องโดยระบุเหตุผลว่า คดีมีโทษสูงประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้วน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงให้ยกคำร้อง 

ฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ แม้ยังไม่มีการพิจารณาตัดสินว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ รวมทั้งสิ้น 86 วัน ก่อนที่เขาจะได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 หลังจากได้รับการประกันตัว ฐนกรตัดสินใจบวชพระเพื่อศึกษาพุทธศาสนาที่วัดแห่งหนึ่งในวันที่ 8 พ.ค. 2559 จนถึงปัจจุบัน