ไม่พบผลการค้นหา
"ศรีสุวรรณ" ร้อง กสทช.ตรวจสอบสอบ " สรยุทธ สุทัศนะจินดา" คืนจอได้หรือไม่ เชื่อเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมวิชาชีพ ไม่สมควรทำหน้าที่ หวั่นเด็กเยาวชนสับสน

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการ องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางเข้า ร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ให้ดำเนินการตรวจสอบ และวินิจฉัยว่าการกลับมาเป็นพิธีกรเล่าข่าวหน้าจอโทรทัศน์ของผู้ที่เคยต้องโทษในคดีอาญา อย่าง สรยุทธ สุทัศนะจินดา สามารถ ดำเนินการได้หรือไม่


ส่อผิดจริยธรรมวิชาชีพ

ศรีสุวรรณ เห็นว่าการที่พิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดัง ถูกต้องโทษและจำคุกในคดีอาญาอันเกี่ยวกับการสนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐกระทำผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการเป็นเวลา 6 ปี 24 เดือน อันถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยชัดแจ้ง ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งที่บุคคลดังกล่าว จะกลับมาทำหน้าที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์อีกครั้ง เพราะบุคคลที่ทำหน้าที่พิธีกรหรือนักเล่าข่าว ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม โดยมีประวัติที่ไม่ด่างพร้อย ขณะเดียวอาจสร้างความสับสน ให้เด็กเยาวชน และประชาชน ว่าคนที่กระทำความผิดอาญา สามารถกลับมาทำหน้าที่สาธารณะได้อย่างไร

ศรีสุวรรณ.jpg
  • ศรีสุวรรณ จรรยา

ส่วนกรณีที่กรมราชทัณฑ์ มีความเห็นว่า สรยุทธ สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้นั้น ตนเองเห็นว่า เรื่องดังกล่าวควรมีช่องว่างของระยะเวลาการกลับมาทำหน้าที่ อย่างน้อย 5 ปีหรือ 10 ปี เป็นเกณฑ์สำหรับกำหนดการกลับมาทำหน้าที่เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆที่ถูกกำหนดไว้เช่นกัน และแม้นายสรยุทธ จะไม่ได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน จากองค์กรที่ตนสังกัด แต่ก็ยังเห็นว่า นายสรยุทธ คงทำหน้าที่และพูดไม่ได้เต็มปากโดยเฉพาะในเรื่องของ ศีลธรรมและจริยธรรม 

อีกทั้งข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553 ได้กำหนดจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าวไว้ชัดเจนว่า “ต้องไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว”

ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงเดินทางมาร้องเรียนต่อ กสทช. ให้ดำเนินการตรวจสอบและวินิจฉัยว่า การกลับมาเป็นพิธีกรเล่าข่าวหน้าจอโทรทัศน์ของผู้ที่เคยต้องโทษในคดีอาญา สามารถทำได้หรือไม่อย่างไร และ กสทช.จะสร้างบรรทัดฐานของเรื่องทำนองนี้ไว้อย่างไร