ไม่พบผลการค้นหา
คนยากจนในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก อาจก้าวไม่พ้นเส้นความจนจำนวน 24 ล้านคน ทั้งที่ควรหลุดพ้นแล้วในปีนี้ และในกรณีร้ายแรงที่สุดภูมิภาคจะมีคนจนเพิ่มอีก 11 ล้านคน จากโควิด-19

รายงานฉบับล่าสุดจากธนาคารโลกภายใต้ชื่อ East Asia and the Pacific in the Time of COVID-19 – Regional Economic Update, April 2020 (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในช่วงเวลาแห่งโควิด-19 การอัปเดตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือนเมษายน 2563) ประเมินว่าตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคที่กำลังพัฒนานี้จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ในสถานการณ์ที่พื้นฐาน และอาจติดลบร้อยละ 0.5 ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เมื่อเทียบจากตัวเลขประมาณการร้อยละ 5.8 ในปี 2562   

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้มีการคาดคะเนว่าในปี 2563 การเติบโตในประเทศจีน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคจะลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ในสถานการณ์ที่พื้นฐาน และร้อยละ 0.1 ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เมื่อเทียบจากตัวเลขร้อยละ 6.1 ในปี 2562 

โดยภาวะช็อคจากโควิด-19 นอกจากจะส่งผลต่อมิติด้านสุขภาพของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบทางอ้อมไปที่มิติของความยากจนเช่นเดียวกัน ตัวเลขจากรายงานฉบับนี้ที่ประเมินอ้างอิงตามเส้นแบ่งความยากจนที่รายได้ 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน หรือประมาณ 180 บาท พบว่า ในกรณีพื้นฐานจากการแพร่ระบาดครั้งนี้จะส่งให้ประชาชนผู้ที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนจำนวน 24 ล้านคน ก้าวไม่พ้นเส้นความยากจนนี้

รายละเอียดในรายสะท้อนว่า หากไม่มีการแพร่ระบาดดังกล่าว ในปี 2563 จะมีตัวเลขผู้ก้าวข้ามเส้นความยากจนในภูมิภาคนี้ประมาณ 34.8 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้ยากจนชาวจีน 25.1 ล้านคน และผู้ยากจนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีก 9.7 ล้านคน แต่ในกรณีพื้นฐานที่มีโรคระบาดจะทำให้มีผู้ก้าวข้ามความยากจนในจีนได้เพียง 11 ล้านคน และประเทศอื่นๆ นอกจีนเพียงไม่สามารถก้าวพ้นได้แต่จะเพิ่มขึ้นราว 100,000 คน

ธนาคารโลก
  • ที่มา: ธนาคารโลก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือหากสภาวะเศรษฐกิจยังคงทรุดอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ยากจนทั้งหมดในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นราว 11.3 ล้านคน 

รายงานยังสะท้อนความน่ากังวลสำหรับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดว่า ประชาชนเหล่านั้นมีความเสี่ยงสูงมากที่จะตกลงไปใต้เส้นความยากจน อย่างน้อยที่สุดก็ในระยะสั้น 

โดยแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระหรือทำธุรกิจส่วนตัวจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ อันเนื่องมาจากการขาดรายได้หรือการตกงานกระทันหัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค รายงานชี้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในประเทศไทย รวมไปถึงสายพานการผลิตของเวียดนาม จะได้รับผลกระทบอย่างมาก

การจำลองผลกระทบยังพบว่า หากประชาชนจีนในภาคท่องเที่ยวและค้าผลีกมีรายได้ลดลงร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 2 ไตรมาส (6 เดือน) สัดส่วนความยากจนในประชากรจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12

ธนาคารโลกยังกล่าวย้อนไปถึงสถานการณ์แนวโน้มการลดลงของประชากรที่อยู่ภายใต้เส้นความอยากจนในภูมิภาคของปี 2562 ว่าอยู่ในแนวโน้มที่ดีคือมีจำนวนลดลง ยกเว้นเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่สามาถลดตัวเลขประชากระใต้เส้นความยากจนได้ ทั้งยังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ลดลงในทุกมิติ


ต้องรีบใช้มาตรการช่วยเหลือ

‘วิคตอเรีย กวากวา’ รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างประเทศ และยังต้องมารับผลสะท้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีก แต่หากรัฐบาลเร่งปรับใช้มาตรการช่วบเหลืออย่างเร่งด่วน ก็จะช่วยบรรเท่าผลกระทบได้บ้าง

โดยมาตรการเยียวยาสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ธนาคารโลกแนะนำได้แก่การปรับนโยบายทั้งทางสาธารณสุขและเศรษฐศาสตร์มหภาคเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ การปิดเมือง แต่ในเวลาเดียวกันรัฐบาลก็ต้องใช้นโยบายการเงินและการคลังเข้ามาสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน พร้อมแนะให้ปรับใช้มาตรการการตรวจผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุดเหมือนที่สิงคโปร์และเกาหลีใต้ใช้

พร้อมกันนี้ธนาคารโลกยังแนะให้เพิ่มกำลังของบุคลากรทางสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้นพร้อมทำให้มั่นใจว่าประชาชนที่มีรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเสมอภาค

นอกจากนี้รัฐบาลยังควรจะต้องเข้ามาผ่อนปรนความตึงเครียดในภาคการเงินด้วยการลดภาระหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจในช่วงวิกฤตลงพร้อมไม่ปิดกันมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศเนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนแล้วว่าการทำเช่นนั้นจะสร้างผลเสียกว่าผลดี

ส่วนท้ายที่สุดคือการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลต่างประเทศจะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;