ไม่พบผลการค้นหา
ซูเปอร์โพล เผยประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ผู้ชุมนุมละเมิดกฎหมาย ทำลายทรัพย์สินส่วนรวม อีกทั้งยังมองว่าการชุมนุมเป็นการซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจ

นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง 'สังคมรับไม่ได้' กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,216 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 ก.ย. – 3 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 97.6% ระบุรับไม่ได้จากขบวนการปั่นกระแส ยั่วยุ ปลุกระดมต่างๆ ในเรื่อง ใช้อารมณ์ ไร้เหตุผล รองลงมาคือ 96.1% ระบุ จาบจ้วง ล่วงละเมิด ทำลายเสาหลักของชาติ, 95.7% ระบุ คุกคาม ทำลายผู้อื่น ที่เห็นต่าง, 94.1% ระบุ ใส่ร้าย ป้ายสี พ่นสี และสาดสี และ 93.4% ระบุ ก้าวร้าว หยาบคาย ใช้คำไม่สุภาพ ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือ 97.4% ระบุรับไม่ได้ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุม ละเมิดกฎหมาย ทำลายทรัพย์สินส่วนรวม คุกคาม ทำร้ายกัน ในขณะที่ เพียง 2.6% รับได้

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือ 89.9% ระบุ ข่าวการชุมนุม เป็นการซ้ำเติม วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด-19 ในขณะที่ 10.1% ระบุไม่เป็นการซ้ำเติม ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือ 89.0% ไม่ต้องการ การแสดงออกของกลุ่มประชาธิปไตยที่ล่วงละเมิด ทำลายผู้อื่น ทำให้คนเห็นต่าง เดือดร้อน คุกคาม ใช้ความรุนแรง ในขณะที่ 11.0% ต้องการ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือ 94.8% เป็นทุกข์ใจ เมื่อเห็น ม็อบก่อเกิดความรุนแรงบานปลาย ในขณะที่ 5.2% ระบุไม่เป็นทุกข์

นพดล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มุ่งสู่การเผชิญหน้าเพราะประชาชนส่วนใหญ่ทราบดีว่า จะมีประโยชน์อะไรที่จะชนะบนซากปรักหักพังและการสูญเสียอันเป็นการซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด-19 ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคมที่อาจจะได้รับผลกระทบความเสียหายจากการเผชิญหน้ากันของกลุ่มผู้ชุมนุม

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อด้วยว่า จะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งต้องการให้เกิดการสูญเสียเพื่อพวกเขาและพวกพ้องจะได้รับผลประโยชน์จากการเผชิญหน้าและสูญเสียที่เกิดขึ้น สุดท้ายกลุ่มคนที่เป็นผู้นำ (leaders) ปลุกปั่นไปสู่การสูญเสียมักจะได้ผลประโยชน์ส่วนตัวและของพวกพ้องเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแต่กลุ่มคนที่เป็นผู้ตาม (followers) ไปสู่การเผชิญหน้าและสูญเสียมักจะไม่ได้อะไร ผลที่ตามมาคือ คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศคือผู้แพ้ แต่คนหยิบมือเดียวคือผู้ที่ชนะสามารถกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวได้จากการเผชิญหน้าและการสูญเสีย

ดังนั้น ทางออกของประเทศในสถานการณ์ที่เปราะบางนี้มีแนวทางที่เป็นไปได้อย่างน้อยสามแนวทางคือ แนวทางแรก ฝ่ายอำนาจรัฐ (State Power) ตอบสนองความต้องการของฝ่ายเรียกร้องแต่อยู่ภายใต้กฎหมาย ใครผิดก็ว่าไปตามผิดที่สังคม (Non-State Power) ยอมรับได้ แนวทางที่สอง ทุกฝ่ายรู้เท่าทันการปลุกปั่นกระแสที่กำลังเกิดขึ้นจากต้นตออย่างน้อยสองส่วนคือ ส่วนแรกการใช้เทคโนโลยีผ่าน บอต (bot) และเอไอ (Ai) ในแพลตฟอร์มต่างๆ ของโลกโซเชียลกระตุ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำให้คนที่เคยอยู่กลางๆ ถูกผลักเลือกข้าง

ส่วนที่สองคือการใช้กลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งเปิดประเด็นปั่นกระแสจากหลักร้อยปั่นเป็นหลักล้านตามที่หลายฝ่ายทราบดีจึงต้องรณรงค์ให้เกิดความรู้เท่าทัน และแนวทางที่สามคือ การใช้การชี้แจงด้วยเหตุผลและหลักฐานชนะใจกลุ่มพลังเงียบ ถึงแม้ว่ากลุ่มตั้งตนเป็นฝ่ายตรงข้ามจะไม่ยอมรับการชี้แจงที่พวกเขาจะมองว่าเป็นการแก้ตัวก็ตาม แต่ก็ต้องชี้แจงไม่ใช่เดินหนีเพราะจะเสียกลุ่มคนไปสองกลุ่มหรืออาจจะเสียกลุ่มเคยอยู่เป็นพวกไปด้วยก็ได้