ไม่พบผลการค้นหา
ชนวนที่นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด 6 ต.ค. 2519 ที่สำคัญคือ 'จอมพลถนอม กิตติขจร' ได้บวชเป็นสามเณรกลับไทย โดยบันทึกรายงานการประชุมสภาฯ ได้อภิปรายญัตติด่วนถึงความรับผิดชอบของรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในการรักษาความสงบของประเทศจากการกลับมาของผู้นำเผด็จการ ที่สุดนายกฯจาก ปชป.ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกกลางสภาฯ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 12 ครั้งที่ 12/2519 (สามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 23 ก.ย. 2519 ณ ตึกรัฐสภา ได้เริ่มต้นการประชุมเมื่อเวลา 09.05 น. การประชุมครั้งนั้น อุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีกิจธุระจำเป็น ทำให้ มงคล สุคนธขจร รองประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่แทน 

โดยวาระการประชุมครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญ ถึงการเสนอญัตติด่วนเพื่อซักถามรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถึงการการกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2519 ของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้บวชเป็นสามเณรจากสิงคโปร์ และตรงไปยังวัดบวรนิเวศฯ เพื่อบวชเป็นภิกษุ โดยได้นามว่า "สุกิตติขจโร"

การกลับมาของจอมพลถนอมในครั้งนี้มีสาเหตุคือเยี่ยมอาการป่วยของบิดา และเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ขบวนการนักศึกษาที่นำโดยศูนย์นิสิตและแนวร่วมต้านเผด็จการแห่งชาติเคลื่อนไหวคัดค้านทันที

ดาวสยาม 6 ตุลาคม ถนอม 331008.jpg


AFP-เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519-ธรรมศาสตร์หกตุลา.jpg

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของผู้แทนราษฎรชุดที่ 12 ได้ปรากฏผ่านรายงานการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2591 ซึ่งได้บันทึกคำอภิปรายของ ส.ส.ชุดนั้นโดยบรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด และ ส.ส.พรรครัฐบาลยังโจมตีนายกรัฐมนตรีของตัวเองที่ปล่อยให้ จอมพลถนอม กลับเข้าประเทศจนนำไปสู่การประท้วงเป็นวงกว้าง

โดยก่อนเข้าสู่ญัตติด่วน นั้น เปรม มาลากุล ณ อยุธยา ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคสยามใหม่ ได้ตั้งกระทู้ถามด่วนก่อนโดยถาม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงการที่รัฐบาลอนุญาตให้ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาในประเทศไทยได้ โดยถามว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ต่อประชาชนเมื่อครั้ง จอมพล ประภาส จารุเสถียร เดินทางเข้ามาในประเทศไทยว่าจะดำเนินการตามกฎหมายไว่ว่าจะเป็นจอมพลถนอม หรือใครก็ตาม แต่รัฐบาลมิได้ดำเนินการ

เปรม ถามต่อว่า การเดินทางเข้ามาครั้งนี้ รัฐบาลทราบหรือไม่ว่าก่อให้เกิดปฏิกิริยาของนิสิตนักศึกาาและประชาชนที่จะต่อต้าน และ ทราบหรือไม่ว่การเดินทางเข้ามาโดยเอาผ้าเหลืองอันสูงส่งของศาสนา จะเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์ใจ และบรรดานิสิตนักศึกษาประชาชนผู้ที่เกลียดชังบุคคลผู้นี้ ซึ่งได้ร่วมกันสั่งฆ่าพี่น้องเพื่อนฟููงของเขาจะยอมอภัยให้ ท่านทราบเช่นนี้แล้วจะแก้ไขอย่างไร

ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ชี้แจงกระทู้ถามด่วนดังกล่าวว่า เบื้องต้นเป็นปัญหาว่ารัฐบาลได้อนุญาตให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เวลานี้บวนเป็นพระภิกษุ สุกิตติขจโร ได้เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่นั้น ขอเรียนว่าเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้อนุญาต เข้ามาเองก่อน แต่ก่อนแต่ไรมาก่อนจะมา 2-3 ครั้ง ท่านได้เคยติดต่อมาว่าอยากจะเข้ามาเมืองไทย เราก็บอกไปว่าความเห็นของเราอย่าเข้ามาเลย เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ แต่คราวนี้ไม่ได้บอกกล่าวเข้ามาเฉยๆ 

"กระผมทราบข่าวเมื่อตอนเช้าวันที่ 18 ก.ย. 2519 ว่าจะเข้ามา แต่ตอนนั้นยังไม่แน่และรุ่งขึ้นนก็มีข่าวว่าจะยังไม่มา เพราะแท้ที่จริงเป็นการสับเครื่องบินแรกว่าจะมาเครื่องบิน แอร์ สิงคโปร์ แล้วไปสับกันเป็นเจแปนแอร์ไลน์ของญี่ปุ่น ข่าวก็ยังสับสนอยู่ แต่ว่าไม่ได้อนุญาตให้เข้ามาแน่ครับ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะว่ารัฐบาลได้รู้เห็นเป็นใจในการเข้ามาก็ไม่ถูก"

ม.ร.ว.เสนีย์ ยังชี้แจงถึงการที่รัฐบาลได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหาทางออก โดยในทางรัฐศาสตร์ จะขอให้มีการติดต่อกับท่านพระภิกษุ ว่าจะทางท่านจะออกไปจากประเทศได้หรือไม่ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดย คณะรัฐมนตรีได้ตกลงกันว่าให้ดำเนินการชั้นนี้ก่อน ส่วนปัญหาเรื่องคดีความตามกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามกระบิลเมือง

"ในชั้นนี้ก็ได้มีการตกลงกันว่าจะให้ดำเนินการ พยายามให้ท่านออกไปจากเสีย ไปจากการเมืองนี้ เพื่อจะป้องกันนมิให้มีเกิดเหตุร้ายเกิดขึ้น สำหรับการประท้วงนี้รัฐบาลต้องยอมรับรู้อีกว่าตามรัฐธรรมนูญสิทธิของบุคคลที่เขาจะทำการประท้วง เขาทำโดยสงบ โดยปราศจากอาวุธ เขาก็มีสิทธิจะทำได้ ถ้าเผื่อว่าถึงขั้นรุนแรง ได้มีการทำลายความสงบของบ้านเมือง ทำผิดกฎหมายใดๆ ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจต้องจัดการป้องกัน" ม.ร.ว.เสนีย์ ระบุ

ถนอม กิตติขจร 6 ตุลาคม 2519 vMjAxOC0xMC8xYTM0ZjZhYmM3MjkyMTE3OTAwYmE2M2EyYTgxOWI5Zi5qcGc=.jpg

สภาถกญัตติด่วน 'แคล้ว'ชี้ 'ถนอม' กลับไทยเปิดช่องรัฐประหาร

จากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติด่วนเรื่อง จอมพลถนอม ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ของ ชุมพล มณีเนตร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาธิปไตย เป็นผู้เสนอ ญัตติด่วนเรื่องให้รัฐบาลแถลงถึงมาตรการในการรักษาความสงบเนื่องจากการที่ จอมพล ถนอมเดินทางมาอุปสมบทในประเทศของ แคล้ว นรปติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เป็นผู้เสนอ รวมทั้งยังพิจารณาญัตติใหม่ที่เสนอเข้ามาของ มานะ พิทยาภรณ์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคกิจสังคม บรม ตันเถียร ส.ส.พังงา พรรคกิจสังคม ดิเรก หลักคำ ส.ส.อุดรธานี พรรคกิจสังคม ชัชวาล ชุติมา ส.ส.เชียงใหม่ พรรคกิจสังคม และอำพล พันธุ์ประสิทธิ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคกิจสังคม  ที่เพิ่งเสนอญัตติด่วนเรื่องให้รัฐบาลแถลงถึงมาตรการในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เนื่องจากจอมพลถนอมเดินทางเข้ามาในประเทศ

ทั้งนี้ แคล้ว นรปติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้อภิปรายถึงการที่จอมพลถนอมเดินทางเข้ามาอุปสมบทในประเทศไทย โดยตนได้เสนอญัตติด่วนมากเพื่อให้รัฐบาลแถลงให้ประชาชนได้ทราบว่าเนื่องจากจอมพล ถนอม ได้บวชเณรแล้วเดินทางเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2519 แล้วนั้น มีเค้าส่อสว่าจะเกิดการต่อต้านเกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศไทย จึงขอทราบนโยบายของรัฐบาลต่อการเข้ามาในประเทศของจอมพล ถนอมว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งขอให้รัฐบาลแถลงถึงมาตรการป้องกันการรัฐประหาร อันหากจะมีฝ่ายอื่นใช้การเข้ามาของจอมพล ถนอมเป็นเครื่องมืออีกด้วย

"กระผมเพิ่งได้ทราบว่าตั้งแต่ท่าน (จอมพลถนอม) ได้ออกไปเมื่อ พ.ศ.2516 วันที่ 16 แล้ว ท่านได้ลักลอบเข้ามาถึง 2 ครั้งแล้วครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งที่ 1 ไม่มีใครรู้หรอกครับ ครั้งที่ 2 มีคนทราบในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็สกัดกั้นกันไว้ที่ดอนเมือง อยู่ได้ไม่ทันข้ามคืนก็ส่งกลับไปนอกประเทศตามเดิม รัฐบาลสัญญาในสมัยนั้นได้ใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของประชาชน" แคล้ว ระบุ

แคล้ว อภิปรายตอนหนึ่งด้วยว่า "จอมพลถนอม เข้ามาในประเทศไทยครั้งนี้ ได้อาศัยช่องว่างวัฒนธรรมอันล้ำเลิศของไทย นั่นคืออ้างว่าได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อเยี่ยมบิดา บิดาป่วยหนัก แล้วอีกประการหนึ่งได้อาศัยผ้าเหลืองคุ้มตัวมาในฐานะสามเณรมีคนภายในประเทศ ญาติๆ จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว พอลงเครื่องบินก็ตรงแน่วไปโน่นทันทีวัดบวรนิเวศวรวิหาร" 

"เข้ามาแค่นี้ก็แตกแยก ประชาชนแบ่งแยกออกกันเป็นหลายฝักหลายฝ่าย ในสภาฯของเราก็แตกแยก ใน ครม.ก็แตกแยก ประชาชนก็แตกแยกระส่ำระสาย นี่จะเป็นสะพานทอดให้เกิดการรัฐประหาร ไม่ใช่ปฏิวัติ เกิดการรัฐประหาร จะแสดงให้เห็นว่าสมรรถภาพเสถียรภาพของรัฐบาลนี้อ่อนแอ แล้วฝ่ายที่ชอบรัฐประหารมุ่งต่อการรัฐประหารอยู่ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยก็จะเข้ามารัฐประหาร ถนอม ประภาส เป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้นท่านประธาน มันจะเป็นอย่างนี้แน่นอน" แคล้ว อภิปราย

แคล้วเสนอให้รัฐบาลดำเนินการทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้จอมพล ถนอม ออกนอกประเทศให้จงได้ เพราะความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด

เสนีย์ ถนอม ไทยรัฐ 6ตุลาคม2519 -4884-4AC9-A469-1C3FB85D42B5.jpeg

'หม่อมพี่' ย้ำเนรเทศทันทีไม่ได้ หวั่นขัด รธน.

จากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ชี้แจงญัตติด่วนถึงกรณีที่รัฐบาลไม่ทำการป้องกันไม่ให้จอมพลถนอมเข้ามาประเทศไทย โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญนี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2517 จอมพลถนอมตอนนั้นเข้ามาก่อนและสมัยนั้นยังมีมาตรา 17 ใช้บังคับอยู่ ถ้าตนจำไม่ผิด แต่ว่าตอนนี้เราได้ออกรัฐธรรมนูญนี้มาใช้ ก็ติดขัดในข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าคนไทยนั้นมีสิทธิที่จะเดินทางเข้ามาเมืองไทย และจะไปเนรเทศเขาก็ไม่ได้ อันนี้เป็นอุปสรรคที่รัฐบาลไม่มีทางที่จะจัดการป้องกันไม่ให้จอมพลถนอมเข้ามา

"จอมพลถนอมเข้ามาครั้งนี้เพื่อจะเยี่ยมบิดามาให้บิดาเห็นอานิสงส์ของชายผ้าเหลือง แล้วความมุ่งหมายก็เมื่อได้เยี่ยมเยียนกันแล้ว ตลอดถึงได้ปฏิบัติภารกิจอย่างอื่นเสร็จเรียบร้อยก็จะได้นิมนต์ออกไป แต่ว่าถ้อยคำอาจจะกำกวมอยู่บ้าง อันนี้ขอรับ การที่ท่านเข้ามามีการแตกแยก อันนี้กระผมรับครับ ปฏิเสธไม่ได้ความเป็นจริง และเป็นข้อที่รัฐบาลนี้วิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ปฏิเสธไม่ได้ แล้วก็ความรู้สึกต่างเหล่าต่างฝ่ายเป็นอย่างนี้ ก็แตกแยก"

ไม่เชื่อ 'ทหาร' จะรัฐประหาร เหตุ 3 ปีไม่มีวี่แววก่อการ

ม.ร.ว.เสนีย์ ยังข้อคำถามที่ว่าต่อไปจะเกิดรัฐประหารหรือไม่ว่า นับตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์ ต.ค. 2516 แล้วทหารสมัยนี้เท่าที่ตนได้สังเกตเห็นมาก็มีความสำนึกในข้อนี้ว่าประชาชนนี่เป็นหลัก อำนาจอธิปไตยอันแท้จริงอาจจะมีบ้างบางคนอาจจะคิดกระทำเช่นนี้ 

"3 ปีล่วงมาแล้วก็ยังไม่มีวี่แววที่ทหารจะทำการแบบเก่าๆ กระผมจึงยังเชื่อว่ารัฐประหารทางด้านทหารคงจะไม่มี" ม.ร.ว.เสนีย์ ยืนยันกลางสภาฯ

นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำด้วยว่า "กระผมอยู่ในพรรคการเมืองที่ค้านเผด็จการมาตลอดเวลานาน ก็ขอรับประกันว่าในจิตใจไม่ได้มีที่จะเข้าข้างฝ่ายใด มีแต่จะเข้าข้างประชาชนเท่านั้น"

รับปากสภาจะนิมนต์ 'พระถนอม' ออกประเทศโดยเร็ว

"ขณะนี้เรากำลังคิดว่าจะดำเนินนโยบายที่จะนิมนต์ท่านออกไปโดยเร็วที่สุด ถ้าสามารถจะทำได้ นี่ก็สมประสงค์กับข้อเสนอของท่านสมาชิกอีกท่านหนึ่ง คือคุณ ไพฑูรย์ วงศ์วานิช ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ว่าควรจะทำการทุกวิถีทางควรที่จะให้ท่านออกไปโดยเร็วที่สุด นี่ก็เป็นความประสงค์ของรัฐบาลเหมือนกัน"

'วีระ' ถล่มรัฐบาลตัวเองเมินกฎหมายจำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภท

จากนั้น วีระ มุสิกพงศ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น ส.ส.ในสังกัดพรรครัฐบาล ได้อภิปรายสนับสนุนความเห็นของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและความเห็น ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยชี้ว่าการบวชครั้งนี้ของจอมพลถนอม ไม่ใช่อยู่ที่การตั้งใจจะพึ่งพระศาสนา ไม่ใช่บวชเพราะเลื่อมใสศรัทธา แต่เป้าหมายของการบวชของจอมพลถนอมนั้น ทุกคนเห็นตรงกันว่าเพื่อพึ่งจีวรของพระเท่านั้น เป้าหมายอยู่ที่ต้องการเอาชนะรัฐบาลชุดนี้ ให้รู้ว่าฉันจะเข้า ฉันจะต้องเข้าให้ได้

"ความผิดของจอมพลประภาส จอมพลถนอมนั้น หนักหนาสาหัสสากรรจ์ มีตั้งแต่ก่อน 14 ต.ค. 2516 คุณแคล้ว ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าบุคคลผู้นี้ได้ร่วมกับผู้ปฏิวัติกระทำการรัฐประหารตลอดมา บุคคลนี้เป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการ" วีระ ย้ำ

ในช่วงท้าย วีระยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในขณะนั้นด้วยว่า รัฐบาลมีความจริงใจกับประชาชนเพียงใดแค่ไหนนั้น ตนอยากจะถามเมื่อกี้นี้มีคนได้พูดถึงว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เสนอกฎหมายให้จำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภท ซึ่งความจริงก็มี 3 คนเท่านั้น ให้รัฐบาลชี้แจง รัฐบาลบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสมาชิก รัฐบาลไม่เกี่ยว ตนอยากจะเห็นความจริงใจของรัฐบาล โดยต้องการชี้ให้เห็นว่าถ้าสมาชิกเสนอกฎหมายนี้เข้าสภาล่าช้ามาก ถ้ารัฐบาลนี้จริงใจรัฐบาลนี้ทำเพียงอย่างเดียวเท่านั้นลุกขึ้นตอบว่ารัฐบาลจะเอาร่างกฎหมายนี้เสนอเข้าสู่สภาในนามของรัฐบาลเองให้มันชัดเจนอย่างนี้จะได้หรือไม่

"และก็ขอให้พูดไปถึงพระเหมือนกัน บัดนี้ก็เลยเพลแล้วก็คงจะมีเวลาฟังวิทยุ อยากจะบอกคำเดียวว่า ถ้ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เหมือนปากพูด ไปเสียเถอะครับ มิฉะนั้นแล้วเป็นอาบัตินะครับ" วีระ อภิปรายสรุปปิดท้าย

เสนีย์ ปราโมช ดาวสยาม 6 ตุลาคม -FE12-47E8-8385-B87764B48F14.jpeg

(นสพ.ดาวสยาม รายงานการลาออกนายกฯ ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช)

เสนีย์ ปราโมช ลาออกนายก 6 ตุลาคม 2519 -7B24-4E31-B95D-A2C04265750A.jpeg

(รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2519)

'เสนีย์' แสดงสปิริตขอลาออกนายกฯกลางสภา รับผิดที่ตัวเองปล่อย 'ถนอม' กลับไทย

จากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ใช้สิทธิชี้แจงตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ถึงการจำกัดเสรีภาพของคนที่จะมาอยู่ในประเทศไทยนั้น ซึ่งตามมาตรา 47 วรรคสองกำหนดให้ออกกฎหมายมาจำกัดได้เพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสวัสดิภาพของประชาชนหรือการผังเมือง แต่ที่ตนเห็นเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรนั้นจะกระทำมิได้อยู่ในวรรคสาม ซึ่งไม่มีข้อแม้เงื่อนไขให้ออกกฎหมายไม่ได้

"ผมได้ฟังหมดแล้วครับทั้งหมดนี่ ก็เห็นจะอยู่ที่ตัวผมนี่แหละเป็นสำคัญ หลายท่านก็แสดงออกมาว่าไม่ไว้วางใจ ผมรับจะไปพิจารณาตัวเองจะยื่นใบลาออกบ่ายวันนี้ครับ ขอบคุณ" ม.ร.ว.เสนีย์ ประกาศลาออกหลังถูก ส.ส.ในสภาฯ อภิปรายโจมตีถึงการเปิดทางให้จอมพล ถนอม กลับเข้าประเทศได้

'ชวน' ชี้เข้าทางฝ่ายที่ต้องการให้นายกฯ ลาออก

จากนั้น ชวน หลีกภัย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ โดยเห็นว่า รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ในปัญหาที่เกิดขึ้นว่ารัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ หากว่าจะมีความบกพร่อง ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาล ตนไม่เชื่อว่าความผิดพลาดนั้นเกิดเพราะความแก่ของบุคคลซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี 

"กระผมคิดว่าคำประกาศของท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อสักครู่นี้ที่จะลาออกนั้นคงจะได้เป็นที่สมใจของผู้ที่ประสงค์จะให้เกิดขึ้นอย่างนี้ ท่านประธานครับ กระผมไม่เชื่อไม่คิดว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะได้ตัดสินใจไปโดยใช้วิจารณญาณที่สุขุมรอบคอบเพียงพอแล้ว การยอมแพ้ง่ายๆ กับฝ่ายผู้ที่พยายามจะให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ เท่ากับเป็นการขยับที่ให้กับโจรเข้ามานั่งอีกครั้งหนึ่ง อาจจะสมใจท่านสมาชิกที่ได้ร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีลาออก แต่กระผมคิดว่าการลาออกของท่านนายกรัฐมนตรีนั้นเสมือนหนึ่งการไม่ยอมรับที่จะสู้แก้ปัญหานี้ต่อไป กระผมคนหนึ่งที่อยู่ร่วมรัฐบาลชุดนี้ ไม่เห็นด้วย กระผมอยากจะกราบเรียนนท่านประธานว่า ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับ คนที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นั้น คือการที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวบ้างเพื่อให้ทางบ้านเมืองเกิดความสงบสุข" ชวน อภิปราย

ทั้งนี้ ชวน ยังเรียกร้องไปถึงจอมพลถนอมที่บวชเป็นพระภิกษุว่า "ถ้าท่านจะเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ยอมสละความสุขส่วนตัวเพียงเล็กน้อย เพื่อให้บ้านเมืองนี้อยู่ด้วยความสงบ ออกไปจากประเทศไทยโดยไม่ต้องมีการใช้วิธีการอื่นนอกเหนือไปจากนี้ กระผมคิดว่าทำได้"

x

x

เสนีย์ ปราโมช hai_cabinet_no.38.jpg

(คณะรัฐมนตรีชุดที่ 38 เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน)

การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ ม.ร.ว.เสนีย์ แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ก็ได้กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 4 อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2519 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 38 ซึ่งเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่เกิดกระแสต่อต้านการกลับมาของ จอมพลถนอม 

การลาออกนายกรัฐมนตรีของ ม.ร.ว.เสนีย์ เมื่อวันที่23 ก.ย. 2519 ไม่สามารถคลี่คลายวิกฤตได้ เพราะได้เกิดกระแสต่อต้านจอมพลถนอมบานปลายไปทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม และเป็นสมาชิกแนวร่วมประชาชน ซึ่งติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม ได้ถูกคนร้ายฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ต.พระประโทน จนกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขข้อเรียกร้องจากศูนย์นิสิตฯ ให้รัฐบาลเร่งจับตัวคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว

เหตุการณ์ดังกล่าวยังลุกลามเป็นชนวนสำคัญนำไปสู่การนองเลือดในวันที่ 6 ต.ค. 2519 เมื่อเกิดการสังหารนิสิต นักศึกษาและประชาชน อย่างโหดเหี้ยมกลางเมืองหลวงของประเทศ

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2519 ก็ทำหน้าที่ได้เพียง 1 วันเท่านั้น เพราะถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ ในวันที่ 6 ต.ค. 2519

ประเทศไทยต้องกลับเข้าสู่วังวนของการถอยหลังทางประชาธิปไตยอีกครั้ง และรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ก็มีอายุเพียง 12 วันหลังได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้ได้รับฉายาว่า "รัฐบาลวันเดียว"

อ้างอิง

  • รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 12 ครั้งที่ 12/2519 (สามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 23 ก.ย. 2519
  • https://doct6.com/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง