ไม่พบผลการค้นหา
'ทิวา' อดีตสมาชิก สปช. ย้ำผ่านจดหมายเปิดผนึก ปม กมธ.ป.ป.ช. ไล่บี้ 'ประยุทธ์ - ประวิตร' แจงถวายสัตย์ฯไม่ครบ ยกคำวินิจฉัยศาล รธน.เคยยกคำร้อง - บทบัญญัติ รธน. ไม่จำเป็นต้องถวายสัตย์ฯให้ครบถ้วน เหตุ รธน.ไม่ได้กำหนดเหตุถวายสัตย์ฯ ไม่ครบจนทำให้ ครม.ทำหน้าที่ไม่ได้ แนะนายกฯ - รองนายกฯไม่ต้องเข้าแจง กมธ.

นายทิวา การกระสัง ทนายความ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก กรณีกรรมาธิการมีอำนาจเรียกนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีไปชี้แจงกรณีถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ในหมวด 8 คณะรัฐมนตรีมีบัญญัติไว้ในมาตรา 158 ถึง 183 ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นคือ มาตรา 161 ซึ่งบัญญัติว่า “ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิภาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

นายทิวา ระบุว่า เหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า การแถลงสัตย์ที่มีข้อความไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้สถานะของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ไม่อาจเข้ารับหน้าที่ได้ตามมาตรา 161 วรรคแรก หรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีในหมวด 8 ไม่มีบทบัญญัติแห่งมาตราใด หรือข้อความใดกำหนดว่า หากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่กล่าวคำถวายสัตย์ตามข้อความที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ 

"ใช้ภาษาพูดทั่วไปก็คือ การเป็นนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ไม่มีผลสมบูรณ์ ซึ่งโดยทั่วไป หากกฎหมายมีเจตนากำหนดให้กิจกรรมใด ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดจะมีผลทำให้กิจกรรมนั้นเป็นโมฆะ หรือไม่สมบูรณ์กฎหมายต้องกำหนดไว้ เมื่อกฎหมายไม่กำหนดไว้ ถือว่ากิจกรรมนั้นได้กระทำแล้ว ถึงแม้จะไม่กระทำตามกฎหมายกำหนดไว้โดยสมบูรณ์ ดังนั้น ถึงแม้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะกล่าวคำถวายสัตย์โดยมีข้อความไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าหากไม่ทำตามนั้นแล้ว นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงถือว่าการแถลงสัตย์ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้ว และมีผลสมบูรณ์" นายทิวา ระบุ 

นายทิวา ระบุว่า กรณี พล.ต.อ.สรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พยายามใช้เหตุนี้ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จึงเป็นการใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่ใช้กฎหมายและรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย อีกทั้งข้อเท็จจริงนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยไว้ในเรื่องพิจารณาที่ ต.37/2562 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 เวลา 17.45 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแทนดิน 

และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 เวลา 09.00 นาฬิกา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีเข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเผ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณะอักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์การตามรัฐธรรมนูญใด ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47 (1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”

ดังนั้น คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร เป็นองค์การหนึ่งของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ดังนั้น คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นประธานฯ จึงไม่สามารถใช้อำนาจของประธานกรรมธิการ เรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถวายสัตย์ และจะนำเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2563 ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การถวายสัตย์ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ดังนั้น การใช้ดุลยพินิจของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการเรียกนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ไปชี้แจง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"ด้วยเหตุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ วินิจฉัยข้างตน นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี จึงไม่ควรไปชี้แจงข้อเท็จจริงนี้ต่อคณะกรรมาธิการฯ และไม่ควรที่จะส่งบุคคลอื่นหรือชี้แจงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพัน คณะรัฐมนตรีด้วย หากนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีไปชี้แจงก็จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นเดียวกัน" นายทิวา ระบุ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง