ไม่พบผลการค้นหา
ความหวังอาจริบหรี่ แต่ สมาคมสะมาริตันส์ "เพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์" ยืนยันว่า เราจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง ที่สำคัญอย่าไปตราหน้าชี้ถูกชี้ผิดใคร โดยไม่เข้าใจบริบทในชีวิตเขา

ช่วงเวลานี้หากคุณกำลังเผชิญกับความท้อแท้ เจ็บปวด ยากลำบาก มองซ้ายแลขวาหาที่พึ่งพาไม่ได้ คิดไว้ซะว่าคุณยังมีสมาคมสะมาริตันส์ "เพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์" ที่พร้อมให้คำปรึกษาและพยุงหัวจิตหัวใจคุณเสมอ

"ถ้าเรามีความหวัง เราก็จะสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้" ตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์บอก

3 สัปดาห์ที่ผ่านมานับจากปลายเดือน มี.ค.มีผู้ติดต่อ 'สะมาริตันส์' เพื่อระบายความทุกข์และตัดพ้อว่า "ไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้ว" เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทบทั้งหมดล้วนมีปัญหาเดียวกันคือเรื่อง 'เศรษฐกิจ'


ร้อยละ 95 กลัวอดตาย ท้อแท้

ปลายเดือน มี.ค. 'สมาคมสะมาริตันส์' รับฟังความทุกข์จากผู้คนผ่านทางช่องทางต่างๆ นับเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากปัญหาโควิด-19 ราว 10 สาย ก่อนเพิ่มขึ้นถึง 30 สาย ในสัปดาห์นี้ (15 เม.ย.) และคาดว่าจะพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ในสัปดาห์ถัดไป

"ร้อยละ 95 ของสายที่ติดต่อเข้ามา มีความกังวลด้านเศรษฐกิจ จะทำมาหากินต่อไปยังไงในภายภาคหน้า ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน แต่ตัวเองตกงานไม่มีรายรับ ไม่สามารถค้าขายได้ตามปกติ อีกร้อยละ 5 เป็นความกังวลต่อโรค" ตระการบอกว่า ผู้ตกเป็นทุกข์อยู่ในกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 30-45 ปี

โควิด19-คนไทย-วัยทำงาน-ประกันสังคม-พนักงานออฟฟิศ-WFH-work from home

นายกสมาคมสะมาริตันส์ เล่าว่า ประเทศไทยในปี 2539 มีผู้คนโทรมาระบายความทุกข์จากปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว กับสะมาริตันส์ ราว 6,000 คน อย่างไรก็ตาม พอถึงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือ 'ต้มยำกุ้ง' สายโทรศัพท์พุ่งขึ้นไปแตะหลักหมื่น

"เรามองว่าโควิด-19 อาจจะแย่กว่าต้มยำกุ้ง เพราะมันกระจายไปในวงกว้าง มีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และจิตใจ"

เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา "สำนักวิจัยซูเปอร์โพล" เผยเเพร่ผลสำรวจเรื่อง การควบคุมโรคโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.4 กลัวปัญหาปากท้อง กลัวไม่มีจะกิน หากินขัดสน มากกว่า กลัวปัญหาโรคระบาด ในขณะที่ร้อยละ 22.6 กลัวโรคระบาดมากกว่า


อย่าตราหน้าชี้ถูกผิดใคร

ช่วงเวลายากลำบากแบบนี้ สะมาริตันส์ เห็นว่า หน้าที่สำคัญของคนในสังคมคือการ "พยุงอารมณ์และให้ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์รอบข้าง" เพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายไปด้วยกัน

"เราอาจไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจหรือด้านธุรกิจ สิ่งที่เราทำได้คือการเป็นเพื่อนในยามที่คนรู้สึกสิ้นหวัง ไม่เห็นอนาคตและไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เราต้องทำให้เขารู้ว่าเราพร้อมจะอยู่เคียงข้าง เข้าใจและเห็นอกเห็นใจเขา"

สัมภาษณ์คิดฆ่าตัวตายช่วงโควิด

'ตระการ' ย้ำว่าไม่ควรสั่งสอน เอาตัวอย่างของตัวเองหรือผู้อื่นมาเปรียบเทียบ เพราะแม้จะเผชิญปัญหาร่วมกัน แต่บริบทในชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่าง

"ช่วงนี้อาจมีบางคนแนะนำให้คุณไปทำอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วจะดีจะรอด แต่ถ้าคุณไม่ทำหรือทำไม่ได้ นั่นไม่ได้แปลว่าคุณไม่เก่ง ไม่สู้ หรือขี้เกียจ"

"การตัดสินผู้อื่นโดยไม่เข้าใจบริบทในชีวิตเขา ไม่เพียงแต่ไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้ แต่ยังเท่ากับผลักให้คนนั้นห่างไกลออกไปจากคุณ"

ไม่มีคำพูดให้กำลังใจแบบเฉพาะเจาะจง แต่หลักสำคัญคือ จริงใจ เป็นมิตร รับฟัง ยอมรับสถานะที่เขาเป็น และแน่นอน 'ไม่สั่งสอน'

"ที่เหลือจากนั้นมันจะง่ายครับ" ตระการบอก ทางออกจะค่อยๆ ปรากฏผ่านสติและการพิจารณา


คุณต้องเลือกที่จะหวัง

"Once you choose hope anything is possible เมื่อคุณเลือกที่จะอยู่โดยมีความหวังนั่นก็หมายความว่าอะไรก็เป็นไปได้ในชีวิตคุณ" คำพูดจาก คริสโตเฟอร์ รีฟ นักแสดงชื่อดังผู้ล่วงลับ คือประโยคที่ตระการเอ่ยถึงในสถานการณ์ปัจจุบัน

"วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตที่คนทั้งโลกเผชิญร่วมกัน สิ่งที่คุณกำลังเผชิญ ทุกคนก็เผชิญร่วมกัน อยากให้หลายท่านทราบว่า คุณไม่ได้เผชิญทุกข์อยู่อย่างโดดเดี่ยว ขณะที่คนรอบข้างเอง หากเป็นไปได้ เราช่วยเป็นกำลังใจ เป็นความหวังให้กันและกันดีกว่า"

"แม้ความหวังอาจจะมีไม่มาก แต่ตราบใดที่เรายังยึดมั่น ยังเลือกที่จะมีความหวัง มันสามารถที่จะผลักดันเราไปข้างหน้าได้" นายกสมาคมสะมาริตันส์กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้มีปัญหา สะมาริตันส์ พร้อมจะรับฟังและจะเก็บเรื่องของคุณเป็นความลับ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร โทร 02-713-6793 หรือส่งข้อความไปที่เฟซบุ๊กเพจสะมาริตันส์


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog