ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย เน้นมาตรการป้องกัน ปราบปราม และเยียวยา เพื่อคุ้มครองสิทธิทุกคนที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1)ให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

2)เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันปราบปราม และ

3)เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว รวมถึงการขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและสร้างหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชาชน 

เนื่องจากปัจจุบันยังมีการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ และมีการร้องเรียนไปยังสหประชาชาติโดยเฉพาะประเด็น การงดเว้นโทษ (Impunity)ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับยังไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกันและการเยียวยากรณีการกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย

กระทรวงยุติธรรมจึงได้ตราร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเป็นมาตรการสำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่

โดยร่างพระราชบัญญัติฯนี้ เป็นการกำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรการป้องกัน การเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิดดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น

1)กำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ซึ่งสามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีได้

2)กำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก เว้นแต่กรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนแทน

3)กำหนดระวางโทษความผิดฐานกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เช่น ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากกรณีผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 300,000 บาท และกรณีผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 400,000 บาท ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติฯนี้

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้ เมื่อวันที่ 4 – 31 ธันวาคม 2562 ผ่านเว็บไซต์และจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการใน 4 ภูมิภาค พร้อมทั้งเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายต่อประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และลำดับต่อไปหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ในวันนี้ จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

อ่านเพิ่มเติม