ผลกระทบจากการแพร่ระบาดระของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่เรากำลังเผชิญในขณะนี้ ไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงเฉพาะบุคคลผู้ถือสัญชาติไทย หากแต่หมายรวมถึงบุคคลทุกสัญชาติ โดยเฉพาะแรงงาน/เด็กข้ามชาติ ที่ต้องตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน หรืออาจเรียกได้ว่า อยู่ในสถานะที่ยากลำบากมากกว่า เนื่องจากความเป็นอื่นที่อาจไม่ได้รับการตระหนักถึง
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ Migrant Working Group (MWG) ร่วมกับองค์การช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (Save the Children) จึงจัดเวทีเสวนาออนไลน์ เรื่อง สถานการณ์การคุ้มครองเด็กข้ามชาติในวิกฤติโควิด-19: สถานการณ์ ผลกระทบ และทางออก โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน องค์กร และมูลนิธิด้านสิทธิมนุษยชนร่วมอภิปราย
เริ่มจากสภาพปัญหาและผลกระทบของแรงงาน/เด็กข้ามชาติใจกลางเมืองหลวง จากคำสั่งปิดแคมป์แรงงานพื้นที่เสี่ยงการระบาดในวงกว้าง หลินฟ้า อุปัชฌาย์ ผู้จัดการโครงการสื่อสารความเสี่ยงเรื่องโควิดในประชากรข้ามชาติ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision Foundation of Thailand) ได้ชี้ให้เห็นว่า การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐเองยังคงเป็นอุปสรรคพื้นฐานในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการรับมือกับโรคระบาด ทั้งจำนวนแคมป์แรงงานและจำนวนเด็ก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการรวบรวมโดยภาคเอกชนก็ยังพบความลักลั่นกันอยู่
สังคมจึงได้เห็นการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดระหว่างเดือนพ.ค. - ส.ค. 64 จากกรุงเทพมหานคร และศบค. ที่ดูเหมือนไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่แม่นยำในการใช้ประเมินสถานการณ์ จนนำมาสู่แนวทางการตรวจเชิงรุก (Sentinel Surveillance) และคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเร่งด่วนเพียง 1-2 วัน
คำสั่งที่กระทันหัน และดูไร้ทิศทางอันชัดเจนจากรัฐบาล กลายเป็นต้นตอของปรากฏการณ์ “ผึ้งแตกรัง” แรงงานจำนวนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาไปพร้อมกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้าหลังการประกาศด่วน ทำให้การควบคุมโรคระบาดในต่างจังหวัดทำได้ยากมากขึ้น ขณะเดียวกัน การสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างที่ไร้มาตรการเยียวยา ไม่เพียงส่งผลต่อแรงงานข้ามชาติที่ขาดรายได้ และเผชิญกับความไม่แน่นอนของชีวิต
แต่คือการถูกกักขังไว้หลังกำแพงสังกะสี เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน นี่คือ 4 เดือนของหญิงตั้งครรภ์ ที่ไม่สามารถออกไปพบหมอตามนัดได้ คือ 4 เดือนของเด็กบางคนที่ถูกจำกัดพื้นที่เหลือเพียง 3x3 เมตรให้พวกเขาได้ใช้ชีวิต ความแออัด และจำกัดจำเขี่ยของการใช้พื้นที่ ยังส่งผลให้เกิดปัญหา “เคสถั่วงอก” ซึ่งเป็นการติดเชื้อโควิด-19 จากคนในแคมป์ด้วยกันเองตามมาซ้ำอีก
เช่นเดียวกับ ปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรับบริการของกลุ่มเปราะบางนี้ ดังที่ชูวงค์ แสงคง เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย (Raks Thai Foundation) พูดถึงการเข้าไม่ถึงการบริการตรวจและรักษาโควิด-19 ของเด็กและแรงงานข้ามชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และยกตัวอย่างถึง ระบบการลงทะเบียนผู้ติดเชื้อของสปสช. ว่า ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แรงงานข้ามชาติกรอก
เพราะการลงทะเบียนต้องกรอกข้อมูลเป็นภาษาไทย และใช้เลข 13 หลักของบัตรประชาชน หรือเลขพาสปอร์ต แต่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่มีพาสปอร์ตที่รัฐบาลไทยจัดทำขึ้นเป็นกรณีพิเศษกับประเทศต้นทางนั้น จะมีรหัสเพียง 8 หลัก ไม่ได้มี 9 หลักแบบพาสปอร์ตทั่วไปของคนไทย ทำให้กลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงระบบสุขภาพของประเทศไทยในสถานการณ์ที่การระบาดรุนแรงขึ้น
พร้อมกันนี้ ชูวงค์ ยังตั้งคำถามอย่างแหลมคมว่า เหตุใดประเทศไทยมีกลุ่มสวัสดิการ อยู่ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มระบบข้าราชการ/ รัฐวิสาหกิจ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนคืนสิทธิ ระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว จึงยังไม่ครอบคลุมบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถ้วนหน้า
แน่นอนว่า เมื่อเด็กกลุ่มเปราะบางขาดโอกาสทางการศึกษา ช่องทางหนึ่งในการพึ่งพา คือ โลกออนไลน์ ทว่าก็ไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดย ศิขริน สิงห์สาคร ที่ปรึกษาด้านการคุ้มครองเด็กออนไลน์ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) อ้างถึงรายงานจากยูนิเซฟประเทศไทย ระหว่างปี 2019-2020 ที่มีการระบาดของโควิด พบว่า การเผยแพร่สื่ออนาจารเด็ก ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ใของหลายประเทศทั่วโลกมีผลต่อการแพร่กระจายของสื่อลามกอนาจารเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีรายงานสื่อลามกอนาจารเด็กกว่า 90 ล้านรายงาน
สำหรับประเทศไทย พบว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีรายงานสื่อลามกอนาจารเด็กกว่า 90 ล้านรายงาน สำหรับประเทศไทย พบว่า ในปี 2541-2560 มีรายงานการเผยแพร่สื่อลามกเด็กจำนวน 1.7 ล้านรายงาน หรือเฉลี่ย 89,500 ต่อปี อยู่ในอันดับ 3 ของโลก และมีรายงานเพิ่มสูงขึ้นในปี 2562 จำนวน 355,396 รายงาน และปี 2563 จำนวน 397,743 รายงาน หรือเฉลี่ยวันละ 1,089 รายงาน โดยทุก ๆ 1.25 นาที จะมีรายงานสื่อลามกเด็ก 1 รายงาน ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 93 และผู้เสียหายร้อยละ 55 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี
ดาราราย รักษาสิริพงศ์ ผู้ประสานงานสโมสรเพื่อเด็กเคลื่อนย้ายในแม่สอด (Smile-lay Youth Club Maesot) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรุนแรงต่อเด็กข้ามชาติในวิกฤติโควิด-19 เล่าถึงผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก ว่าการปิดโรงเรียน และจำกัดการเดินทาง ทำให้เด็กและเยาวชนเผชิญความเสี่ยงจากความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะโรงเรียนปิด ถูกคาดหวังจากผู้ปกครองให้ช่วยทำงานหารายได้ เนื่องจากผู้ปกครองบางส่วนรายได้น้อยลง เพราะถูกเลิกจ้าง เด็กต้องเข้าสู่ระบบการทำงาน
“พ่อแม่คาดหวังให้เด็กช่วยทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว เพราะปัญหาเศรษฐกิจมันเป็นเรื่องใหญ่มาก ในแม่สอด จะมีด่านตรวจคนไม่มีบัตรเต็มไปหมด ผู้ใหญ่เลยเสี่ยงที่จะถูกจับมากกว่า เลยไม่ออกไปไหน เด็กซึ่งเป็นเป้าน้อยกว่า โอกาสถูกจับน้อยกว่า เลยถูกใช้ออกไปทำงานเยอะขึ้น ทุกเคสที่เรารับแจ้ง 5-6 เคส อายุต่ำว่า 15 ปี ทั้งหมด มีทั้งลูกจ้างทำงานบ้าน ร้านขายของ เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ บางคนต้องทำงานกลางดึก บางคนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ตั้งแต่ 5 ทุ่ม ถึง ตี 2-3 ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่เลวร้าย และอาจทำให้เด็กตกเข้าไปเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์” ดาราราย เล่า
สถานการณ์ฝั่งตะวันตก จ.ตาก พรมแดนไทย-พม่า กินพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง ซึ่งมีจำนวนนักเรียนอยู่กว่า 60,837 คน พบว่า 39 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ คือ จำนวนเด็กไร้สัญชาติ นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบตัวเลขเด็กข้ามชาติ 720 คน หลุดออกจากระบบการศึกษาแบบพิเศษที่เรียกว่าศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติ (Migrant Learning Centres: MLCs) มีอยู่ 67 ศูนย์ทั่ว จ.ตาก จากปีการศึกษาที่ผ่านมา มีนักเรียนลงทะเบียน 11,329 คน เหลือ 9,369 คน ซึ่งคิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่หลุดหายไปจากโอกาสทางการศึกษา
“ทุกๆ วัน มีเด็กหายออกไปจากการศึกษา พวกเขาเดินทางกลับพม่าไปเรียนไม่ได้ ในขณะที่โรงเรียนในไทยก็ไม่สามารถเปิดได้ การเรียนการสอนแบบ Home-based Learning หรือการส่งครูเข้าไปสอนในชุมชนแบบปีที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มข้นขึ้น การเรียนออนไลน์ ดูเหมือนจะเป็นความหวังสุดท้าย แต่ก็มีอุปสรรคจากเงื่อนไขของครอบครัวข้ามชาติที่ไม่มีอุปกรณ์
หรือทุนมาสนับสนุนโทรศัพท์ให้เด็ก ผู้ปกครองบางคนยังใช้โทรศัพท์รุ่นโบราณ ขณะที่บางบ้านที่มีโทรศัพท์ ถ้ามีลูกมากกว่า 1 คนแล้วตารางเรียนตรงกัน ก็ไม่สามารถเรียนได้แล้ว เราไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลย” ศิราพร แก้วสมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน (Help without Frontiers Thailand Foundation) เล่า
ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน เสนอว่า สิ่งที่รัฐควรทำ คือ การทำให้เด็กได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการคุ้มครองโดยเร็วที่สุด ให้การสนับสนุนหน่วยงาน หรือภาคประชาสังคมให้สามารถเข้าถึงเด็ก และครอบครัวได้ ไปจนถึงการติดตามเด็กที่ออกเรียนกลางคัน หรือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และการมอบสถานะทางทะเบียนให้แก่เด็ก เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึก และติดตามเด็กเหล่านี้มากขึ้น
เมื่อประมวลแนวทางการลดผลกระทบและป้องกันกลุ่มเปราะบางดังกล่าวจากการระบาดของโควิด-19 จากวงเสวนาที่มีต่อภาครัฐ จะพบว่า ผู้แทนจากภาคประชาสังคมจากแต่ละมูลนิธิและองค์กรต่างเห็นพ้องในทิศทางเดียวกัน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะสั้น 1. ลดอุปสรรคและเงื่อนไขการเข้ารับบริการทางสาธารณสุข ผ่านการทบทวนระบบการช่วยเหลือ/ส่งต่อเคสอย่างเร่งด่วน 2. ไม่ควรนำข้อจำกัดจากระเบียบและกฎหมาย เช่น การ Work From Home หรือการกักตัว 14 วัน มาเป็นเหตุให้การบริการเป็นไปอย่างล่าช้า 3. เร่งแก้ไขปัญหากการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมการเข้าถึงเงินเยียวยาแก่เด็กและครอบครัวแรงงานที่มีความเปราะบางอย่างครอบคลุม 4. บังคับใช้กฎหมายเอาผิดเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์
ระยะยาว 1. ส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็วให้ครอบคลุมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะอย่างเท่าเทียมกันทั้งระบบ 2. กระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรให้ตรงความต้องการของท้องถิ่น ในด้านโอกาสทางการศึกษาจากบ้านหรือศูนย์ดูแลเด็กต่างชาติ 3. ควรกำหนดนโยบายที่มีทิศทางชัดเจน โดยผ่านการรับฟังความเห็นจากด่านหน้า ไม่ใช่การกำหนดนโยบายในลักษณะบนลงล่างเหมือนที่ผ่านมา 4. ควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการป้องกันกลุ่มเปราะบาง โดยการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเอกชน เพื่อให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบในภารกิจที่ภาครัฐทำไม่ไหว