ไม่พบผลการค้นหา
​ทีมโฆษกก้าวไกล จี้ คลังเยียวยาแรงงานนอกระบบ 14.5 ล้านคนให้เสร็จในสิ้นเดือน ยกเลิกการพิสูจน์ความทุกข์ยาก

ส.ส.พรรคก้าวไกล โดยทีมโฆษกพรรค นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร, นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายณัฐชา ​บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบ และเร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือยาวจำนวน 14.5 ล้านคนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้

นายณัฐชา อ่านแถลงการณ์ ระบุถึง กระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชนท่าล่าช้า ถือเป็นการซ้ำเติมให้ประชาชนรอคอยอย่างสิ้นหวัง ความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลที่ผิดสัญญาและดึงเวลาในการช่วยเหลือเยี่ยวยาออกไปเรื่อยๆ อย่างการให้ประชาชนยื่นอุทธรณ์ขอทบทวนสิทธิ์ เป็นเพียงการซื้อเวลาออกไปเท่านั้น โดยไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนว่า ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือเมื่อไหร่ และใช้เวลากว่า 1 เดือน ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้เพียง 4.2 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่วัตถุประสงค์ในการเร่งช่วยเหลือล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เกิดความผิดพลาดจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ถูกรัฐบาลปฏิเสธการช่วยเหลือด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง เช่นระบุเป็นเกษตรกรทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็น ระบุเป็นนักศึกษาทั้งๆ ที่เรียนจบมาหลายปีแล้ว 

ขณะที่นายวิโรจน์ กล่าวว่า การเยียวยาแรงงานนอกระบบ 14.5 ล้านคนเป็นบันไดขั้นแรก จากนี้ต้องเยียวยาเกษตรกรและ SMEs ที่ยังไม่มีรูปธรรมชัดเจน ส่วนที่ 3 คือ ผู้ไม่เข้าถึงระบบลงทะเบียนที่มีอยู่จำนวนมาก โอกาสนี้ได้ตั้งคำถามด้วยว่า คำว่าเราในโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาลมีประชาชนอยู่ในนั้นหรือไม่ หรือ "เรา" ในที่นี้ หมายถึงกลุ่มพวกพ้องของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นคำถามที่ประชาชนจำนวนมากฝากถามมาจากการลงพื้นที่ของ ส.ส.พรรคก้าวไกลด้วย

รวมถึงการชะลอซื้อรถหุ้มเกราะของกองทัพ ที่จะใช้งบประมาณปีถัดไปนั้นไม่เพียงพอ โดยเห็นว่า หากไม่ยกเลิกการซื้อก็ควรเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งน่าขบคิดด้วยว่า เมื่อรัฐบาลเลื่อนจ่ายเงินเยียวยาประชาชนไปได้เรื่อยๆ ทำไมจึงเลื่อนการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารไปเรื่อยๆ ด้วยไม่ได้ ที่สำคัญคือควรนำงบประมาณมาใช้ด้านการสาธารณสุขจนกว่าสถานการณ์โควิด -​19 จะคลี่คลายและใช้ในการฟื้นฟู พร้อมย้ำถึงหลักคิดของพรรคก้าวไกล ที่เห็นว่ารัฐบาลต้องใช้แนวคิดการจัดสรรงบประมาณ "ฐานศูนย์" หรือจัดลำดับความสำคัญโดยยึดจากความจำเป็น โดยส่วนที่ไม่จำเป็น ก็ไม่ควรกักงบประมาณไว้

ด้าน นายสุรเชษฐ์ กล่าวถึง พ.ร.บ.โยกงบประมาณ ปี 2563 ราว 1 แสนล้านบาทว่า เป็นวงเงินที่น้อยและล่าช้าเงินไป ซึ่งเชื่อว่า หากพิจารณาความจำเป็นจริงๆ สามารถตัดงบมาได้มากกว่านี้ ซึ่งพระก้าวไกลสนับสนุนให้ เปิดประชุมสภาวิสามัญเพื่อพิจารณาและพร้อมที่จะยกมือสนับสนุนการโยกงบฯมาใช้ในช่วงนี้ แต่ที่สำคัญคือ ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ให้ประชาชนค้นหาข้อมูลหรือเรียกร้อง อย่างเรื่องเรือดำน้ำหรือยานเกราะของกองทัพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ว่ามีโครงการอะไรบ้าง ถูกตัดไปแล้วและที่เหลืออยู่กี่โครงการ