ไม่พบผลการค้นหา
วิจัยกรุงศรี คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ชี้อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง พลังงานไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ รับผลกระทบหนักแต่จะฟื้นตัวเร็ว ส่วนธุรกิจขนส่งทางอากาศ-การบริการ-ท่องเที่ยวใช้เวลานานกว่า ฟาก "ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี" เผยผลศึกษา SMEs ภาคใต้รับผลกระทบหนักสุด ฟื้นตัวช้าสุด

นายสมประวิณ มันประเสิรฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน โดยวิจัยกรุงศรียังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบร้อยละ 5 ในปี 2563 โดยมีความเป็นไปได้มากที่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และภาคธุรกิจต่างๆ จะเริ่มปรับตัวรับเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะชัดเจนมากขึ้นในปี 2564 

อีกทั้งผลกระทบของโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ แต่ยังส่งผลในระยะปานกลางและระยะยาวจาก 4 ปัจจัยหลักคือ การปิดการดำเนินงานของภาคธุรกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ การปรับตัวลดลงของอุปสงค์โดยรวม การชะงักงันของระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค 

ปัจจัยทั้ง 4 จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์จะมีการหดตัวมากในช่วงนี้ แต่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจอื่นโดยเปรียบเทียบ ขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคจะใช้เวลายาวนานกว่าในการปรับตัว สำหรับมาตรการช่วยเหลือในด้านต่างๆ และวิธีการปรับตัวของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในแต่ละกลุ่มจึงควรมีรูปแบบที่แตกต่างกันตามลักษณะการฟื้นตัวของธุรกิจ

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรี ได้วิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่า ภาคธุรกิจ 26 ประเภทจากทั้งหมด 60 ประเภท หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของผลผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจ 24 ประเภท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.1 ของผลผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบปานกลาง และมีภาคธุรกิจเพียง 10 ประเภท หรือ คิดเป็นร้อยละ 10.9 ของผลผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากโควิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ปลีกค้าส่ง-พลังงานไฟฟ้า-ก๊าซธรรมชาติ กระทบหนักแต่จะฟื้นตัวได้เร็ว

วิจัยกรุงศรี มองว่า ธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจด้านการผลิตอาหารมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในปี 2564 ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง พลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่จะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ 

ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ อาทิ การขนส่งทางอากาศ และอุตสาหกรรมการบริการ จะใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสทางกายหรือการรวมตัวกันในที่สาธารณะจะใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่นกัน

"โดยภาพรวม อุตสาหกรรมเกือบทุกกลุ่มจะไม่สามารถฟื้นตัวไปอยู่ที่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ ในปี 2564 แม้ว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพในการจัดการด้านระบบสาธารณสุขได้เป็นอย่างดีและทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563"

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังได้รับผลกระทบอย่างหนักและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก วิจัยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะแตะระดับต่ำสุดในไตรมาส 2 แต่การถดถอยของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงปีหน้า 

"สำหรับประเทศไทย คาดว่าเม็ดเงินจากมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเข้าสู่ระบบมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ แต่ยังต้องติดตามความชัดเจนของมาตรการต่างๆ ในเรื่องประสิทธิภาพการฟื้นฟูเศรษฐกิจว่าจะสามารถทำให้เกิดการจ้างงาน เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ช่วยหนุนภาคครัวเรือนให้มีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ลดความเสี่ยงแก่ภาคการเงิน และมีมาตรการที่เหมาะกับรูปแบบการฟื้นตัวในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมากเพียงใด" นายสมประวิณ กล่าว  

คาด SMEs อีสาน-เหนือ-กทม.และปริมณฑล ฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาคใต้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินแนวโน้มลักษณะการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาค ภายหลังการทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยพิจารณานโยบายปลดล็อกประเทศทั้งในประเทศและตลาดส่งออกของแต่ละธุรกิจ ความจำเป็นของลักษณะสินค้าต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างธุรกิจที่มีอยู่เดิมที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแม้ปลดล็อกดาวน์ไปแล้ว 

โดยประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนเกือบ 3 ล้านรายในปัจจุบัน ตามประเภทธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาคว่าจะสามารถฟื้นอย่างไร ซึ่งแบ่งลักษณะการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาคออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ภูมิภาคที่ SMEs ฟื้นตัวช่วงนี้ (ไตรมาส 3) มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 1.73 ล้านราย และมีการจ้างงานรวม 6.1 ล้านคน แยกออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ กลุ่มฟื้นตัวแล้ว คิดเป็นสัดส่วนรายได้ร้อยละ 12 ของรายได้ทั้งหมดของ SMEs ทั้งประเทศ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ "ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ กรุงเทพและปริมณฑล" ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ฟื้นตัวคิดเป็นร้อยละ 14, 13 และ 12 ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคนั้นๆ ตามลำดับ 

เนื่องจากประเภทธุรกิจของ SMEs ในสามภูมิภาคนี้ มีความเกี่ยวโยงกับสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือมีการพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก เช่น การซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มสินค้าจำเป็น ธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ โรงพยาบาล/ คลินิก ยารักษาโรค และวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างภาครัฐ

กลุ่มกำลังฟื้นตัว คิดเป็นสัดส่วนรายได้ร้อยละ 61 ของรายได้ทั้งหมดของ SMEs ทั้งประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ใน "ภาคกลาง และภาคตะวันออก" โดยการฟื้นตัวคิดเป็นร้อยละ 65 และ 63 ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคนั้นๆ ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจในพื้นที่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการคลายล็อกดาวน์ของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยจะอยู่ในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การให้บริการทางธุรกิจ การรับเหมาก่อสร้าง ชิ้นส่วนอุปการณ์เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจใช้เวลาพอสมควรในการคลายล็อกดาวน์จึงจะครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กลุ่มที่ 2 ภูมิภาคที่ SMEs จะฟื้นตัวได้ปลายปีนี้ มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 1.03 ล้านราย โดยมีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 27 ของรายได้ทั้งหมดของ SMEs ทั้งประเทศ และมีการจ้างงานรวม 2.9 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร การบริการส่วนบุคคล และสินค้าแฟชั่น หากมองการกระจุกตัวของผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าว ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ใน "ภาคใต้" ซึ่งการฟื้นตัวคิดเป็นสัดส่วนรายได้ร้อยละ 36 ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ที่อยู่ในภาคใต้ เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจภาคใต้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ แม้ว่าจะได้มาตรการภาครัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ช้า โดยรวมมองการฟื้นตัวจะกลับมาในปลายปีนี้

ด้วยเหตุนี้จึงสรุปว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ของแต่ละภูมิภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ กรุงเทพและปริมณฑล มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว ตามสัดส่วนธุรกิจ SMEs ที่ฟื้นตัวแล้วและกำลังฟื้นตัวที่มีสัดส่วนที่สูง และธุรกิจส่วนใหญ่ของ SMEs เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันซึ่งพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก

สำหรับภาคกลางและภาคตะวันออก แนวโน้มฟื้นตัวอย่างฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตสูงซึ่งต้องพึ่งพิงทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งคาดว่าประเทศคู่ค้ากำลังทยอยปลดล็อกหลังโควิด-19 เช่นเดียวกัน 

ส่วน ภาคใต้ แนวโน้มจะกลับฟื้นตัวได้ช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งทิศทางราคาไม่ดีนักตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน

ชี้ผู้ประกอบการ SMEs เตรียมพร้อมและปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการฟื้นตัวของภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจอยู่ พร้อมแนะภาครัฐและเอกชนฟื้นเศรษฐกิจในประเทศให้เท่าเทียม โดยดึงจุดเด่นแต่ละพื้นที่เป็นจุดขาย

'ไทยโตเท่าเทียมทุกพื้นที่' โจทย์ใหญ่ตีให้แตก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ชี้การมองเห็นภาพแนวโน้มธุรกิจ SMEs หลังปลดล็อกโควิด-19 ในแต่ละภูมิภาคว่า พื้นที่ใดจะมีทิศทาง "ฟื้นตัวเร็วช้า" ผ่านการวิเคราะห์ลักษณะธุรกิจและการพึ่งพิงตลาดที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs สามารถเตรียมพร้อม และปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการฟื้นตัวของภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจอยู่ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ที่สามารถฟื้นตัวแล้วหรือกำลังฟื้นตัว จำเป็นต้องเร่งจัดเตรียมการ วางแผนการตลาดให้พร้อม ในช่วงที่ภาครัฐเริ่มออกมาตรการออกมาช่วยเหลือธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก ย่อมจะช่วยให้ธุรกิจ SMEs กลับมาขยายตัวดีขึ้นได้ครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีธุรกิจ SMEs เข้าข่ายได้รับอานิสงส์ จำเป็นต้องทำงานมากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เช่น การหาช่องทางการทำตลาดไปยังภูมิภาคอื่นที่ฟื้นตัวแล้ว ก็จะพอช่วยได้บ้าง รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์ "การฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs เชิงพื้นที่" ซึ่งประเมินจากทิศทางการฟื้นตัวของธุรกิจและการกระจุกตัวตามประเภทธุรกิจในพื้นที่นั้นๆ อย่างไรก็ดี โจทย์ใหญ่สำคัญของประเทศในการเดินหน้าต่อไปคือ จะต้องสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ทุกพื้นที่ของไทยเติบโตอย่างเท่าเทียมกันในยามที่ต้องพึ่งพิงการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการณ์กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยการพัฒนาจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ อาทิ สินค้าเด่น วัตถุดิบของแต่ละพื้นที่ที่มี สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อให้ทุกภูมิภาคฟื้นตัวจากปัญหาโควิด-19 ในยามที่เศรษฐกิจต้องพึ่งการบริโภคในประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจ SMEs ของภูมิภาคต่างๆ ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น