ไม่พบผลการค้นหา
รองเลขาฯ กกต. เผย กกต. เดินหน้าพิจารณาสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อให้ทันการประกาศผล 9 พ.ค. ยืนยันนำทุกสูตรมาร่วมพิจารณา ชี้หากใครไม่เห็นด้วยสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ตามที่ กกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 ได้หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ว่ากรณีดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ซึ่งต้องกระทำหลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้ว ดังนั้น กกต. จะดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว โดยจะคำนึงถึงวิธีการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ที่สำนักงาน กกต. เสนอให้ กกต. พิจารณา รวมถึงนำวิธีการคำนวณอื่นๆมาร่วมอย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้

นายแสวง กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทุกคนอ้างมาตรา 128 แต่สามารถคิดวิธีคำนวณแตกต่างกัน ซึ่ง กกต. มีสูตรอยู่แล้วตามที่สำนักงาน กกต.ได้นำเสนอให้พิจารณา โดย กกต.จะเร่งพิจารณาโดยเร็วและประกาศจำนวน ส.ส.ให้ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 2562 

ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ต้องประกาศผลเลือกตั้งแบบแบ่งเขตก่อน จากนั้นจึงมาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อกกต. ดำเนินการแล้วหากมีผู้ใดไม่เห็นด้วยกับวิธีการคำนวณ ส.ส.ก็สามารถใช้สิทธิ์ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาได้ ซึ่งกกต. ไม่ได้กังวลในเรื่องนี้แต่อย่างใด

พรรคเพื่อไทย เรียกร้องทำหน้าที่ โปร่งใส ตรวจสอบได้ หยุดสร้าง ความคลุม สงสัย 

นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ว่าการคิดคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นอำนาจของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนั้นหากคณะกรรมการการเลือกตั้งจะตีความหรือคิดคำนวนสูตรอย่างไร คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องยึดรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น จะไปคำนวณด้วยวิธีการอื่นไม่ได้ ขณะเดียวกันเห็นว่าสูตร ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง คิดคำนวณไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่าทำให้คลุมเครือ หรือสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคม เพราะกระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ประเทศชาติ ประชาชนจึงหวังว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะทำหน้าที่ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด และที่สำคัญคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องไม่คำนวณให้พรรคการเมืองใดได้ส.ส.เกินจำนวนส.ส.ที่พึงมี

โฆษกพรรคเพื่อไทยระบุได้ว่า หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยึดตามสูตรที่ยืนยันมาตั้งแต่ต้นจะมีพรรคการเมืองได้ส.ส.จำนวน 25 พรรคซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบ ตามกฎหมายส่วนจะพิจารณาฟ้องร้อง กกต.อย่างไรจะเป็นขั้นตอนต่อไป

ด้านนายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทยในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายมองว่ากรณีการแจกใบส้ม ให้นายสุรพลเกียรติไชยากร ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยนั้น พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกต ว่าการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง วินิจฉัยคดี ด้วยความเร่งรัดเกินไปหรือไม่ เพราะได้แจ้งข้อกล่าวหากับนายสุรพลวันที่ 18 เมษายน 2562 นายสุรพลชี้แจงข้อเท็จจริงวันที่ 19 เมษายน 2562 และต่อมาอีกเพียง 5 วันก็ชี้มูลความผิด

ดังนั้น จึงมองว่านายสุรพลจะต้องพิจารณา โต้แย้งข้อกล่าวหา โดยดำเนินการทางกฎหมาย อาจใช้ช่องทางที่มีอยู่เช่น ช่องทางศาลปกครองเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ทั้งนี้นายสุรพลแจ้งผ่านโฆษกพรรคเพื่อไทยว่าจะแถลงข่าวในประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 เมษายน 2562 ก่อนเวลา 12.00น. ที่พรรคเพื่อไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง