ไม่พบผลการค้นหา
แม้มี 'โคแวกซ์' โครงการช่วยกลุ่มประเทศยากจนเข้าถึงวัคซีน แต่ไม่รับประกันว่าปี 2564 จะมีวัคซีนพอใช้ทั่วโลก

'BNT-162' คือชื่ออย่างเป็นทางการของ 'วัคซีนไฟเซอร์' วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดแรกของโลกที่หลายชาติอนุมัติฉุกเฉินให้ใช้ฉีดแจกจ่ายแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มแรก โดยประเทศแรกที่อนุมัติวัคซีนนี้คือ สหราชอาณาจักร ตามด้วย สหรัฐฯ และแคนาดา ขณะที่สิงคโปร์ เป็นชาติแรกในกลุ่มอาเซียนที่อนุมัติใช้วัคซีนของไฟเซอร์อย่างเป็นทางการ โดยสิงคโปร์ตั้งเป้าเริ่มฉีดแจกจ่ายแก่ประชากรสูงอายุ และบุคลกากรทางการแพทย์ในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ 

เช่นเดียวกับหน่วยงานสาธารณสุขของสหภาพยุโรป ที่เตรียมอนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์ก่อน 29 ธ.ค. นี้ 'BNT-162' จึงถือเป็นวัคซีนที่มีความ 'คืบหน้า' มากที่สุด หากเทียบกับวัคซีนจากผู้พัฒนารายอื่นๆ ทั้งที่เป็นบริษัทยาเอกชน และหน่วยงานของรัฐบาลประเทศต่างๆ

บางประเทศเริ่มทยอยใช้วัคซีนป้องกันโควิดในช่วงสิ้นปีนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ และเป็นความหวังที่ในปี 2564 หลายชาติทั่วโลกจะเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิดจากผู้พัฒนารายอื่นมากขึ้น ไม่เพียงแค่เฉพาะวัคซีนไฟเซอร์ โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่มีความสำคัญยิ่งในการอนุมัติใช้วัคซีนฉุกเฉิน คือ คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) สำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) หน่วยงานด้านเภสัชกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ในญี่ปุ่น (PMDA) และองค์การอนามัยโลก (WHO) 

วัคซีน-โควิด19

'วัคซีนชาตินิยม - Vaccines Nationalism'

ดูเหมือนมีความหวัง อีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่คือ จะทำอย่างไรให้ประชากรโลกราวที่มีราว 7.7 พันล้านคน เข้าถึงวัคซีน โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ราว 65-70% ของประชากรโลก จำเป็นต้องเข้าถึงวัคซีน เพื่อให้เพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) นั่นหมายความว่า ทั่วโลกต้องการวัคซีนราว 700 ล้านโดส จึงมีประสิทธิภาพเพียงพอ

หมายความว่า ประชากรของแต่ละประเทศจำเป็นต้องรับวัคซีนอย่างน้อย 50% ของจำนวนประชากร แต่ทว่าบรรดาประเทศมหาอำนาจร่ำรวยหลายชาติ แห่สั่งจองและกว้านซื้อวัคซีนเหล่านี้นับหลายหมื่นล้านโดสต่อประเทศ บางชาติสั่งซื้อมากกว่าจำนวนประชากรในประเทศหลายเท่า

ประเทศร่ำรวยมีประชากรรวมกันคิดเป็น 14% ของประชากรโลก แต่เป็นเจ้าของวัคซีนโควิดจากผู้ผลิตรายหลักๆ รวมกันแล้วถึง 53% แคนาดาเป็นชาติถือครองโควต้าวัคซีนในปริมาณมากสุด ราว 266 ล้านโดส จากประชากรที่มีเพียง 38 ล้านคน หรือมีปริมาณวัคซีนต่อประชากรมากถึง 410% แปลว่าแคนาดาสามารถฉีดให้กับประชากรทุกคนในประเทศได้ถึง 5 รอบ ซึ่งภายหลังรัฐบาลแคนาดาระบุว่า จะบริจาคโควต้าวัคซีนของประเทศตัวเองให้กับชาติกำลังพัฒนา ขณะที่อินเดียซื้อวัคซีนในปริมาณมากสุดราว 1,600 ล้านโดส

ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้น้อยกว่า 70 ประเทศ อาทิ เอธิโอเปีย ไนจีเรีย เคนยา เมียนมา ยังขาดการเข้าถึงวัคซีน โดยมีโควต้าวัคซีนครอบคลุมต่อประชากรเพียง 5% หมายความว่าประชากรแต่ละชาติมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนเฉลี่ยเพียง 1 ใน 10 ในปี 2564 สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health ที่ระบุว่า ประชากรโลกเกือบ 1 ใน 4 จะยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิดจนกระทั่งปี 2565 โดยกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงน้อยอาจต้องรอต่อไปอีก เนื่องจากยอดการสั่งซื้อวัคซีนโควิดจำนวนมาก อยู่ในกลุ่มประเทศร่ำรวย ประกอบกับกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตยามีจำกัด แม้ว่าสหประชาชาติจะมีโครงการ 'โคแวกซ์' (Covax) ที่ช่วยสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วโลกอย่างเท่าเทียมก็ตาม

วัคซีน-โควิด19


'โคแวกซ์' วัคซีนถ้วนหน้า

เพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงวัคซีน องค์การสหประชาชาติ ร่วมกับองค์กรนานาชาติด้านการรับมือโรคระบาด ได้เปิดตัวโครงการความร่วมมือด้านวัคซีนที่ชื่อว่า COVID-19 Vaccine Global Access Facility หรือ Covax (โคแวกซ์) มีเป้าเพื่อพัฒนา ผลิต และแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้มีแล้วกว่า 180 ชาติทั่วโลก

โคแวกซ์ตั้งเป้าแจกจ่ายวัคซีนราว 2 พันล้านโดสให้กับทุกประเทศภายในปี 2564 หรือเทียบเท่ากับวัคซีนอย่างน้อย 20% ของประชากรแต่ละชาติ อย่างเท่าเทียมทั้งกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง หรือกลุ่มประเทศรายได้น้อย ผ่านการนำวัคซีนจากผู้ผลิตหลากหลายแหล่ง ทั้งบริษัทยาเอกชน และจากหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลต่างชาติ 'แชร์' วัคซีนร่วมกัน อย่างไรก็ดี โครงการนี้ประเทศมหาอำนาจบางชาติอย่าง สหรัฐฯ ปฏิเสธเข้าร่วม

'แอสตราเซเนกา' ซึ่งวิจัยวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ถือเป็นเอกชนรายใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยให้คำมั่นกับอนามัยโลก จัดหาวัคซีนราคาถูกกว่าท้องตลาดจำนวน 64% จากปริมาณที่ผลิตได้ให้กับผู้คนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่คิดเป็นเพียง 18% ของประชากรโลกที่จะได้รับการเข้าถึงวัคซีนในปีหน้า

รายงานจากวารสารทางการแพทย์อังกฤษ ที่ประเมินความเสี่ยงว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก อาจต้องรอวัคซีนโควิดไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ท่ามกลางความท้าทายหลายประการ อาทิ เงินทุน ปริมาณการผลิตวัคซีนจากผู้ผลิตแต่ละแห่ง ข้อสังเกตเชิงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน บริษัทหรือผู้พัฒนาวัคซีนที่ต้องให้ความสำคัญกับคนในชาติตัวเองก่อน

วัคซีน-โควิด19


วัคซีนไทยมาจากไหน

รัฐบาลไทยได้ลงนามจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าจากบริษัทแอสตราเซเนกา ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จำนวน 26 ล้านโดส วงเงินกว่า 6 พันล้าน โดยคาดว่าชาวไทยจะได้รับวัคซีนเข็มแรกช่วงกลางปี 2564 

อย่างไรก็ตาม 26 ล้านโดส ไม่อาจเพียงพอต่อสำหรับคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากวัคซีนจำเป็นต้องฉีดคนละ 2 โดส เท่ากับว่าวัคซีนล็อตนี้มีสำหรับคนไทย 13 ล้านคนเท่านั้น 

หากอ้างอิงตามอนามัยโลก ที่ระบุว่า แต่ละประเทศจำเป็นต้องรับวัคซีนอย่างน้อย 50% ของประชากรในประเทศ หรือเท่ากับชาวไทยอย่างน้อย 33 ล้านที่ต้องเข้าถึงวัคซีน หากอิงจากข้อมูลฐานประชากรไทยของกระทรวงมหาดไทยที่ว่าไทยมีประชากรกว่า 66 ล้านคน 

สำหรับไทยรัฐบาลมี 3 แนวทางหลักในการจัดหาวัคซีนคือ 

  • วิจัยและพัฒนาภายในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงทางวัคซีนในประเทศ
  • ร่วมมือกับผู้พัฒนาวัคซีนต่างชาติ ซึ่งไทยลงนามจัดซื้อวัคซีนกับแอสตราตราเซเนกาแล้ว โดยไทยเป็นฐานร่วมดำเนินการบรรจุและแจกจ่ายวัคซีนดังกล่าวด้วย
  • เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เพื่อต่อรองราคาวัคซีน และร่วมแชร์การสั่งจองวัคซีนกับชาติอื่นๆ แต่อาจทำให้ไทยเข้าถึงวัคซีนในจำนวนไม่มากนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ที่มา : NBC , Daily Star , NYTimes , CNN , DW , Bloomberg , launchandscalefaster