ไม่พบผลการค้นหา
นักสิทธิสตรีหรือเฟมินิสต์ในอินโดนีเซียสนับสนุนร่างกฎหมายต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่กลับถูกกลุ่มสตรีมุสลิมเคร่งศาสนารวมตัวต่อต้านผ่านโครงการรณรงค์ "กายของเรา ไม่ใช่ของเรา"

กลุ่มสตรีมุสลิมเคร่งศาสนาในอินโดนีเซีย รวมตัวกันในนามกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ 'Indonesia Tanpa Feminis' รณรงค์โครงการ 'กายของเรา ไม่ใช่ของเรา' (My body is not mine.) เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาของกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและนักสิทธิสตรี ที่พยายามผลักดันร่างกฎหมายต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง หลังเกิดกรณี 'บาอิก นูริล' ครูสาวในเมืองลอมบ็อกถูกละเมิดทางเพศ จึงตัดสินใจแจ้งความเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่มีกฎหมายที่จะใช้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ ทำให้เธอถูกฟ้องกลับในข้อหาหมิ่นประมาท

รัฐบาลอินโดนีเซียเสนอร่างกฎหมายต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงตั้งแต่ปี 2559 และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน แต่ร่าง ก.ม.ดังกล่าวกลับยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะมีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยมองว่ากฎหมายดังกล่าวส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ทั้งยังรับรองสิทธิของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ LGBT ซึ่งกลุ่มผู้ต่อต้านระบุว่าเป็นค่านิยมจากโลกตะวันตก เป็นภัยต่อหลักศาสนาอิสลาม รวมถึงทำลายโครงสร้างครอบครัวดั้งเดิมของสังคมอินโดนีเซีย 

การรวมตัวของกลุ่ม Indonesia Tanpa Feminis ซึ่งแปลว่า 'อินโดนีเซียที่ปราศจากเฟมินิสต์' เริ่มขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ 'อินสตาแกรม' เมื่อวันที่ 17 มี.ค. และมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็น 2,215 คนในการสำรวจข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2562 

แม้ตัวเลขผู้ติดตามอินสตาแกรมของกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์จะไม่ได้มีจำนวนมากเท่ากับคนดังอื่นๆ ที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ของอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 5,000 คนขึ้นไป แต่เดอะจาการ์ตาโพสต์ สื่ออินโดนีเซีย รายงานว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์บ่งชี้ว่า การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือผู้หญิงที่ถูกเลือกปฏิบัติในสังคมที่ชายเป็นใหญ่อย่างอินโดนีเซีย รวมถึงการผลักดันร่างกฎหมาย อาจไม่ประสบความสำเร็จโดยง่ายดายนัก 

ภาพรณรงค์ที่เผยแพร่ในอินสตาแกรมของกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ส่วนใหญ่ เป็นภาพผู้หญิงชูป้ายในเชิงตั้งคำถามและประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ โดยภาพหนึ่งมีการติดแฮชแท็กว่า #uninstallfeminism หรือ 'ถอดถอนแนวคิดสตรีนิยม'

ส่วนอีกภาพหนึ่ง ผู้หญิงชูป้ายที่เขียนข้อความว่า "ไม่ต้องการเฟมินิสต์" พร้อมอธิบายเหตุผล 3 ข้อ ได้แก่ (1) เพราะแนวคิดดังกล่าววาดภาพโครงสร้างครอบครัวแบบอินโดนีเซียเป็นปีศาจร้าย (2) ไม่ควรโทษผู้ชาย ในสิ่งที่เป็นความรับผิดชอบของผู้หญิงเอง และ (3) การผิวปากแซวหรือเอ่ยชมผู้หญิง ไม่ใช่การคุกคาม

อย่างไรก็ตาม นาเดีย เมลาตี นักวิจัยจากศูนย์ศึกษาความรุนแรงทางเพศในอินโดนีเซีย ระบุว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของสังคมอินโดนีเซีย การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์จึงไม่ใช่เรื่องผิด แต่แนวคิดนี้ไม่ได้มีผู้สนับสนุนมากนักหากเทียบกับจำนวนผู้หญิงที่เห็นด้วยกับแนวคิดสตรีนิยมในสังคมอินโดนีเซียปัจจุบัน แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าในกรณีนี้คือการแอบอ้างศาสนาอิสลามเพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์รณรงค์โดยอ้างคำสอนที่ระบุว่า "กายของเรา ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นขององค์อัลเลาะห์"

นาเดียกล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อให้ร่างกายเราเป็นของพระเจ้า ก็ไม่สมควรถูกละเมิดหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเธอหวังว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะเร่งผ่านกฎหมายต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงออกมาบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศแก่ผู้หญิงนับล้านๆ คน และเพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศสามารถเอาผิดผู้ก่อเหตุได้

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เดอะคอนเวอร์เซชั่น เผยแพร่บทความ #MeToo has skipped Indonesia — here’s why โดยระบุว่า การรณรงค์ต่อต้านการคุกคามทางเพศ #MeToo ที่เริ่มจากวงการบันเทิงฮอลลีวูดสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ 'จุดไม่ติด' ในอินโดนีเซีย โดยมีการอ้างถึงกรณี 'บาอิก นูริล' ครูสาวในเมืองลอมบอก ซึ่งถูกลงโทษจำคุก 18 เดือน เพราะแจ้งความเอาผิดผู้ที่ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศเธอ และกรณีของ 'อักนี' นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา ซึ่งกำลังต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากสังคม หลังจากเธอแจ้งมหาวิทยาลัยว่าถูกเพื่อนนักศึกษาล่วงละเมิดทางเพศขณะไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่ห่างไกล แต่มหาวิทยาลัยไม่ดำเนินการใดๆ กับผู้ก่อเหตุ

บทความดังกล่าวระบุว่า ค่านิยมเรื่องชายเป็นใหญ่และผู้หญิงต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงที่ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมถูกมองว่าโดนล้างสมองโดยค่านิยมตะวันตก แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น คือ ผลสำรวจความคิดเห็นประชากรชายในอินโดนีเซียเมื่อปี 2557 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่เคยได้ยินว่ามีการละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ หรือถ้ามีผู้ตอบว่าเคยได้ยินเหตุการณ์เหล่านั้นมาบ้าง ก็จะเชื่อว่าผู้หญิงที่ถูกละเมิดนั้น 'ทำตัวไม่เหมาะสม' และ 'สมควรจะถูกกระทำเช่นนั้นแล้ว'

ที่มา: Jakarta Post/ The Conversation

Photo by Janko Ferlič on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: