ไม่พบผลการค้นหา
กองทัพเมียนมาทำสถิติ สังหารประชาชนวันเดียว 38 ศพ ประชาชนจุดไฟเผาโรงงานของบริษัทนักลงทุนจีนจนกองทัพต้องประกาศกฎอัยการศึกใน 6 พื้นที่ สภาพเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฝืดเคืองรุนแรง ราคาข้าวของพุ่งสูง ซ้ำเติมความยากจนและวิกฤตโควิด

การประท้วงในเมียนมาเดินหน้าเข้าสู่ความรุนแรงต่อเนื่อง หลังจากก้าวผ่านวันที่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารต้องเผชิญกับความรุนแรงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในวันเดียว โดยในวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใช้อาวุธสังหารอย่างน้อย 38 ศพ 

การเสียชีวิตมากที่สุดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมของนครย่างกุ้ง ซึ่งสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวราว 22 ศพ และมีผู้คนบรรยายพื้นที่เขตไลง์ตายาเป็นดั่ง 'สนามรบ' ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมขณะนี้พุ่งสูงถึง 126 ราย

AFP - เมียนมา ประท้วง รัฐประหาร


โรงงานทุนจีน 32 แห่งถูกวางเพลิง

ความรุนแรงของการประท้วงยังได้ลุกลามไปถึงการก่อเหตุทุบทำลายและจุดไฟเผาโรงงานที่มีเงินทุนจากนักลงทุนจีนเกี่ยวข้องถึง 32 แห่งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยสื่อภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนอย่าง Global Times รายงานว่าโรงงานเหล่านี้อยู่ในนครย่างกุ้ง ผู้ก่อเหตุมีการวางแผนมาเป็นอย่างดี 

กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เรียกการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ 'เลวร้าย' ผู้ก่อเหตุครั้งนี้ 'ต้องได้รับโทษอย่างรุนแรง' และมีการเรียกร้องให้ทางการเมียนมารีบจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชนชาวจีนในเมียนมาและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ขณะที่สถานทูตจีนในเมียนมาชี้ว่าไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการวางเพลิง มีเพียงแต่ผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ขณะที่มีการประเมินความเสียหายว่าอยู่ที่ราว 1,130 ล้านบาท 


โครงการอาหารโลกเตือน "วิกฤตเศรษฐกิจในเมียนมา"

โครงการอาหารโลก หรือ World Food Programme (WFP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติแถลงเตือนถึงความเป็นไปได้ของวิกฤตเศรษฐกิจในเมียนมา โดยความวุ่นวายทางการเมืองคือสาเหตุหลักของราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มในนครย่างกุ้งและพื้นที่โดยรอบพุ่งสูงกว่าต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาราว 20% ขณะที่ราคาข้าวสารในมัณฑะเลย์ก็สูงขึ้นกว่า 4% ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่อย่างรัฐคะฉิ่น ราคาข้าวแพงขึ้นสูงถึง 35%

เมื่อมองในภาพรวม ราคาเชื้อเพลิงทั่วประเทศเมียนมาพุ่งสูงขึ้น 15% ตั้งแต่การก่อรัฐประหารเมื่อต้นเดือน ก.พ. แต่ในบางพื้นที่เช่นรัฐยะไข่ ราคาน่ำมันกลับพุ่งสูงถึง 33% ซึ่งสตีเฟน แอนเดอร์สัน ผู้แทนจาก WFP ประจำเมียนมาแสดงความกังวลว่า "หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อออกไป ผมคิดว่ามุมของเศรษฐกิจจากเหตุการณ์นี้จะเลวร้ายอย่างรุนแรง"

ก่อนที่จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชาวเมียนมาต้องเผชิญนั้นค่อนข้างเลวร้ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โรงงานมากมายตัดสินใจปิดกิจการในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในสังคมไม่มีงานทำและขาดรายได้ ประชาชน 6 ใน 10 คนไม่มีกำลังซื้อเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน ความยากจนเลวร้ายลงเพราะโรคระบาด ขณะที่ครึ่งหลังของปี 2563 มีการรายงานว่า 4 ใน 5 ของครอบครัวชาวเมียนมาสูญเสียรายได้ของครอบครัวไปมากกว่า 50%

AFP - เมียนมา ประท้วง รัฐประหาร