ไม่พบผลการค้นหา
'สมัชชาคนจน' ยังปักหลักอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน - 'เทวัญ' ยืนยันกลุ่มสมัชชาคนจนพอใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. เวลาประมาณ 11.30 น. กลุ่มสมัชชาคนจน ได้เริ่มรวมตัวกัน บริเวณริมคลองข้างกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่คืนวันที่ 5 ต.ค. เพื่อเรียกร้องให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน

นายบุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน อ่านแถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ 4 การประชุมเจรจากับรัฐบาล ระบุว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีคําสั่งแต่งตั้งและมอบหมายให้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทําหน้าที่เจรจาแก้ไขปัญหา ของสมัชชาคนจนแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหารายกรณีและนําไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งมีการนัดหมายประชุมเจรจาในวันที่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 12.30 น.

ทางสมัชชาคนจน ได้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเจรจาแก้ไขปัญหารายกรณีของสมัชชาคนจน “อย่างเสมอหน้า” จะดําเนินการไปได้ด้วยดี ภายในกรอบที่สมัชชาคนจนกําหนด คือ

(1) รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน โดยมีองค์ประกอบด้วย ผู้แทน ฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนสมัชชาคนจน

(2) ให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนเป็นรายกรณีปัญหาตามที่สมัชชาคนจนเสนอ 

(3) ให้ส่งผลการเจรจาตามข้อ (2) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

นายบุญยืน กล่าวกับผู้สื่อข่าว ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า ที่ผ่านมา ประชาชนคนจนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด ถูกจำกัดสิทธิต่างๆ รวมถึงปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่บางแห่งถูกไล่ออกจากพื้นที่ โดยนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุค คสช. ทำให้หลายคนไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องออกจากบ้านเดิม และไปอยู่บ้านญาติ ที่ผ่านมาได้พยายามร้องต่อรัฐบาลถึงปัญหามาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จากนั้นกลุ่มสมัชชาคนจนได้เดินขบวนไปยัง อาคารสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.) เพื่อเจรจาการแก้ไขปัญหากับ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาร่วมรับฟังความคิดเห็น

ด้านนายเทวัญ ในฐานะประธานเจรจาหาข้อสรุปกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวภายหลังการหารือในกรอบกับคณะซึ่งสามารถสรุปรวมได้ 9 กลุ่ม ซึ่งต้องดูว่าแต่ละกลุ่มเชื่อมโยงกับกระทรวงใดบ้าง ซึ่งกรอบการทำงานจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการหารือในวันนี้กลุ่มสมัชชาคนจนมีความพึงใจ ซึ่งภายหลังจากนี้จะมีการเดินหน้าการทำงานในลักษณะดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้ รองปลัดสำนักนายกฯ เป็นผู้จัดกรอบเวลาของแต่ละกลุ่ม ซึ่งจากการที่ตนได้ฟังเสียงของกลุ่มสมัชชา พบว่าต้องการคนที่มีความรู้เข้ามาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา

ส่วนที่กรณีที่ทางกลุ่มเรียกร้องให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์​ ให้เป็นประธานการแก้ไขปัญหานั้น เป็นเพียงประธานเจรจาในเบื้องต้นไม่ใช่ประธานแก้ไขปัญหา หากได้ข้อสรุปจึงมาตั้งประธานแก้ไขปัญหาอีกรอบนึง ส่วนนายสุรินทร์จะนั่งเป็นประธานแก้ไขปัญหาหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ