ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยเร็ว เน้นวิกฤต ศก.-โควิด-ละเมิดสิทธิมนุษยชน ย้ำจุดยืน 'เพื่อไทย' ปม ม.112 หวังปกป้องสิทธิผู้ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพจาการบังคับใช้กฎหมาย ให้รัฐสภาได้รับเรื่องแล้วค่อยพิจารณาถึงการแก้ไข

วันที่ 3 พ.ย. 2564 ที่รัฐสภา ก่อนการประชุมวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ประเด็นที่จะหารือกันเป็นหลักในวันนี้ คือเรื่องญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่จะให้รัฐบาลมาแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาและวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แล้วทางสภาก็จะมีข้อเสนอแนะกลับไปให้ทางรัฐบาลเพื่อดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ ในรายละเอียด พรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะมุ่งเน้นไปที่การอภิปรายในเรื่องใด แต่ปัญหาที่หนักที่สุดตอนนี้คงจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ การจัดการโควิด-19 รวมทั้งกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องประชาธิปไตย โดยสมัยประชุมรัฐสภานี้สามารถดำเนินการยื่นญัตติได้ หากปรึกษาหารือกันแล้วเขียนญัตติพร้อมก็จะดำเนินการยื่นญัตติดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นรอไม่ได้ กลไกรัฐสภาจะต้องแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงจุดยืนพรรคเพื่อไทยต่อข้อเสนอของภาคประชาชนในการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า อาจะจะหยิบยกมาคุยกันในพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยพรรคเพื่อไทยได้แถลงการณ์ไปในนามประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองของพรรค (ชัยเกษม นิติสิริ)นั้น เจตนารมณ์ที่แท้จริงกับสิ่งที่สื่อได้นำเสนอไปยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ต้องชี้แจงว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพรรคเพื่อไทย คือ 1. ต้องการปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพจากการบังคับใช้กฎหมาย และถูกจับกุมคุมขังเป็นนักโทษทางความคิดเพียงเพราะเห็นต่างก็มีการจับกุมคุมขัง กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

2. ปัญหาจากการที่หลายฝ่ายมีความเห็นต่างกันในเรื่องดังกล่าวมาก อาจกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองได้ มีความเห็นต่างกันมากเรื่องนี้ หากปล่อยไว้ในฐานะฝ่ายการเมืองนิติบัญญัติไม่ดึงสภาพปัญหาแก้ไขในรัฐสภาตามวิถีประชาธิปไตย สิ่งที่มีความเลวร้ายจะเกิดขึ้นมีการแก้ไขนอกสภา จึงต้องอาสารับเรื่องที่เป็นปัญหาเข้ามาสู่รัฐสภาเพื่อแก้ไขตามวิถีทางประชาธิปไตย ยืนยันไม่ได้มุ่งหมายว่าจะต้องแก้อย่างไร หน้าที่คือรับเรื่องเข้ามายังรัฐสภาก่อน ส่วนจะแก้ไขอย่างไรเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีการบังคับใช้ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง