ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมวิป 4 ฝ่าย มีมติให้มีการประชุมรัฐสภา วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และญัตติขอความเห็นชอบส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขณะคณะกรรมการสมานฉันท์จะมีทั้งสิ้น 21 คน จาก 7 กลุ่ม

ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมวิป 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ส.ส. ฝ่ายค้าน ส.ส.รัฐบาล ส.ว. และตัวแทนคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันอังคารที่ 1 ธ.ค. 2563 เพื่อพิจารณาเรื่องทั่วไป , ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม , ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และญัตติของไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่จะขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับ ที่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงหารือถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีมติงดประชุมในวันที่ 9 ธ.ค. 2563 เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว และให้มาชดเชยในวันที่ 18 ธ.ค. 2563 


วางโครงสร้าง คกก.สมานฉันท์ 21 คน จาก 7 กลุ่ม

นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ร่างรูปแบบโครงสร้างเบื้องต้น ที่จะมีคณะกรรมการ 21 คน ประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล 2 คน , ผู้แทน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 2 คน , ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน , ส.ว. 2 คน , ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน , ผู้แทนที่มีความเห็นอย่างอื่น 2 คน , และผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน โดย 3 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อีก 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อีก 1 คนมาจากที่ประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4 คน สำหรับกลุ่มใดที่ไม่เข้าร่วมก็จช้องค์ประกอบเท่าที่มีอยู่ทำงาน โดยไม่ต้องรอให้ครบทั้ง 7 กลุ่ม ซึ่งในฐานะที่รับผิดชอบอยากให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

ชวน ยังกล่าวว่า เบื้องต้นใช้ชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่หากกรรมการต้องการปรับเปลี่ยนภายหลังก็สามารถทำได้ รวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการฯ 


'สุทิน' หวังคกก.สมานฉันท์ช่วยแก้ปัญหา

ด้านสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า โครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า ตอนนี้ยังตอบยากว่าคณะกรรมการจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ แต่เมื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วม โดยเฉพาะผู้ชุมนุมกับผู้เห็นต่าง ฝ่ายค้านก็คิดว่าน่าจะดีกว่าตอนแรกที่ไม่มีโครงสร้างเหล่านี้อยู่เลย

ส่วนที่ผู้ชุมนุมเคยปฏิเสธไม่ร่วมกรรมการสมานฉันท์นั้น สุทิน มองว่า เมื่อมีการปรับโครงสร้างแล้ว ก็เชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะเก็บไปพิจารณา จะร่วมหรือไม่คงต้องรอฟัง เช่นเดียวกับฝ่ายค้านว่าจะร่วมหรือไม่ เพราะวันนี้เป็นเพียงขั้นตอนของการวางโครงสร้างเท่านั้น ซึ่งต้องกลับไปหารือกันอีกครั้ง และหากจะร่วมจะส่งใครก็เป็นอีกขั้นตอน พร้อมมองว่า การมีคณะกรรมการสมานฉันท์นี้คงมีความหวัง แต่ว่าจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าจะสู้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะวันนี้เป็นการหารือเรื่องโครงสร้าง ซึ่งต้องรอดูกรอบเนื้อหาก่อน จึงจะสามารถตอบได้ว่าจะมีความหวังหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการก็จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมไปถึงการแก้ปัญหาในอนาคต ที่แก้ไขปัญหาควบคู่กันไป เพราะหากไม่แก้วันนี้ แล้วไปคิดทำแต่วันข้างหน้าคงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผลของการหารือจะต้องมีการเสนอไปยังทุกฝ่ายที่เป็นปัญหา 

สุทิน ยังกล่าวถึงกระแสการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ว่า เมืองไทยมีกระแสข่าวเรื่องการรัฐประหารได้ตลอด แต่จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็ไม่สามารถวางใจได้ ในทางตรงกันข้ามหากมองว่ามันไม่เกิดมัน ก็เป็นไปได้เช่นกัน ก็ต้องรอดูกันไป