ไม่พบผลการค้นหา
การมาของรถยนต์ไร้คนขับ อาจทำลายอุตสาหกรรมประกันรถยนต์แบบเดิมๆ ทิ้ง เนื่องจากความแม่นยำของเซ็นเซอร์ลดอุบัติเหตุแบบที่มนุษย์ทำไม่ได้

ปัจจุบัน หลายค่ายรถได้ออกระบบออโต้ไพล็อทออกมาให้บริการผู้ขับขี่ เช่น เทสลา โมเดล เอ็กซ์ (Tesla Model X) ซึ่งในอนาคต ระบบจะถูกยกระดับสู่การเป็นรถยนต์ไร้คนขับสมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตาม มันยังเป็นเรื่องใหม่มาก และจากเหตุการณ์สะเทือนเมื่อปีก่อน ที่รถยนต์ไร้คนขับชนคนเดินถนนในรัฐแอริโซนา ทำให้ปัจจุบันการทำประกันรถยนต์ที่มีระบบออโต้ไพล็อทติดตั้งมาด้วยราคาแพงมาก ตกอยู่ราวๆ 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

ทว่าบรรดาผู้ที่ยังคงฟาดฟันในสมรภูมิสตาร์ตอัพ และนวัตกรรมต่างเชื่อกันว่า ท้ายที่สุดแล้วรถยนต์ไร้คนขับจะปลอดภัย แม่นยำด้วยการตรวจจับของกล้อง และเซ็นเซอร์รอบคันมากกว่าการขับขี่ของมนุษย์เอง อีกทั้งยังไม่มีตัวแปรเรื่องเพศ อายุ รูปร่าง หรือนิสัยใจคอ ยิ่งไปกว่านั้น สมองกลไม่สามารถที่จะหลับใน หรือเมาเหล้าได้ด้วย

นั่นหมายความว่า ความอันตรายบนท้องถนนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์นั่งหลังพวงมาลัยจะหมดไป และจะกลายเป็นภาระหนักอึ้งของบรรดาบริษัทประกันรถยนต์ที่ยอดขายจะตกลงแน่นอน

อย่างตลาดสหรัฐฯ ที่มีการใช้รถยนต์อย่างแพร่หลาย และการซื้อรถยนต์คันหนึ่งก็ราคาไม่ได้ทำร้ายจิตใจเท่าไหร่นัก ทำให้ตลาดประกันภัยรถยนต์มีขนาดใหญ่ถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ค่าเบี้ยประกันภัย และรายได้บริษัทขึ้นอยู่กับประวัติ และนิสัยของผู้ขับขี่ หากรถยนต์ไร้คนขับเข้ามาแทนที่บนท้องถนนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รายได้ตรงนี้ก็อาจจะหดลงเป็นศูนย์ก็ได้ เพราะไม่รู้จะขายใคร

Autonomous2.jpg
  • Space_C รถยนต์ไร้คนขับจากพานาโซนิก ซึ่งออกแบบด้านในโอ่โถง เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ให้ผู้ใช้งานได้ใช้สอยตามความต้องการ

แต่ก็ยังมีโอกาสพลิกก่อนวิกฤต

หากยานยนต์ไร้คนขับสามารถพัฒนาอัพเกรดได้ถึงระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับที่ขับเคลื่อนโดยไม่ต้องมีคนขับ แต่ยังมีออพชั่นเสริมให้มนุษย์สามารถขับขี่ได้เองในบางครั้งที่ต้องการ และระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับที่มนุษย์ไม่มีส่วนข้องเกี่ยวในการขับเคลื่อนแล้ว ระบบประกันรถยนต์ที่ทำๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงที่เกิดจากมนุษย์จะหมดความสำคัญลง

“เนื่องจาก ‘ผู้ขับขี่’ ไม่ใช่ความเสี่ยงอีกต่อไป แต่ความเสี่ยงจะโยกไปที่ผู้ผลิต และผู้ถือลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับแทน” รอดนีย์ พาร์กเกอร์ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา กล่าว

นั่นหมายความว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนจะไม่ใช่ความผิดคนขับอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของกระบวนการผลิตที่มีปัญหามากกว่า

ด้านงานวิจัยฉบับหนึ่งจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีสตีเวนส์ แห่งนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2017 ระบุว่า ในปี 2035 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า มูลค่าเบี้ยประกันรวมของทั้งสหรัฐฯ จะตกลง 12.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บรรดาบริษัทประกันจะต้องออกประกันภัยรถยนต์รูปแบบใหม่ ที่โฟกัสการประกันรถยนต์ไร้คนขับมากขึ้น

วิจัยฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า บรรดาบริษัทประกันภัยยังจะพอมีเวลาที่จะขยับปรับโครงสร้างไปพร้อมๆ กับผู้ผลิตรถยนต์ เพราะคาดการณ์ว่า ในปี 2035 จะมีรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนเฉลี่ยราว 23 ล้านคันเท่านั้น (ซึ่งยังคิดเป็นไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำของรถยนต์บนท้องถนนทั้งหมดในปัจจุบันของสหรัฐฯ)

ประกันรูปแบบใหม่ของรถยนต์ไร้คนขับ ในระยะสั้นอาจจะโฟกัสไปในเรื่องของการซ่อมบำรุงไปก่อน เนื่องจากในระยะที่รถยนต์ไร้คนขับยังไม่แพร่หลาย ค่าซ่อมต่างๆ น่าจะยังมีราคาสูงอยู่ตามดีมานด์ในตลาด นี่คือคำแนะนำจากสถาบันวิจัยสตีเวนส์

Autonomous1.jpg
  • เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นั่งภายในรถยนต์ไร้คนขับจากค่ายเรโนลด์ ในงานมอเตอร์โชว์กรุงปารีส โมเดลรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบ มักได้รับการออกแบบในลักษณะภายในกว้างขวาง ผู้โดยสารสามารถนั่งหันหน้าชนกันได้ เป็นการปฏิวัติภายในห้องโดยสารของรถยนต์ไปสิ้นเชิง

เดวิด รอสส์ คีธ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาพลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเชตส์ อธิบายในข้อนี้เพิ่มเติมว่า รถยนต์ไร้คนขับเคลื่อนที่ด้วยการใช้เซ็นเซอร์นำทาง ดังนั้น หากบังโคลนหักงอแต่เพียงนิดเดียวก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาค่าซ่อมได้

ในระยะยาว ประกันภัยสำหรับรถยนต์ไร้คนขับน่าจะต้องเป็นการประกันในเรื่องความผิดพลาดของระบบซอฟแวร์ หรือเซ็นเซอร์ ซึ่งถือเป็นการประกันในด้านการผลิตแทน


แต่ความผิดพลาดของใคร? ยังเป็นข้อถกเถียง

อย่างไรก็ตาม เมื่อยังไม่มีรถยนต์ไร้คนขับสัญจรไปมาให้เกิดสถานการณ์จริง จึงยังยากจะหยั่งรู้ว่า การตัดสินถูกผิดของเคสอุบัติเหตุต่างๆ บนท้องถนนโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร และผู้ผลิตฝ่ายไหนจะถูกหรือผิด อาทิ หาก ไลดาร์ (LIDAR) เทคโนโลยีอีกขั้นของเรดาร์ ที่เป็นเซ็นเซอร์วัดแสงติดบนหลังคารถ และเป็นอุปกรณ์หัวใจสำคัญของรถยนต์ไร้คนขับเกิดพังขึ้นมา ความเสียหายดังกล่าวจะเป็นความผิดของผู้ผลิตรถยนต์ หรือบริษัทผู้ถือเทคโนโลยีไลดาร์

หรือถ้ากรณีเจ้าของรถยนต์ลืมอัพเกรดเฟิร์มแวร์จนเกิดอุบัติเหตุ ถ้ารถยนต์ขาดสัญญาณอินเทอร์เน็ตขณะวิ่งๆ อยู่ขึ้นมา ฝ่ายใดควรรับผิดชอบ?

“นี่ยังเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องร่วมกันหาทางออก” คีธ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเชตส์บอก ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญ เฮจิน ยอน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์เทิร์นกลับมองต่างว่า “มันเป็นเรื่องของนโยบายชัดๆ และรัฐบาลต่างหากจะต้องหาหาทางออก”


สตาร์ตอัพเล็งคว้าโอกาสใหม่

บนข้อถกเถียงที่ยังไม่มีคำตอบเร็วๆ นี้ แต่มีสตาร์ตอัพด้านประกันภัยเตรียมเปิดตัวไลน์ประกันรองรับความเสี่ยงของรถยนต์ไร้คนขับเสียแต่เนิ่นๆ อย่าง เอวินิว (Avinew) สตาร์ตอัพที่พัฒนามาจากสตาร์ตอัพประกันสุขภาพ ด้วยความเชื่อว่าอนาคตการประกันรถยนต์น่าจะเป็นเรื่องของการประกัน ‘สินค้า’ มากกว่าคนอย่างแน่นอน เพราะการเดินทางสัญจร จากการคมนาคมจะกลายเป็นเรื่องของการให้บริการแทน

เอวินิวกำลังเตรียมเสนอประกันสำหรับรถยนต์กึ่งไร้คนขับ และรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบ ซึ่งหลังจากเปิดตัวบริษัทเมื่อ 30 มกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้เอวินิวทำงานร่วมกับค่ายรถที่มีระบบไพล็อท อาทิ เทสลา นิสสัน ฟอร์ด และคาดิแล็ค โดยประกันภัยของเขาจะมอนิเตอร์ศึกษารูปแบบการทำงานของรถยนต์ประเภทดังกล่าว

แดน พีท ผู้ก่อตั้งเอวินิว มองว่า ธุรกิจประกันรถยนต์ไร้คนขับ สามารถหาเงินได้จากอีกทางคือ ‘ข้อมูล’ ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในซอฟต์แวร์รถยนต์อยู่แล้ว

ขณะที่บรรดาประกันภัยเจ้าใหญ่เสนอทางออกคล้ายๆ กันในการหันมาขายประกันให้ผู้ผลิตรถแทน เทเรซา ชาร์น รองประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากเนชั่นไวด์ อินชัวแรนซ์ บอกว่า “เรากำลังทำงานหนัก เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีกับบรรดาค่ายผู้ผลิตรถยนต์อยู่”

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog