ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจอินโดนีเซียจับกุมผู้ชุมนุมหลายร้อยคนที่ออกมาต่อต้านกฎหมายแรงงานฉบับแก้ไข และเกิดการประท้วงติดต่อกัน 3 วัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลแก้ ก.ม.ซึ่งถูกโจมตีว่า "เอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นนำ-ทุนใหญ่" ลิดรอนสิทธิพนักงาน ไม่ปกป้องทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม

กลุ่มนักศึกษา สมาชิกสหภาพแรงงาน และประชาชนทั่วไป รวมตัวประท้วงในหลายเมืองทั่วอินโดนีเซีย รวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงจาการ์ตา เพื่อต่อต้านข้อกำหนดต่างๆ ในกฎหมาย 79 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการลงทุน ซึ่งถูกปรับแก้และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา

สื่อท้องถิ่นและสำนักข่าวต่างประเทศเรียกกฎหมายนี้ว่า Omnibus Law และรัฐบาลระบุว่า เป็นกฎหมายซึ่งถูกปรับแก้ให้เอื้อต่อการลงทุนประกอบธุรกิจและการจ้างงาน ทั้งยังจะสร้างงานให้คนในประเทศอีกราว 3 ล้านตำแหน่ง แต่ผู้คัดค้านกฎหมายเหล่านี้มองว่าเป็นการปรับแก้เนื้อหาให้เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนและชนชั้นนำ แต่เป็นการลิดรอนสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะผู้หญิงทั่วประเทศ


ปรับแก้ แต่ถดถอย

ผู้คัดค้านกฎหมายเหล่านี้ชี้แจงว่า ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานหรือการชดเชยแรงงานถูกปรับแก้ แต่ไม่เป็นผลดีกับพนักงาน เพราะมีการปรับลดค่าชดเชยขั้นต่ำกรณีที่พนักงานถูกให้ออกจากงาน จากเดิมซึ่งต้องจ่ายชดเชยสูงสุด 32 เดือน ลดเหลือเพียง 19 เดือน ทั้งยังเปิดโอกาสให้นายจ้างทำสัญญาจ้างชั่วคราวกับพนักงานแทนการจ้างงานประจำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาชีพและสวัสดิการต่างๆ ของพนักงาน

จาฟรี ราจาฟ แกนนำสหภาพแรงงานของโรงงานผลิตบุหรี่ในเมืองบาตัม กล่าวกับ The New York Times ว่า การปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่กลับทำให้พนักงานมีสิทธิรับเงินชดเชยขั้นสูงสุดลดลงจากเดิม เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ตอกย้ำชัดเจนว่าอาจต้องมีผู้ตกลงเพราะถูกปรับลดจำนวนการจ้างงานในไม่ช้า

ประท้วงอินโดนีเซียต่อต้านกฎหมายปฏิรูปแรงงาน-3.JPG

ผู้ชุมนุมที่เคยลงคะแนนเลือก 'โจโก วิโดโด' หรือ 'โจโกวี' กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 สะท้อนความเห็นด้วยว่า การปรับแก้กฎหมายเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนถูกทรยศ เพราะโจโกวีเลือกจะทำตามความต้องการของนายทุนที่ช่วยสนับสนุนให้เขากลับมาเป็น ปธน.อีกสมัย แต่มองข้ามประชาชนที่ลงคะแนนเลือกเขาเข้ามา และก่อนหน้านี้ โจโกวีซึ่งเป็นผู้นำสายพลเรือนคนแรกหลังยุคเผด็จการซูฮาร์โต ก็เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำของประชาชน

ขณะที่แกนนำหญิงคนหนึ่งของสหภาพแรงงานโรงงานผลิตปลากระป๋อง เปิดเผยว่า การปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ได้ยกเลิกข้อบังคับที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่พนักงานที่ใช้สิทธิลาคลอด หรือลาป่วยเพราะปวดประจำเดือน ซึ่งการยกเลิกสิทธิที่เคยมีไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงทั่วประเทศ


อำนวยความสะดวกนักลงทุน แต่อาจกระทบสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว BBC รายงานอ้างอิงคำแถลงของ ปธน.อินโดนีเซีย ซึ่งระบุว่าการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดความซับซ้อนและยุ่งยากของระบบข้ารัฐการ โดยมองว่านี่เป็นการปรับแก้เพื่อให้การการดำเนินขั้นตอนตาม ก.ม.มีมาตรฐานที่ชัดเจน เป็นเอกภาพ และจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นทำงานได้อย่างสอดคล้องราบรื่นมากยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากเท่าเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองแบบรวมศูนย์ภายใต้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ การปรับแก้กฎหมายดังกล่าวจึงมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนหรือผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจเพิ่มเติม

ประท้วงอินโดนีเซียต่อต้านกฎหมายปฏิรูปแรงงาน-1.jpg

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอินโดนีเซียกลายเป็นอีกหนึ่งแนวร่วมที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การปรับแก้กฎหมายเหล่านี้ โดยชี้ว่าการปรับกระบวนการจดทะเบียนเริ่มต้นธุรกิจในอินโดนีเซียให้รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้การทำประชาพิจารณ์และสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมถูกปรับให้ใช้เวลาน้อยลง อาจส่งผลให้ศึกษาได้ไม่รอบด้าน และอาจเปิดช่องให้นักลงทุนเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงคนในชุมชนดั้งเดิม

ด้วยเหตุนี้ การชุมนุมประท้วงจึงมีผู้เข้าร่วมอย่างหนาแน่นในเกือบ 60 เมืองทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ดำเนินไปอย่างสงบ ยกเว้นเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงจาการ์ตา หลังจากที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและใช้ปืนแรงดันน้ำสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมตอบโต้การขว้างปาสิ่งของและเผาสมบัติสาธารณะ แต่แกนนำการชุมนุมระบุว่า ผู้ใช้ความรุนแรงไม่ใช่กลุ่มผู้ประท้วงกฎหมายเหล่านี้โดยตรง

ส่วนสำนักข่าว CNN รายงานว่าตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมทั่วประเทศราว 400 คนเมื่อวันที่ 9 ต.ค. และจะมีการดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

อย่างไรก็ตาม การประท้วงเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายในอินโดนีเซียที่เกิดขึ้นในปีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเดือน ต.ค.2562 มีการประท้วงต่อต้านกฎหมายห้ามหญิงและชายอยู่กินโดยไม่ได้แต่งงาน ผู้ที่ออกมารวมตัวประท้วงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะมองว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและ 'ล้าหลัง'

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: