ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนรอยความเป็นมาและวิถีชีวิตของ 'ม้ง' ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ที่พวกเขาสามารถปรับตัวให้ทันสมัย เข้าถึงโลกยุคปัจจุบันได้เท่าเทียมกับชาวเมือง

การดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ 'ม้ง' ในประเทศไทย กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสื่อโซเชียลช่วงส่งท้ายปี หลังจากที่ 'วาสนา นาน่วม' คอลัมนิสต์ผู้มีชื่อเสียงจากการเป็น 'นักข่าวสายทหาร' มานานปี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กโดยอ้างอิงบทความของ 'เสืออากาศ24/7' นายพลทัพฟ้า คอลัมนิสต์ ประจำเพจ ซึ่งตั้งคำถามกับ 'ม้ง' และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ว่า "ชาติพันธ์ุกลุ่มนี้สมควรหรือไม่??? ที่จะมีสิทธิ์ครอบครองที่ดินบนแผ่นดินไทย" หร้อมย้ำว่า "ชาติพันธ์ุ มอญ จีน ต่างหากที่สมควรมีสิทธิได้ที่ดินบนแผ่นดินไทย เพราะร่วมสร้างชาติไทย มา.....แนะ ควรดูแล คนไทยก่อน"

ทีมวอยซ์ออนไลน์ จึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อย้อนรอยความเป็นมาเกี่ยวกับ 'ม้ง' มานำเสนอ พบว่า 'ม้ง' เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน และกระจายอยู่ในหลายจังหวัดของจีนแผ่นดินใหญ่ เรื่อยมาจนถึงเวียดนามเหนือ สปป.ลาว และประเทศไทย 

ในประเทศไทยนั้นมีประชากร "ม้ง" อยู่ราว 2 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.37 ของจำนวนประชากรชาวเขาในไทย โดยแยกย้ายกันไปอยู่ในจังหวัดต่างๆ 14 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ ตาก ลำปาง พะเยา เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร พิษณุโลก เลย กาญจนบุรี และสุโขทัย ส่วนชุมชนม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

"ม้ง" มีชื่อเรียกที่คนอื่นเรียกอีก เช่น "แม้ว" หรือ "เหมียว" แต่ "ม้ง" จะเรียกตัวเองว่า "ม้ง" ส่วนภาษาที่ใช้พูด คือ "ภาษาม้ง" และภาษาเขียน ก็คือ "ภาษาม้ง" ซึ่ง"ภาษาม้ง" จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาม้ง - เมี่ยน

โดย "ม้ง" ในไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักตามสำเนียงภาษา และการแต่งกายคือ "ม้งเด๊อ" และ "ม้งจั้ว" โดยทั้ง 2 กลุ่มแม้จะมีสำเนียงและคำศัพท์บางส่วนที่แตกต่างกันแต่พวกเขาต่างสามารถสื่อสารกันเข้าใจ เช่นเดียวกับภาษาคำเมืองกับภาษาไทย หรือภาษาไทยลื้อกับภาษาคำเมือง 

ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับต้นกำเนิดของ "ม้ง" จากการสันนิษฐานที่ได้จากความตีความตามข้อมูลหลายแห่ง ทำให้เห็นถึง 3 แนวคิด คือ

AFP-อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบปะกับชาวม้งในจังหวัดกำแพงเพชรเมื่อปี 2554.jpg
  • อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบปะกับชาวม้งในจังหวัดกำแพงเพชรเมื่อปี 2554

แนวคิดแรกสันนิษฐานว่า 'ม้ง' น่าจะมีต้นกำเนิดจากดินแดนขั้วโลกเหนือ โดยอพยพผ่านไซบีเรียและมองโกเลียเข้ามายังดินแดนทางตอนเหนือของจีน จากนั้นลงมายังทางใต้ของจีน และต่อมาภายหลังส่วนหนึ่งเดินทางออกไปตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือที่ปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย ดังสะท้อนอยู่ในงานของมิชชันนารีตะวันตกชื่อ Savina ซึ่งแนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการศึกษาของนักวิชาการรุ่นหลังอย่าง Quincy และคนอื่นๆ อย่างมากที่พยายามอธิบายว่าตัวตนม้งผ่านลักษณะกรรมพันธุ์ที่คล้ายกับคนผิวขาวในยุโรปที่มีผมสีบรอนและนัยน์ตาสีฟ้า 

แนวคิดที่สอง สันนิฐานว่าต้นกำเนิดของม้งอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศมองโกเลียปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากตำนานที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงม้งคนหนึ่งชื่อ "เม่าเก้าเลีย" หรือ "มองโกเลีย" ที่ไม่กลัวสิ่งอันตรายใดๆ จนเป็นที่น่ายกย่องและนำมาสู่การเรียกชื่อพื้นที่ที่เด็กหญิงม้งคนนั้นอยู่ว่า "มองโกเลีย" เหตุนี้จึงมีการสันนิฐานว่า "ม้ง" มีถิ่นกำเนิดในประเทศมองโกเลียปัจจุบัน

แนวคิดสุดท้าย สันนิษฐานว่า "ม้ง" เป็นชนดั้งเดิมในจีน (aboriginal Chinese) โดยแรกเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลเหลือง จากนั้นได้เคลื่อนย้ายทำมาหากินตามแม่น้ำฮวงโหเข้ามาสู่บริเวณที่เป็นภาคกลางของจีน ต่อมาถูกรุกรานจากชาวมองโกลจึงได้อพยพลงมายังทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นมณฑลเสฉวน กวางสี และยูนนาน 

สาวม้ง.jpg
  • ชาวม้งในประเทศจีน

ทั้งนี้ ภายหลังช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เกิดสงครามการต่อต้านรัฐบาลส่วนกลางปักกิ่งที่ทำการขูดรีดและการเก็บภาษีสูงจากกลุ่มผู้มีอำนาจในจีน ส่งผลให้ม้งส่วนหนึ่งได้อพยพออกจากดินแดนในจีนเข้ามายังพื้นที่บริเวณแถบอินโดจีนเพื่อการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากินใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย

อาชีพส่วนใหญ่ของ "ม้ง" นั้นในอดีตทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูกพืชพื้นบ้าน และเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก โดยนอกเหนือจากการปลูกข้าว พืชผัก และข้าวโพดแล้ว การปลูกฝิ่น ถือเป็นพืชที่ทำรายได้หลักของ "ม้ง" แม้รัฐจะมีการประกาศให้ฝิ่นเป็นพืชผิดกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 แต่ "ม้ง" ส่วนใหญ่ยังปลูกฝิ่นเรื่อยมาจน พ.ศ. 2520 ทางราชการเริ่มเข้มงวดขึ้น ประกอบกับมีโครงการพัฒนาพันธุ์พืชทดแทนฝิ่นต่างๆ เริ่มเข้าไปนำเสนอให้กับชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงด้วย

ด้วยเหตุนี้ "ม้ง" ค่อยๆ เริ่มหันมาปลูกพืชผักและไม้ผลอย่างอื่นเข้ามาแทนที่ฝิ่นตามการส่งเสริมขององค์กรต่างๆ และตามกลไกลของตลาดนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาชีพเกษตรนั้นถือเป็นอาชีพหลักของคนม้งส่วนใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา "ม้ง" ในไทยหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการทำการเกษตรด้วย เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ข้าราชการ นักกิจกรรม นักวิชาการ และรับจ้างทั่วไป

ส.ส.ม้ง พรรคอนาคตใหม่.jpg
  • พรรคอนาคตใหม่พบปะชาวม้ง

การแต่งกายของ "ม้ง" หากจำแนก "ม้ง" ในประเทศไทยตามลักษณะการแต่งงาย สามารถจำแนกได้ออกเป็นสองกลุ่มกล่าวคือ "ม้งเด๊อ" (ม้งขาว) และ "ม้งจั้ว" (ม้งเขียว) ย้อนหลังไปประมาณสองทศวรรษ การแต่งกายของสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของลายผ้าปักและสีของเสื้อผ้า

แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่โดยรวมแล้วทั้งสองกลุ่มในอดีตต่างปลูกและผลิตเสื้อผ้าจากพืชที่เรียกว่า "กัญชง" (maj/ maaj) "กัญชง" สำหรับ "ม้ง" แล้วไม่ใช้พืชเสพติด แต่เป็นพืชที่มีคุณค่าและความหมายต่อชีวิตทั้งในมิติทางวัฒนธรรมและการใช้ประโยชน์ เมื่อมีคนเสียชีวิตต้องมีชุดเสื้อผ้าและรองเท้าคนตายที่ทำด้วยเส้นใยกัญชง เพราะความเชื่อและบทสวดในพิธีศพนั้น การมีเส้นใยกันชงเท่านั้นจึงจะนำพาวิญญาณผู้ตายให้สามารถเดินทางไปอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษได้  

ชาวม้ง.jpg

หลังช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามความขัดแย้งในประเทศไทยระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับฝ่ายรัฐบาลไทยอันมีมวลชนม้งเข้าไปเกี่ยวข้องกับทั้งกลุ่มอำนาจทั้งสองฝ่ายเป็นต้นมา เกิดการตื่นตัวในการรวมตัวกันมากขึ้นตั้งแต่ระดับเครือข่ายขนาดเล็กที่เป็นระดับชุมชนในละแวกเดียวกัน ไปจนถึงการรวมตัวกันในระดับจังหวัด และระดับชาติ โดยเป้าหมายในการรวมตัวดังกล่าวนั้นมีความหลากหลายพอสมควร เช่น การรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ภายใต้ชื่อ "เครือข่ายเกษตรกรดอยยาว-ผาหม่น" และการรวมตัวกันของม้งในเขต 4 จังหวัด (เชียงราย พะเยา น่าน แพร่) ในชื่อ "ชมรมม้งแห่งประเทศไทย" เพื่อสร้างกฎกติกาใหม่ในวัฒนธรรมม้งโดยเฉพาะการแต่งงานและพิธีงานศพให้เข้ากับยุคสมัยของทุนนิยมในปัจจุบัน ม้งในเชียงใหม่ก็มีการรวมตัวกันภายใต้ชื่อ "สมาคมม้งแห่งประเทศไทย" เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีและหาพื้นที่ให้กับคนม้งในประเทศไทยผ่านการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม

นอกจากนี้แล้ว เมื่อคนม้งเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองใหญ่มากขึ้น ก็ทำให้เกิดการรวมตัวก็เป็นเครือข่ายม้งในเมืองด้วย เช่น เครือข่ายม้งในตัวเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายชมรมนักศึกษาม้งจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมม้งกรุงเทพฯ และเครือข่าย และสมาคมพ่อค้าม้งไทย เป็นต้น โดยการรวมตัวดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือกันและกันในระหว่างที่เรียนหนังสือหรือทำมาหากินอยู่ในเมือง และรวมตัวกันเพื่อจัดงานปีใหม่ร่วมกันเพื่อสร้างพื้นที่ของตนเองในเมือง ทำให้ปัจจุบันนอกจากจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่ม้งตามชุมชนบนดอยแล้ว ยังมีการจัดงานปีใหม่ม้งในเมืองด้วย นอกเหนือจากเครือข่ายที่กล่าวมานี้ก็เป็นเครือข่ายระดับชุมชนท้องถิ่นที่เป็นการรวมตัวของชุมชนม้งในละแวกใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างความปรองดองกันและแก้ไขปัญหาเฉพาะท้องถิ่นไป

ที่มา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: