ไม่พบผลการค้นหา
มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ไฟเขียว รัฐสภาแก้ รธน.จัดทำฉบับใหม่ได้ แต่ต้องทำประชามติก่อนจัดทำใหม่และหลังร่างฉบับใหม่เสร็จ พร้อมไม่รับคำร้องร่างแก้ รธน.ล้มล้างการปกครอง

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าว กรณีศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ กรณีประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(1)

โดยในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 9 ก.พ. 2564 พิจารณาญัตติด่วนกรณีที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้เสนอให้รัฐสภา พิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ผลการลงมติที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากเห็นด้วย ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามญัตติดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 ประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210  วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

โดยผลการพิจารณาคดีนี้เป็นคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้อง จึงไม่มีการออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติ ซึ่งเป็นวันที่ปรากฎในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

กรณี ณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49  

ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มาตรา 50 (1) มาตรา 51 และมาตรา 213 โดยกล่าวอ้างว่าการที่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ ผู้ถูกร้องที่ 1 เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ .. พุทธศักราช..... และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ และคณะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ .. พุทธศักราช ..... ต่อประธานรัฐสภา และนำเข้าสู่วาระการประชุมที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยที่ประชุมลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ทั้งสองฉบับในวาระที่หนึ่ง เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 49 มาตรา 255 และมาตรา 256 ประกอบมาตรา 5 และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ทั้งสองฉบับเป็นการทำลายหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรัฐสภาและหลักการตรวจสอบโดยประชาชนซึ่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 49 มาตรา 255 มาตรา 256 ประกอบ มาตรา 5 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอและยังห่างไกลเกินเหตุที่จะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

กรณี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องขอยื่นบัญชีรายชื่อ และเอกสารประกอบเป็นกรณีที่ผู้ร้อง กล่าวอ้างว่าการที่สมาชิกรัฐสภา จำนวน 576 คน ลงมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามญัตติที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกรัฐสภา จำนวน 647 คน ลงมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามญัตติที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 16/1) ทั้งสองฉบับในวาระที่หนึ่ง เป็นการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และขอให้มีคำสั่งให้ประธานรัฐสภา สั่งระงับหรืองดเว้นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาหรือลงมติในวาระที่สองและวาระที่สามจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องขอยื่นบัญชีรายชื่อ และเอกสารประกอบ แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอและยังห่างไกลเกินเหตุที่จะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

ผลวินิจฉัยผลศาล




ผลวินิจฉัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง