ไม่พบผลการค้นหา
ไม่รอด! ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 6 ปี 'อนุรักษ์' อดีต ส.ส.เพื่อไทย เรียกรับเงิน 5 ล้านจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ชี้ไม่มีเหตุโทรศัพท์ขอเอกสาร ให้ฝ่ายเลขาฯ ดำเนินการแทนได้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 25 เม.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.4/2565 กรณีอัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้อง อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ได้เรียกรับสินบนจำนวน 5 ล้านบาท จาก ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เมื่อครั้ง อนุรักษ์ ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ใน กรรมาธิการฯ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในการพิจารณางบประมาณโครงการขุดเจาะน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า อนุรักษ์ กระทำผิดตามฟ้องจริง ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริตฯ พ.ศ.2561 มาตรา 173 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากลงโทษจำคุก 6 ปี ให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาคดีจริยธรรมร้ายแรงก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์ว่า ด้วย อนุรักษ์ มีอำนาจในตำแหน่ง ส.ส. และอนุกรรมาธิการฯ อาจเสนอความเห็นให้คุณหรือโทษแก่งบประมาณของหน่วยราชการได้ การที่ อนุรักษ์ โทรศัพท์ไปเรียกเงินและของานจาก ศักดิ์ดา ย่อมเป็นการกระทำในตำแหน่งและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อนุรักษ์ โดยตรง จึงเป็นการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินโดยมิชอบ และเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน

องค์คณะผู้พิพากษายังเห็นว่า กรณี อนุรักษ์ให้การโต้แย้ง ศักดิ์ดา ว่าเป็นการโทรศัพท์ไปซักถามขอเอกสารเพิ่มเติมและแบบแปลน รวมถึงประมาณราคาของโครงการนั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถมอบหมายฝ่ายเลขานุการดำเนินการให้ได้ ไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์ติดต่อด้วยตนเอง และพิจารณาระยะเวลาในการโทรศัพท์ประมาณ 15 นาที หากเพียงแค่ขอเอกสาร ไม่น่าใช้เวลานานเพียงนี้

ทั้งนี้ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่อยู่ในวิสัยที่ ศักดิ์ดา จะวางแผนสร้างเรื่อง และหาก อนุรักษ์ ไม่โทรศัพท์เรียกเงินและของาน ก็ไม่มีเหตุที่ ศักดิ์ดา จะต้องพูดเรื่องร้ายแรงนี้ในที่ประชุม คำเบิกความของ ศักดิ์ดา มีเหตุผลสอดคล้องเชื่อมโยง กับพยานอื่นอีก 3 ปากที่เรียก ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ รับฟังได้ว่า อนุรักษ์ได้กระทำตามข้อกล่าวหาจริง

อย่างไรก็ตาม ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. อนุรักษ์คัดค้านว่า ตนได้ทำหนังสือขอเรียกพยานเอกสารจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอเรียกพยานบุคคลมาให้การ 3 คน แต่ ป.ป.ช. ไม่ได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ จึงถือเป็นการเร่งรัดสรุปสำนวน ซึ่งศาลเห็นว่า อนุรักษ์ไม่ ได้ร้องขอเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานโดยตรง เพียงแต่ขอให้ติดตามเร่งรัดให้ส่งเอกสารคำชี้แจงเพื่อนำมาประกอบคำชี้แจงของตนเท่านั้น เมื่อขณะนั้น อนุรักษ์ ยังไม่ได้ยื่นคำชี้แจงมา จึงไม่จำเป็นที่คณะไต่สวนต้องเรียกเอกสาร 

ส่วนที่ไม่เรียกพยานบุคคลตามที่ร้องขอ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้บันทึกเหตุผลไว้แล้ว อีกทั้งยังมีการไต่สวนพยานบุคคลอีกถึง 17 ปาก และอนุญาตให้ อนุรักษ์ ขยายเวลายื่นคำชี้แจงอย่างเต็มที่ จึงไม่ได้เร่งรีบสรุปสำนวนตามที่กล่าวอ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเข้าฟังคำพิพากษาครั้งนี้ มีครอบครัว อนุรักษ์ ประกอบด้วยลูกชาย และลูกสาว เดินทางมาให้กำลังใจ ตลอดการอ่านคำพิพากษา 1 ชั่วโมง อนุรักษ์ มีสีหน้าเคร่งเครียด และหันไปพูดคุยกับลูกชายเป็นระยะ ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น อนุรักษ์ได้ยื่นทำเรื่องประกันตัวทันที และเตรียมต่อสู้คดีต่อไปในชั้นอุทธรณ์


'อนุรักษ์' ยื่นประกันพร้อมสู้คดี

หลังอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ อม. 4/2565 องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ลงโทษจำคุก 6 ปี อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย กรณีเรียกรับสินบน 5 ล้านบาท จาก ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

หลังฟังคำพิพากษา อนุรักษ์ ได้ยื่นขอประกันตัว และเตรียมต่อสู้คดี พร้อมเผยว่า ตนเคารพในคำพิพากษาขององค์คณะศาลฎีกา แต่จำเป็นต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และคดียังไม่ถึงที่สุด 

อนุรักษ์ กล่าวต่อไปว่า คดีนี้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ของตน โดยเฉพาะเป็นฝ่ายค้านในพรรคเพื่อไทย ในการเป็นคณะกรรมาธิการเป็นเรื่องปกติที่ต้องตั้งคำถาม ซักถามข้อสงสัย และเมื่อถูกตั้งคำถามก็ต้องตอบเป็นเรื่องปกติ

"ทุกกระทรวงก็มอบแบบแปลนและประมาณราคาให้กรรมาธิการพิจารณาทั้งหมด ยกเว้นกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทำให้เกิดความสงสัย ว่าส่อไปในทางทุจริต จึงต้องตรวจสอบเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หากกรรมาธิการไม่สามารถทำหน้าที่ดีได้ แล้วจะมีประโยชน์อย่างไรต่อประเทศชาติ"

อนุรักษ์ ยังยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นผู้โทรศัพท์ไปหานายศักดิ์ดา แต่เป็นนายศักดิ์ดา ที่โทรมาหาตนถึง 5 ครั้ง และได้สนทนากัน 2 ครั้งที่ตนโทรกลับ และอีกหลายครั้งที่ตนไม่ได้โทรกลับ

คดีนี้ ตนถูกเร่งรัดดำเนินคดี ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาในเวลาไม่กี่วันโดยยังไม่มีหลักฐาน และคดีนี้มีประจักษ์พยานอยู่เพียงคนเดียว คือ ศักดิ์ดา เอง โดยไม่มีทั้งพยานบุคคลหรือวัตถุพยานอื่นๆเลย เช่น คลิปเสียง แต่ ศักดิ์ดา มักกล่าวอ้างว่ามีบันทึกเทปไว้ พร้อมย้ำว่า เป็นเพียงข้อสงสัย แต่เคารพในคำพิพากษา

"หากหลังเลือกตั้งนี้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา คณะกรรมาธิการทุกคนต้องตรวจสอบระวัง โทรหาใครที่เป็นข้าราชการระดับสูงไม่ได้เลย หากถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินก็จะโดนเหมือนผมอีก จะมีมาตรฐานใดให้คณะกรรมาธิการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติได้บ้าง เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีการเรียกเงินกันจริงหรือไม่ หลักฐานมั่นคงแค่ไหน คดีที่มีพยานปากเดียว เคยลงโทษกันหรือไม่ เชื่อว่าที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาจะให้ความเป็นธรรมกับผม"

อนุรักษ์ ยังระบุว่า ตนมั่นใจในการต่อสู้คดีมาโดยตลอด เพราะไม่เคยเรียกรับเงินใดๆ ไม่เคยมีปรากฏในประวัติการทำงานที่ผ่านมา ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองมาโดยตลอด กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นหน่วยงานที่ดีทำประโยชน์ให้ประชาชน ซึ่งตนเห็นด้วย แต่ตนไม่เห็นด้วยที่เสนอราคาแพงเกินไป รถราคาคันละ 8-10 ล้านบาท และขุดเจาะเบิกงบประมาณ 171,000 บาทต่อหลุม ตอบคำถามไม่ได้ว่านำงบประมาณไปไหน อีกทั้งคดีนี้ยังไม่มีแบบแปลนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลอยู่ในสำนวนคดีนี้ด้วยซ้ำ ตนได้มาจากแหล่งอื่น ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไม่เคยส่งแบบแปลนมาเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 195 วรรค 4 ระบุว่า คําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษา