ไม่พบผลการค้นหา
"ชวลิต" จี้รัฐเร่งจัดทำร่างพิธีสารการส่งออก-นำเข้าสินค้าผลไม้ไทยสู่ตลาดจีนตอนใต้ ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน)

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าได้รับหนังสือร้องเรียนจากประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม และผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนว่าได้ดำเนินการขนส่งผลไม้จากไทยผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน) ไปตามถนนหมายเลข R 12 สู่จีนตอนใต้ โดยได้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าผ่านแดนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่การผ่านแดน ณ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน) ยังไม่มีพิธีสารการส่งออก - นำเข้าสินค้าระหว่างไทย - จีน อย่างเป็นทางการ มีเพียงพิธีสารฯ สินค้าผ่านแดน ณ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต)

การขนส่งผลไม้สดจากไทย เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย จากภาคตะวันออก และภาคเหนือ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการขนส่งสินค้าให้น้อยที่สุด ระยะทางสั้นที่สุด ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งต่ำกว่า ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกได้ ทำให้สินค้าผลไม้ของไทยถึงตลาดปลายทางเร็วขึ้น ทั้งลดอัตราการสูญเสียได้มากกว่า   

ในข้อเท็จจริง การขนส่งสินค้าผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน) ไปตามถนนหมายเลข R 12 เป็นเส้นทางไปสู่จีนตอนใต้ที่สั้นที่สุดเพียง 823 กิโลเมตร สั้นกว่าการข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) ไปตามถนนหมายเลข R 9 ที่ยาวถึง 1,090 กิโลเมตร เพียงแต่การข้ามที่มุกดาหาร มีพิธีสารการส่งออก - นำเข้าสินค้าระหว่างไทย - จีนแล้ว ส่วนที่นครพนมยังไม่มีพิธีสาร ฯ ระหว่างไทย - จีน

นายชวลิต กล่าวว่า จากการติดตามเรื่องเดิม เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2558 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ากำลังจัดทำร่างพิธีสารการส่งออก - นำเข้าสินค้าระหว่างไทย - จีน ผ่านเส้นทาง R 12 ขณะนี้เวลาผ่านมาย่างเข้าปีที่ 5 ยังไม่ได้มีการลงนามในพิธีสารดังกล่าว ไม่ทราบว่ามีปัญหาอุปสรรคใด โดยขอแจ้งว่า ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผลไม้ไทยทั่วทุกภาคนิยมมาใช้เส้นทาง R 12 ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่นครพนมเพราะเป็นเส้นทางไปสู่จีนตอนใต้ที่สั้นที่สุดดังกล่าวข้างต้น จนมีมูลค่าสินค้าผ่านแดน ปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท จึงขอให้รัฐบาลเร่งรัดการจัดทำร่างพิธีสารโดยเร็วเพื่อส่งเสริมการค้าผ่านแดนให้มีความยั่งยืน สร้างความมั่นใจกับผู้ประกอบการขนส่งสินค้ารวมทั้งเกษตรกรผู้ผลิตผลไม้ไทยจะได้มีความมั่นคงในอาชีพ