ไม่พบผลการค้นหา
เปิดใจทีมเลี้ยงพะยูนเกยตื้น "มาเรียม" หวังให้รอดกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ห่วงร่างกายอ่อนแอ เพราะขาดนมแม่ คนสนใจดูคลิปแบบเรียลลิตี้เอาใจช่วย สะท้อนปรากฎการณ์อนุรักษ์ธรรมชาติ

เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่พบลูกพะยูนอายุเพียงไม่กี่เดือน หลงมาเกยตื้นที่บริเวณอ่าวดูหยง ใกล้เขาบาตู ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้วางแผนให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง "วอยซ์ ออนไลน์" ได้สัมภาษณ์ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมสัตวแพทย์และนายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง

ทุกคนรอดูคลิปของ "มาเรียม" ว่าตลอดทั้งวันมีอะไรเกิดอะไรขึ้นบ้าง

นายชัยพฤกษ์ บอกว่า ถือเป็นเรื่องดีที่คนให้ความสนใจ แสดงให้เห็นถึงกระแสอนุรักษ์ ซึ่งการตามติดถ่ายชีวิตพะยูน ไม่ถือว่าเป็นการรบกวน แต่เป็นวิธีการอนุบาลให้สัตว์อยู่รอดกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานเกือบ 24 ชั่วโมง เพราะสภาพหลังเกยตื้นในช่วงที่ผ่านมา ลูกพะยูนอายุเพียง 5-6 เดือนที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ดีนัก การขาดแม่ดูแล ทำให้มีปัญหาเรื่องการเกยตื้นบ่อยครั้ง เจ้าหน้าที่จึงต้องมีการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของทุกคนที่ได้เลี้ยงดูสัตว์หายากแบบจริงจัง

การทำงานของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นอย่างไรบ้าง

ต้องยอมรับว่าถึงวันนี้ทุกคนเหนื่อยล้า โดยเฉพาะทีมสัตวแพทย์ที่ต้องปฏิบัติงานลอยคอในทะเลทั้งวันเพื่อให้นม ส่วนกลางคืนเจ้าหน้าที่ต้องลาดตะเวนสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เพื่อดูว่าพะยูนจะเกยตื้นช่วงเวลาไหน ซึ่งบางครั้งมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น เพราะบริเวณดังกล่าวมีแมงกระพรุน รวมทั้งปลากระเบน ทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บพอสมควร ทั้งนี้ได้หาทางป้องกันโดยทำตาข่ายกันระหว่างที่ให้นมพะยูน คาดว่าจะได้ผลดีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บลดลง

พัฒนาการของ "มาเรียม" หลังได้รับการช่วยเหลือ

มีพัฒนาการ 2-3 เรื่อง ที่เห็นได้ชัดคือ บริเวณลำตัวของมาเรียมจากเดิมมีแผลจากการถูกบาดของหอยกาบ ปัจจุบันไม่ค่อยมีแผลแล้ว แสดงให้เห็นว่าสามารถหลบหลีกได้ด้วยตัวเอง ส่วนช่วงกลางวันหลังเจ้าหน้าที่เลี้ยงแล้วพาไปร่องน้ำลึกไกลกว่า 1 กิโลเมตร พบว่ามาเรียมว่ายน้ำกลับมาในพิกัดเดิมได้ แสดงให้เห็นถึงความจำ

เมื่อคนมาเลี้ยงจะทำให้ติดพฤติกรรมการดูแลจนลืมความเป็นธรรมชาติหรือไม่

เราเลี้ยงให้ติดกับพฤติกรรมธรรมชาติและมนุษย์ด้วย เพราะเขาไม่มีแม่ดูแล พะยูนยังไม่สามารถลงน้ำเองได้ในช่วงน้ำลง ทำให้เกยตื้นอย่างทุกวันนี้ จึงต้องดูแลใกล้ชิดและดูพฤติกรรม เพราะตามธรรมชาติหลังพะยูนหย่านม 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี แล้วจึงเริ่มกินหญ้าทะล หากถึงเวลานั้นจะหายห่วงว่าพะยูนอยู่กับธรรมชาติได้

เรื่องที่ห่วงในขณะนี้

1.เรือต่างถิ่นที่ยังไม่รู้ว่ามาเรียมอยู่ที่บริเวณนี้ ในช่วงเวลากลางคืน อาจจะโดนใบพัดเรือได้ 2.ความแข็งแรงของมาเรียม เพราะก่อนไปเจอคาดว่าจะหลงแม่ประมาณ 4 วัน หลังจากนั้นได้กินนมแพะ แม้จะทดแทนกันได้ แต่สารอาหารไม่เหมือนนมแม่ จึงเป็นห่วงเรื่องพัฒนาการโตช้ากว่าปกติ 3.หากเกิดพายุในช่วงนี้ อาจต้องเตรียมบ่ออนุบาลดูแล เพราะพะยูนยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้




พะยูน มาเรียม

แนวคิดสร้างบ่ออนุบาลในทะเล

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา บอกว่า หลังจากที่ต้องติดตามว่าพะยูนจะเกยตื้นเวลาไหน ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความเ่หนื่อยล้า จึงคิดว่าหากมีบ่ออนุบาลในทะเล จะช่วยให้การดูแลทำได้ดีขึ้น เพราะเมื่อน้ำลง แต่ในบ่อยังจะมีน้ำเหลืออยู่ทำให้พะยูนอยู่ได้ แต่ต้องคิดหลายเรื่องว่าบ่อดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับธรรมชาติบริเวณโดยรอบหรือไม่ ขณะนี้หน่วยงานเอกชนได้เข้ามาช่วยออกแบบ หากแล้วเสร็จจะนำมาหารือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน อีกครั้ง ก่อนหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการหรือไม่ เพราะต้องดูทั้งผลดีผลเสียในระยะสั้น และระยะยาว คาดว่า 1-2 อาทิตย์จะได้ข้อสรุป

จะมีโอกาสพะยูนหลงแม่ได้อีกหรือไม่

มีความเป็นไปได้หากสัตว์ป่วย ซึ่งที่ผ่านมามีโลมาเกยตื้นตาย แต่พะยูนเป็นครั้งแรก ที่สำคัญอยากฝากทุกคนให้ช่วยเก็บขยะในท้องทะเล เช่น เชือก สายเบ็ด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสัตว์ ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

เปิดบัญชีเพื่อช่วนกันระดมทุนเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูมาเรียม

เป็นบัญชี "กองทุนช่วยชีวิตสัตว์น้ำ" ซึ่งการช่วยเหลือมาเรียมในแต่ละวันสูงถึงวันละ 2,000 บาท ช่วงแรกทราบว่าเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันช่วยเหลือจะระดมเงินส่วนตัวกันเอง จึงได้ใช้เงินกองทุนนี้เข้ามา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใจบุญร่วมบริจาคเข้ามาแล้วประมาณ 300,000 บาท แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะกว่าพะยูนจะช่วยเหลือตัวเองได้ ยังใช้เวลาอีกนาน และเงินที่เข้ามาหากใช้ในภารกิจนี้เสร็จสิ้นแล้ว เงินที่เหลือจะนำไปช่วยเหลือสัตว์น้ำอื่นๆ ต่อไปได้อีก



64693757_10157813543609271_205558496291192832_n.jpg



ขอบคุณภาพ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช