ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.มูลนิธิผสานฯ ขอศาลทบทวนฝากขัง ตะวัน-แฟรงค์ หวังศาลยึดหลักการ กลับมาเป็นเสาหลักของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ เป็นมืออาชีพ โดยปราศจากอคติและปลอดพ้นจากการแทรกแซงทั้งปวง

9 มี.ค.2567 พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วยกลุ่มมวลชนนัดใส่ชุดดำ เข้ายื่นคำแถลงต่อศาลอาญา เพื่อขอให้ศาลทบทวบคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผัดที่ 3 ของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร (แฟรงค์) ซึ่งทั้งคู่ถูกจับกุมและถูกขออำนาจศาลฝากขังในระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2567 จากการถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หลังจากเหตุการณ์บีบแตรใส่รถเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดท้ายขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2567

ความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรสิทธิมนุษยชน และบุคคลต่างๆ มีความกังวลต่อการที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยที่คดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่งละเมิดต่อหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม

นอกจากนี้ผู้ต้องหา หรือจำเลยอีกหลายคน ที่เป็นแกนนำนักกิจกรรมทางสังคมการเมือง ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐบาล เนื่องจากพวกเขามีความคิดความเชื่อที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ ตามหลักสิทธิมนุษยชนถือว่า สิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อทางสังคมเป็นสิทธิเสรีภาพอันสมบูรณ์ของบุคคลที่รัฐหรือผู้มีอำนาจใดๆ ไม่อาจอ้างเหตุผล หรือสถานการณ์ใดๆ เพื่อจำกัดลิดรอดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ แต่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับถือว่า “ความคิด ความเชื่อของบุคคลที่ต่างจากผู้มีอำนาจเป็นอาชญากร”

ทั้งนี้ในคำแถลงระบุด้วยว่า การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาบางคนในคดีของนักกิจกรรม มีลักษณะที่อาจทำให้เห็นว่าไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของหลักการที่ศาลต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ เป็นมืออาชีพ โดยปราศจากอคติและปลอดพ้นจากการแทรกแซงทั้งปวง

คำแถลงย้ำด้วยว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกสั่งขัง ถูกถอนการประกันตัวทั้งที่พวกเขาไม่มีพฤติกรรมที่หลบหนี ตรงกันข้ามพวกเขากลับแสดงออกอย่างเอาจริงเอาจังว่าพร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ต่อสู้เพื่อยืนยันว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อทางสังคมการเมือง และมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อดังกล่าว

จึงขอให้ศาลทบทวนคำสั่งอนุญาตฝากขังในคดีของตะวันและแฟรงค์อย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องรอให้มีการยื่นขอฝากขังผัดที่ 4 และขอให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนที่เป็นเยาวชน เพื่อให้ทั้งคู่ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และเพื่อให้ฝ่ายตุลาการสามารถมีบทบาทเป็นเสาหลักที่ให้ความเป็นธรรมต่อประชาชน และทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและนำมาซึ่งสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมตามหลักการประชาธิปไตย