ไม่พบผลการค้นหา
9 พ.ค. 2488 ตามเวลาท้องถิ่นมอสโก นาซีเยอรมนีลงนามในข้อตกลงยอมแพ้สงคราม หลังจากการสู้รบกันมานานกว่าหลายปีของสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีโซเวียตเป็นภาคี และฝ่ายอักษะที่มีนาซีเยอรมนีเป็นผู้นำในการรบทั่วทั้งภูมิภาคยุโรป

นั้บตั้งแต่วันที่นาซีเยอรมนีลงนามยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ณ กรุงเบอร์ลิน ช่วงตอนเย็นของวันที่ 8 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ในปี 2508 รัฐบาลโซเวียตได้ประกาศให้วันที่ 9 พ.ค.ของทุกปีเป็น “วันแห่งชัยชนะ” หลังจากที่กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตเข้าล้อมกรุงเบอร์ลิน จนส่งผลให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำสูงสุดของนาซีเยอรมนีปลิดชีพตนเอง ตามมาด้วยการล่มสลายของจักรวรรดิที่สามของเยอรมัน มรดกวันแห่งชัยชนะของโซเวียตตกทอดมาถึงรัสเซียในปัจจุบัน

รัสเซียกำลังทำสงครามในยูเครน ด้วยข้ออ้างที่หวนให้ประชาชนของตนเองระลึกถึงความเลวร้ายของนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ดี ข้ออ้างเรื่องการ “ถอนระบอบนาซี” ออกจากยูเครนอาจฟังขึ้นในหูของผู้นิยมระบอบปูติน แต่มันกลับฟังดูเข้าใจยากและเป็นเรื่องตลกร้ายสำหรับสายตาประชาคมโลก โดยเฉพาะกับข้ออ้างของการ “ถอนระบอบนาซี” ออกจากยูเครน ประเทศที่มีประธานาธิบดีเชื้อสายยิว


ข้ออ้างยูเครนขอเข้า NATO เป็นแค่การปูทางบุกของรัสเซีย

รัสเซียเริ่มเปิดฉากเข้าโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ผ่านทางพรมแดนทางตอนเหนือ ตะวันออก และตอนใต้ของยูเครน หลังจากกระแสข่าวกรองและการออกมาเตือนของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกบางชาติว่า รัสเซียกำลังวางแผนในการทำการรุกรานยูเครน อย่างไรก็ดี รัสเซียปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าวมาโดยตลอด ก่อนที่ตนจะเริ่ม “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ในยูเครน พร้อมๆ กันกับการประกาศรับรองเอกราชให้แก่โดเนตสก์และลูฮันสก์ ดินแดนของยูเครนที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งรัสเซียคอยให้การหนุนหลัง

รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนตามการออกมาเตือนของสหรัฐฯ ท่ามกลางการกล่าวอ้างว่ายกทัพของตนเองเข้าไปยังยูเครน เป็นเพียงแค่ “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย พร้อมองคาพยพของตนกล่าวอ้างเหตุผลของการเข้ารุกรานยูเครนในเบื้องต้นว่าเป็นไปเพื่อ “ถอนระบอบนาซี” “ปลดอาวุธทางการทหาร” และ “ทำให้ยูเครนมีสถานะเป็นกลาง”

AFP - ยูเครน

รัสเซียกล่าวอ้างว่า ยูเครนมีความพยายามในการเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นผู้นำในการคานอำนาจกับอดีตสหภาพโซเวียตมาจนถึงรัสเซียในยุคปัจจุบัน ความพยายามในการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของยูเครนทำให้รัสเซียหวั่นเกรงว่า ศัตรูคู่แข่งของตนอย่างโลกตะวันตกจะสามารถเข้ามาประชิดชายแดนของตนเองได้ อย่างไรก็ดี รัสเซียเลือกที่จะไม่ใช้วิธีการเจรจา แต่กลับเปิดฉากการรุกรานยูเครนเพื่อทำสงครามที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศแทน

หลังจากสงครามปะทุขึ้น โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนผู้ที่เรียกร้องให้ยุโรปพิจารณาการรับตนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือออกมาแถลงว่า ยูเครนยินดีที่จะไม่เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ และยินดีที่จะเจรจากันในเรื่องสถานะการเป็นกลางของยูเครน ภายใต้เงื่อนไขว่ายูเครนจะไม่ยอมเสียดินแดนของตนเองแม้แต่นิ้วเดียว อย่างไรก็ดี รัสเซียเองที่อ้างเหตุผลของการรุกรานถึงการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของยูเครน กลับเมินเฉยต่อข้อเสนอของเซเลนสกี และเดินหน้าทำการรบในภูมิภาคทางตอนเหนือ ตอนใต้ และตะวันออกของยูเครนอย่างต่อเนื่อง


ข้ออ้างหลักรัสเซียที่ฟังไม่ขึ้น: ยูเครนมีระบอบนาซี

ข้ออ้างเรื่องการขอเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของรัสเซียโดยยูเครน ที่นำมาซึ่งการุกรานดูจะลดโทนลงเรื่อยๆ หลังจากยูเครนแสดงท่าทีที่จะไม่เข้าร่วมองค์การความร่วมมือทางการทหารของยุโรปในการคานอำนาจกับทางรัสเซีย อย่างไรก็ดี ข้ออ้างเรื่อง “การถอนระบอบนาซี” ในยูเครนของรัสเซียเริ่มพุ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ กับกระแสการปลดแอกพื้นที่ทางตะวันออกและตอนใต้ของยูเครน สถานที่ที่รัสเซียอ้างว่ามีกองกำลังนีโอนาซีของยูเครนประจำการ และคอย “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ประชาชนที่พูดภาษารัสเซียได้

คำกล่าวอ้างของรัสเซียในเรื่องระบอบนีโอนาซีในยูเครนมีความเป็นจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ความเป็นจริงในมิติที่รัสเซียหยิบไปสร้างโฆษณาชวนเชื่อ “กองพันอซอฟ” เป็นกลุ่มกองกำลังขวาสุดโต่ง ซึ่งมีสมาชิกบางรายมีอุดมการณ์นีโอนาซีในยูเครน หน่วยทหารราบอาสาสมัครขวาจัดนี้มีสมาชิกประมาณ 900 คน พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มทหารผู้รักชาติสุดโต่ง และพยายามปิดบังอุดมการณ์นีโอนาซีและเหยียดผิวของตน ทั้งนี้ กองพันอซอฟถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ช่วงเดียวกันกับที่รัสเซียเข้ารุกรานไครเมียของยูเครน และผนวกแผ่นดินของเพื่อนบ้านเข้าเป็นของตนเอง กระแสเกลียดชังรัสเซียและชาตินิยมยูเครนพุ่งสูงขึ้นเท่าทวีในช่วงเวลาดังกล่าว

AFP - ยูเครน กองพันอซอฟ

กองพันอซอฟก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้รักชาติยูเครนและกลุ่มสมัชชาแห่งชาติสังคมนีโอนาซี (SNA) ทั้งสองกลุ่มมีแนวคิดเกลียดกลัวชาวต่างชาติ และเข้าทำร้ายร่างกายผู้อพยพอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะชนชาวโรมาหรือยิปซี ตลอดจนประชาชนยูเครนที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ขวาจัดของกองพันอซอฟ ทั้งนี้ กองพันอซอฟมีบทบาทในการเข้ารบกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในโดเนตสก์ที่รัสเซียคอยให้การหนุนหลัง กลุ่มเดียวกันกับที่ปูตินประกาศรับรองเอกราชจากยูเครน

มารีอูปอลซึ่งเคยถูกยึดจากยูเครนไปโดยรัสเซียถูกเข้าครอบครองกลับมาอีกครั้งในปี 2557 กองพันอซอฟได้รับการบรรจุเข้าร่วมกับกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติยูเครน ในสมัยอดีตประธานาธิบดียูเครนอย่าง เปโตร โดยโปโรเชนโกเคยกล่าวยกย่องอย่างสูงต่อเรื่องดังกล่าวว่ากองพันอซอฟเป็นกองกำลังชั้นนำของยูเครน อย่างไรก็ดี สมาชิกของหน่วยทหารของกองพันอซอฟทั้งหมดไม่ได้สมาทานอุดมการณ์นีโอนาซี

อันดรีย์ ดิอาเชนโก โฆษกของกองพันอซอฟได้ออกมายอมรับเมื่อปี 2558 ว่า ในหน่วยของตนเองนั้น มีกลุ่มนีโอนาซีอยู่แค่เพียง 10 ถึง 20% จากกองกำลังทั้งหมดประมาณ 900 คน อย่างไรก็ดี กองทัพยูเครนมีทหารสังกัดอยู่ที่ประมาณ 250,000 นาย ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้ว ข้ออ้างว่ายูเครนเต็มไปด้วยกลุ่มนีโอนาซีที่จ้องจะสังหารผู้ที่พูดภาษารัสเซียในดินแดนยูเครนฟังดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก การสู้รบระหว่างยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีรัสเซียคอยให้การหนุนหลังในแถบตะวันออกของยูเครน จึงเป็นการสู้รบกันในเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดน มากกว่าประเด็นอุดมการณ์นีโอนาซี

กองพันอซอฟปฏิเสธว่า ตนไม่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์นาซีในโดยรวม ถึงแม้ว่าจะมีการพบสัญลักษณ์นาซี เช่น เครื่องหมายสวัสดิกะและเครื่องกกุธภัณฑ์ SS ในเครื่องแบบของกำลังพลสังกัดหน่วยตนจริง อย่างไรก็ดี กองพันอซอฟอ้างว่ากำลังพลดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น และกองพันดังกล่าวลงพื้นที่ปฏิบัติการในภูมิภาคดอนบาส เพื่อต่อต้านกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเป็นส่วนใหญ่


ปูตินเดินหน้าปลุกผีนาซี หลังเพลี่ยงพล้ำสงครามระยะแรก

ตลอดช่วงปลายเดือน ก.พ. มาจนถึง มี.ค. จากการสั่งการที่ไม่เป็นระบบ และการขาดประสบการณ์ในพื้นที่ รัสเซียสูญเสียรถถังและกำลังพลของตนเองจำนวนมหาศาลไปกับพื้นที่ทางตอนเหนือและรอบกรุงเคียฟของยูเครน ทางการยูเครนรายงานว่ามีทหารรัสเซียหลายหมื่นรายที่เสียชีวิตลงจากการรุกราน ในขณะที่ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียออกมายอมรับว่า รัสเซียพบกับความสูญเสียอย่างมหาศาลในยูเครน แต่ไม่มีการระบุแต่อย่างใดว่ารัสเซียสูญเสียกำลังพลไปในยูเครนเท่าใด ความเสียเปรียบดังกล่าวส่งผลให้รัสเซียเลือกใช้วิธีการยิงขีปนาวุธถล่มเมืองต่างๆ ของยูเครนแทน

รัสเซียตัดสินใจถอนทัพของตนออกนอกรอบกรุงเคียฟและเมืองทางตอนเหนือของยูเครน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. เข้าสู่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่การถอยร่นออกไปกลับเปิดเผยภาพสยองขวัญที่ทหารรัสเซียกระทำต่อประชาชนชาวยูเครน ทั้งการมัดมือไพล่หลัง ข่มขืน ยิงระยะประชิด ตัดอวัยวะ ฯลฯ ภาพอันโหดร้ายไม่ต่างอะไรไปจากข้อกล่าวอ้างที่รัสเซียอ้างว่ากองทัพนีโอนาซีของยูเครนได้ทำร้ายและสังหารประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในดินแดนทางตะวันออกของยูเครน ประชาคมโลกเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองบูชาและเออร์ปิน ตลอดจนเมืองอื่นๆ รอบกรุงเคียฟว่าเป็น “อาชญากรรมสงคราม” “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และ “อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ”

AFP - ยูเครน ยิว

รัสเซียไม่เคยมีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนถึง “การถอนระบอบนาซี” ในยูเครนตามคำกล่าวอ้างของตน ขัดกันกับการที่ยูเครนเปิดเผยภาพและหลักฐานการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยฝีมือของทหารรัสเซีย อย่างไรก็ดี หลังจากถอนทหารออกจากตอนเหนือและเมืองรอบกรุงเคียฟของยูเครน รัสเซียอ้างว่าตนได้ “บรรลุปฏิบัติการในระยะแรก” ในยูเครนทางตะวันตกและเหนือ และจะมุ่งหน้า “ปลดแอก” ภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครนต่อ พื้นที่ที่รัสเซียอ้างว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้พูดภาษารัสเซียโดยกองกำลังนีโอนาซียูเครน

โวหารของรัสเซียจากการทำให้ยูเครนเป็นกลางและไม่เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือในตอนแรกของการเข้ารุกรานเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมาแทบจะถูกลืมไป ท่ามกลางกระแสการประโคมความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนชาวรัสเซียว่า กองกำลังของรัสเซียกำลังเข้า “ถอนระบอบนาซี” ในยูเครน ถึงแม้ว่ารัสเซียจะไม่มีหลักฐานยืนยันข้อกล่าวอ้างของตนก็ตาม

ยุทธการณ์ของรัสเซียจากเดิมที่มุ่งเป้าการยึดกรุงเคียฟและล้มรัฐบาลของเซเลนสกี ถูกเปลี่ยนไปเป็นการยึดภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออก และการยึดมารีอูปอล เพื่อทำให้เมืองดังกล่าวเป็นสะพานเชื่อมดอนบาสเข้ากับไครเมีย ความพยายามในครั้งล่าสุดนี้ของรัสเซีย เป็นความพยายามในการกู้หน้าตนเอง หลังจากที่รัสเซียพ่ายแพ้ในสมรภูมิรอบกรุงเคียฟและเมืองทางตอนเหนือของยูเครน ผ่านการปลุกกระแสว่ามีระบอบนาซีในยูเครน ศัตรูตัวจริงในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองของโซเวียต ที่กำลังเป็นศัตรูในจินตานาการของประชาชนชาวรัสเซียตามโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลตนเอง

รัสเซียไม่ได้ใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อบอกให้กับประชาชนภายในประเทศเชื่อว่ามีระบอบนาซีอยู่ในยูเครนเท่านั้น เพราะเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อของอิตาลีว่า ฮิตเลอร์อดีตผู้นำนาซีเยอรมนี “มีเชื้อสายยิว” และ “กลุ่มต่อต้านยิวหัวสุดโต่งมีแนวโน้มจะเป็นยิว” คำตอบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ลาฟรอฟถูกถามว่า รัสเซียจะอ้างความชอบธรรมในการ “ถอนระบอบนาซี” ออกจากยูเครน ประเทศที่มีประธานาธิบดีเชื้อสายยิวได้อย่างไร คำตอบดังกล่าวส่งผลให้อิสราเอลไม่พอใจรัสเซียเป็นอย่างมาก จนปูตินต้องต่อสายตรงหานายกรัฐมนตรีอิสราเอลเพื่อกล่าวขอโทษ


สู่วันที่ 9 พ.ค. 2565 77 ปีของวันแห่งชัยชนะ

ในวันนี้ (9 พ.ค.) ตรงกับโอกาสครบรอบ 77 ปี วันแห่งชัยชนะ โดยรัสเซียจะมีการจัดขบวนพาเหรดประจำปี เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของตนเหนือนาซีเมื่อ 77 ปีก่อน อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ และชาติตะวันตกคาดว่า รัสเซียจะใช้วันนี้เพื่อการประกาศสงครามกับยูเครนอย่างเป็นทาง หลังจากที่เรียกการรุกรานเพื่อนบ้านตนเองมาตลอดว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” อย่างไรก็ดี รัสเซียปฏิเสธข่าวกรองดังกล่าวของตะวันตกว่า “ไร้สาระ”

ทั้งนี้ ชาติตะวันตกยังได้คาดการณ์อีกว่า รัสเซียอาจใช้วันแห่งชัยชนะเพื่อประกาศความสำเร็จทางการทหารในยูเครนบางประการ โดยอาจเป็นการประกาศความสำเร็จในการยึดเมืองมารีอูปอลของยูเครน อย่างไรก็ดี รัสเซียยังคงเดินหน้าทำสงครามในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออก มารีอูปอลและโอเดซาทางตอนใต้ของยูเครนอย่างหนัก เพื่อหวังจะเร่งปิดสงครามภายใต้ชัยชนะของตนเอง ทดแทนกับความสูญเสียและพ่ายแพ้จากสมรภูมิรอบกรุงเคียฟและตอนเหนือของยูเครน และวิกฤตการเศรษฐกิจจากการถูกคว่ำบาตรโดยนานาชาติ

AFP - รัสเซีย วันแห่งชัยชนะ

วันแห่งชัยชนะของโซเวียตต่อนาซีเยอรมนี จะช่วยเสริมสร้างวาทกรรมของปูตินที่ใช้อ้างในการรุกรานยูเครนว่าประเทศเพื่อนบ้านของตนมีระบอบนีโอนาซี และรัสเซียกำลังเข้าไป “ถอนระบอบนาซี” จากยูเครนไปในในตัว ทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องมือในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อของปูติน ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากการผนวกไครเมียเข้าเป็นของตนเองในปี 2557 จนกระทั่งก่อนการรุกรานยูเครนทั้งประเทศในวันที่ 24 ก.พ. 2565

คำถามที่ตามมาคือ วันแห่งชัยชนะมีความหมายอย่างไรต่อคนรัสเซียทั้งชาติ ตลอดการรบพุ่งของโซเวียตกับนาซีเยอรมีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีประชาชนชาวโซเวียตเสียชีวิตกว่า 27 ล้านคน ชัยชนะเมื่อกองทัพแดงสามารถนำธงโซเวียตไปปักยังยอดอาคารในกรุงเบอร์ลินของนาซีแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายอย่างมหาศาลของโซเวียต ภายใต้ความทรงจำที่ถูกเล่าต่อกันมาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนกลายเป็นภาพนิยามตำนานของสหภาพโซเวียตตลอดช่วงสงครามเย็น ก่อนถูกส่งต่อมายังรัสเซียในปัจจุบัน

นาซีเยอรมนีเริ่มปฏิบัติการบาร์บารอสซา เพื่อเข้ารุกรานสหภาพโซเวียตเมื่อ 22 มิ.ย. 2484 สงครามในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากความผิดพลาดของ โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำเผด็จการของสหภาพโซเวียตที่ตัดสินใจผิดพลาดในการทำสนธิสัญญากับฮิตเลอร์ เพื่อหวังว่านาซีจะปกป้องสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ดี ในปี 2482 ฮิตเลอร์ยกทัพนาซีบุกโปแลนด์แบบสายฟ้าฟาด จนกลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองตามมา มีการเปรียบเทียบจากนักวิชาการทางตะวันตกว่า 22 มิ.ย. 2484 ของโซเวียต ไม่ต่างอะไรไปจากเหตุการณ์วินาศกรรม 911 ของสหรัฐฯ ในปี 2544

นาซีเยอรมนีต่อต้านโซเวียตอย่างหนัก ไม่ต่างอะไรไปจากวาทกรรมในการโจมตีชาวยิว นาซียังได้เรียกชนชาวสลาฟ ซึ่งเป็นเชื้อชาติส่วนใหญ่ของชาวโซเวียตว่าเป็นพวกต้อยต่ำกว่ามนุษย์ สงครามระหว่างนาซีเยอรมนีต่อโซเวียต จึงเป็นสงครามโจมตีถึงแก่นชีวิตของคนรัสเซีย อย่างไรดี ยูเครนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสภาพโซเวียตเองก็ลุกขึ้นสู้กับนาซีเยอรมนีด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ มีชาวยิวในพื้นที่ยูเครนกว่า 34,000 รายถูกกองทัพนาซีเยอรมนีสังหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยูเครนทำการสร้างอนุสาวรีย์บาบิยาร์ เพื่อรำลึกถึงเหยื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว อย่างไรก็ดี กองทัพรัสเซียทำการทิ้งระเบิดใส่อนุสาวรีย์นี้เมื่อช่วงแรกของการรุกรานยูเครน

AFP - ยูเครน นาซี ยิว สงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อครั้งนาซีเยอรมนีรุกรานโซเวียตผ่านทางยูเครน ประชาชนจำนวนหนึ่งของยูเครนมองว่านาซีอาจเป็นผู้ปลดแอกตนเองออกจากการปกครองที่กดขี่และเลวร้ายของโซเวียต เนื่องจากการที่ยูเครนถูกดูดทรัพยากรของตนเข้าไปยังศูนย์กลางของมอสโก ความรุ่มรวยของภาคอุตสาหกรรมหนักในส่วนกลางของโซเวียต คือการกดทับภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของยูเครนตลอดช่วงของการอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียตเอง

ทั้งนี้ มีประชาชนชาวยูเครนกว่าหลายล้านรายเสียชีวิตตลอดการต่อสู้เพื่อต่อต้านนาซีเยอรมนี เพื่อปกป้องโซเวียตทั้งสหภาพเอาไว้ ในขณะที่กองทัพของมอสโกและเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก) กลับได้รับเหรียญกล้าหาญในฐานะวีรบุรุษประจำเมืองผู้ใช้ความกล้าหาญพิทักษ์โซเวียต ประวัติศาสตร์ของโซเวียตในสงครามโลกถูกเน้นภาพชัดอยู่กับแค่คนรัสเซีย และคนยูเครนกลับถูกหลงลืม ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเสียสละในการสู้รบกับนาซีเยอรมนีไม่ต่างอะไรไปจากรัสเซียเอง

มันจึงแทบจะเป็นเรื่องที่จินตนาการได้ยากว่า ปูตินจะไม่ใช้ประโยชน์ในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อของตนเองในรัสเซีย จากวันแห่งชัยชนะของโซเวียตต่อนาซีเยอรมนี เพื่อขับเน้นข้อกล่าวหาว่ายูเครนมีระบอบนีโอนาซีปฏิบัติการอยู่ในทางตะวันออกของยูเครน ปูตินอาจเลือกวันดังกล่าวในการประกาศความสำเร็จทางการทหาร หรือไม่ก็คือการประกาศยกระดับปฏิบัติการของตนในยูเครน หรืออาจเป็นได้ทั้งสองประการพร้อมกัน การประกาศที่ปูตินคาดว่าตนจะได้เปร่งออกมาตั้งแต่เดือน ก.พ. แต่กลับต้องเลื่อนออกไปเกือบ 3 เดือนเนื่องจากความพ่ายแพ้ของตนในระยะแรก

รัสเซียยังคงทำศึกอยู่ในยูเครนบริเวณภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออก เมืองมารีอูปอลและโอเดซาทางตอนใต้ของยูเครน กองทัพของรัสเซียที่เคยประจำการทางตอนเหนือและรอบกรุงเคียฟของยูเครนถูกถอนออกมาทั้งหมดแล้ว หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามระยะแรก ถึงแม้ว่ารัสเซียจะอ้างว่าปฏิบัติการระยะแรกของตนในยูเครนจะได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้วก็ตาม

ความชะงักงันของรัสเซียในยูเครนตลอดระยะเวลาสองเดือนกว่าที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ารัสเซียไม่ใช่มหาอำนาจทางการทหารอีกต่อไปแล้วนับตั้งแต่สงครามเย็นจบลง หลังจากที่ปูตินคาดว่าตนจะสามารถยึดกรุงเคียฟได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1-2 สัปดาห์ นับตั้งแต่การรุกรานเริ่มขึ้นเมื่อ 24 ก.พ. วันแห่งชัยชนะนี้ เป็นเพียงวันแห่งชัยชนะของโซเวียตต่อนาซีเมื่อ 77 ปีก่อน และยังห่างไกลจากชัยชนะของรัสเซียต่อยูเครน ประเทศที่ถูกรัสเซียกล่าวหาว่ามีระบอบนีโอนาซีภายใต้ประธานาธิบดีที่เป็นยิว


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2022/5/6/russia-what-is-victory-day-and-why-is-it-important-this-may-9

https://www.aljazeera.com/news/2022/3/1/who-are-the-azov-regiment

https://www.reuters.com/article/us-cohen-ukraine-commentary-idUSKBN1GV2TY

https://www.bbc.com/news/world-europe-61332283