ไม่พบผลการค้นหา
‘หมอเจี๊ยบ-หมอริท’ ออกมาร่วมสนับสนุนแถลงการณ์ 5 ข้อ คณะแพทย์ เรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เป็นการรับฟังอย่างสันติวิธี

ภายหลังกลุ่มแพทย์ทั้งหมด 386 คน ออกแถลงการณ์ ใช้ชื่อว่า “มุมมองของแพทย์ต่อสถานการณ์วันที่ 16 ตุลาคม 2563” กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณแยกปทุมวัน ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนและกลุ่มสมทบอื่นๆ เพื่อสลายการชุมนุม ทั้งที่เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ยังมีภาพรถพยาบาลที่ไม่สามารถผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อทำการรับส่งผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ตามหลักมนุษยธรรม

ล่าสุด หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ และ หมอริท-เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือ ริท เดอะสตาร์ เป็นอีกสองคนในแวดวงบันเทิง ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ ออกมาร่วมสนับสนุนแถลงการณ์ 5 ข้อดังกล่าว ด้วยการโพสต์ผ่าน อินสตาแกรมส่วนตัว

หมอเจี๊ยบ ระบุว่า  มีภาพรถพยาบาลที่ไม่สามารถผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่เพื่อทำการรับส่งผู้ป่วย เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง 

ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์คนหนึ่งที่มีหน้าที่ต้องรักษาผู้ป่วย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ รวมถึงทัศนคติทางการเมือง 

ขอร่วมสนับสนุนแถลงการณ์ 5 ข้อดังกล่าว จากคณะบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง ที่ได้ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบให้เป็นการรับฟังอย่างสันติวิธี

ในขณะที่ หมอริท ระบุว่า ข้อร่วมสนับสนุนให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเป็นการรับฟังอย่างสันติวิธี

ทั้งนี้ แถลงการณ์มุมมองของแพทย์ต่อสถานการณ์การชุมนุมแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐ ต่อผู้ชุมนุม เปิดการรับฟังอย่างสันติวิธีและขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชายึดหลักสากลในการควบคุมฝูงชนดังนี้ 

1.โรงพยาบาลต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย และเป็นกลางทางการเมือง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งพึงได้รับของพลเมือง บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยและผู้ประสบภัยทุกคนอย่างเสมอภาค

2.การดูแลการชุมนุมต้องปฎิบัติตามหลักสากล มาตรการที่ใช้ควบคุมฝูงชนจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักความจำเป็น หลักความสมเหตุสมผล หลักความได้สัดส่วนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

3.การใช้รถยิงน้ำยังผสมสารเคมียิงไปยังผู้ชุมนุมเป็นมาตรการที่มีความรุนแรงโดยสภาพ เจ้าหน้าที่ไม่อาจแยกแยะเป้าหมายเพื่อบังคับมาตรการนี้อย่างเป็นธรรมได้ เจ้าหน้าที่จึงไม่ควรใช้รถยิงน้ำกับการชุมนุมที่สงบ แรงดันที่เกิดจากน้ำมีระดับสูง สามารถทำให้เกิดอันตรายแก่กายทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ

4.งดใช้สารเคมีที่มีพิษต่อระบบผิวหนัง และเยื่อบุ หรือต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น แก๊สน้ำตา ต่อผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

5.เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของผู้เห็นต่างในสังคม เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: