ไม่พบผลการค้นหา
ศาลนัดไต่สวนกรณีเรือนจำจะย้ายตัวราษฎรกลางดึก อ้างพาไปตรวจโควิด-19 หลังอานนท์ ยื่นคำร้องกังวลอันตรายต่อชีวิต ขอศาล “โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย” รักษาการณ์ ผบ. เรือนจำพิเศษกรุงแจงต่อศาลเรียกตรวจเพราะมีความจำเป็นเร่งด่วน กรณีเจ้าหน้าที่ไม่ติดป้ายชื่อไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเหตุใด ยืนยันมีเทปบันทุกภาพจากกล้องวงจรปิดอยู่

ช่วงเช้าของวันที่ 16 มี.ค. ผู้ดูแลแอคเคาท์ “อานนท์ นำภา” โพสต์ภาพจดหมายที่อานนท์ เขียนขึ้นระหว่างที่ถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาทำหน้าที่ทนายความในคดีคนอยากเลือกตั้งซึ่งเป็นคดีความที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ในจดหมายฉบับนั้นระบุถึง กรณีความผิดปกติที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 15 มี.ค. หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ย้ายตัว จุตภัทร์ บุญภัทรรักษา และภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 จากกรณีการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และอีกคนหนึ่งคือ ปิยรัฐ จงเทพ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Wevo ผู้ถูกกล่าวหาคดีอั้งยี้ซ่องโจร ซึ่งถูกศาลใช้อำนาจฝากขังระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำสำนวนฟ้องยื่นต่ออัยการ เข้าไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาถูกส่งไปควบคุมตัวไว้ยังเรือนจำพิเศษธนบุรี

อานนท์ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้เปิดไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น ศาลรับคำร้องไว้ และเปิดการไต่สวนทันทีในวันรุ่งขึ้น ทว่าเมื่อถึงเวลาไต่สวนศาลไม่อนุญาติให้สาธารณชนเข้ารับฟังการพิจารณา โอยอ้างว่า ต้องการจำกัดจำนวนผู้เข้ารับฟังการพิจารณา อนุญาติให้เพียงญาติผู้เกี่ยวข้องเข้าไปด้านในห้องพิจารณาคดีได้ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่เข้มงวดระหว่างการเบิกตัวอานนท์มายังศาล เช่น การไม่เปิดโอกาสให้เขาได้พูดคุยกับผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจเขาที่หน้าห้องพิจารณาคดี


ข้อเท็จจริงจาก ‘อานนท์ นำภา’

หลังจากผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 จากกรณีการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จำนวน 4 คนคือ อานนท์ นำภา , พริษฐ์ ชิวารักษ์ , สมยศ พฤษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกนำตัวกลับมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังจากถูกเบิกตัวไปศาลตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 15 มี.ค. ทั้งหมดถูกนำตัวมาควบคุมไว้ที่แดน 2

จากนั้นได้มีการนำตัว 3 ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกสั่งขังระหว่างการพิจารณาคดีเข้ามาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเพิ่มเติมคือ จุตภัทร์ บุญภัทรรักษา และภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 จากกรณีการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และอีกคนหนึ่งคือ ปิยรัฐ จงเทพ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Wevo ผู้ถูกกล่าวหาคดีอั้งยี้ซ่องโจร ซึ่งถูกศาลใช้อำนาจฝากขังระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำสำนวนฟ้องยื่นต่ออัยการ โดยทั้งสามคนถูกนำตัวเข้าไปไว้ในที่เดียวกันกับอานนท์ และพวก

จากนั้นเวลา 21.30 น. มีเจ้าหน้าที่เรือนจำเข้ามาเพื่อจะนำตัว จตุภัทร์ ภานุพงศ์ และปิยรัฐ ไป โดยอ้างว่าจะนำไปกักตัวไว้ที่ห้องควบคุมอื่น แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดไม่ยินยอมเนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำในยามวิกาล ประกอบกับไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัยเนื่องจาก เข้าใจว่าระหว่างทางเดินจากห้องควบคุมตัวที่พวกเขาอยู่ไปยังจุดอื่นๆ ห้องกักตัว ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นที่ใดนั้น ไม่มีกล้องวงจรปิด จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้กลับออกไป ทั้งนี้ จตุภัทร์ ได้จดจำชื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาไว้ได้ประมาณ 4 คน

ต่อมาเวลา 23.45 น. มีเจ้าหน้าที่เรือนจำกลับมาอีกครั้งในจำนวนที่มากกว่าเดิม พร้อมชี้แจงใหม่ว่าจะนำตัวไปตรวจโควิด-19 แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดไม่ยินยอมเช่นเดิม

จนกระทั่งเวลา 00.15 และ 02.30 น. มีเจ้าหน้าที่เข้ามาอีก โดยสองครั้งนี้พบว่ามีเจ้าหน้าที่ชุดสีน้ำเงินเข้มไม่ติดป้ายชื่อเข้ามา พร้อมทั้งมีแพทย์เข้ามาด้วย แต่อานนท์ตั้งข้อสังเกตว่า แพทย์ที่เข้ามานั้นไม่ได้มีลักษณะที่เตรียมความพร้อมมาก่อนหน้า แต่เหมือนถูกปลุกให้มาทำงานนี้โดยเฉพาะ พวกเขาจึงยืนยันเช่นเดิม นอกจากนี้ในช่วงเวลา 02.30 น. จตุภัทร์ ยังได้เดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ชุดสีน้ำเงินเข้มไม่ติดป้ายชื่อ เพื่อสอบถามชื่อ-นามสกุล แต่ก็ไม่รับคำตอบ

และหลังจากนั้นอานนท์ ระบุว่า เขาไม่ได้นอนทั้งคืน เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย เช่นเดียวกันกับปิยรัฐ ซึ่งทำหน้าที่เฝ้ายามเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการนำตัวผู้ถูกควบคุมไปในขณะที่หลับอยู่ นอกจากนี้อานนท์ยังระบุว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้น ภายใต้ข่าวลือว่าจะมีการส่งคนเข้าไปทำร้ายหมายเอาชีวิตพวกเขาในเรือนจำ และเกรงว่าจะเสียชีวิตในเรือนจำ

นอกจากนี้อานนท์ ยังได้เบิกความต่อศาลด้วยว่า เคยได้รับคำเตือนมาก่อนว่า บุคคลคนหนึ่ง ซึ่งอานนท์ได้เอ่ยชื่อเล่น ต่อศาลในระหว่างพิจารณาไต่สวน ว่าบุคคลนั้นจะส่งคนเข้ามาจัดการอานนท์ พริฐษ์ และคนอื่นๆ ในเรือนจำ โดยอานนท์ยกตัวอย่างถึงผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคนที่เสียชีวิตด้วย เช่น หมอหยอง สุริยัน สุจริตพลวงศ์ และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยการเมืองซึ่งถูกสังหารในประเทศลาว เพื่อขอให้ศาลไปโปรดคุ้มครองเขาด้วย

อย่างไรก็ตามกรณีที่อานนท์ ได้ขอให้ทนายความขอเทปจากกล้องวงจรปิดในเรือนจำแดน 2 ทั้งหมด รวมทั้งในห้องขังขณะเกิดเหตุด้วย แต่ เวลานี้เรือนจำยังไม่ได้ส่งมายังศาลเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการไต่สวน โดยทางทนายความได้ขอให้ศาลพิจารณาเรียกหลักฐานนั้นมา เนื่องจากมีความกังวลว่าจะมีการทำลาย หรือลบทิ้ง ทั้งนี้อานทท์ได้ยืนยันต่อศาลด้วยว่า ระหว่างเกิดเหตุผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 7 คนเกรงว่าจะเกิดอันตรายถึงกับชีวิต จึงพยายามที่จะไปอยู่ที่กล้องวงจรปิดมองเห็นในเวลาที่เกิดเหตุ

สิ่งที่เขาร้องขอให้มีการตรวจสอบคือ ขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ทำเข้าไปพยายามดำเนินการดังกล่าว เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานใด ได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการในการเข้าไปยังห้องควบคุมขังหรือไม่ และมีชื่อสกุลว่าอะไรบ้าง พร้อมกับเปิดเผยภาพกล้องวงจรปิดทุกกล้อง ทุกตัว ทุกมุม ที่บันทึกภาพและคลิปเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

รวมทั้งอานนท์ยังเรียกร้องให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ชี้แจงว่าการย้ายที่คุมขังในยามวิกาลหรือในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบหรือไม่ หากสามารถทำได้ อาศัยอำนาจตามข้อกฎหมายหรือระเบียบใด 


ข้อเท็จจริงจากเรือนจำ

ในช่วงบ่ายศาลได้เรียกตัว อโนทัย ทั้งรักษ์ รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพเข้ามาไต่สวนข้อเท็จจริง โดยนรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพยอมรับว่ามีการเข้าไปเรียกตัวผู้ขังจริงตามที่อานนท์ระบุ ขณะที่ประเด็นสำคัญที่มีการไต่สวนวันนี้มีอยู่ 3 เรื่องคือ

1.เหตุใดจึงมีการเข้าตรวจโควิด-19 ในยามวิกาล รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ชี้แจงว่า ในกรณีของผู้ต้องขังทั้งสามคน ซึ่งถูกย้ายมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรีนั้น มีความจำเป็นเร่งด่วน เพราะเป็นการย้ายมาจากพื้นที่เสี่ยงระดับสูงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

2.กรณีที่เจ้าหน้าที่เรือนจำสวมชุดสีน้ำเงินเข้มเข้าไปที่ห้องขังโดยไม่ติดป้ายชื่อนั้น รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพระบุว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเหตุใด

3.กรณีการร้องขอให้มีการเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ระบุว่า เหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในกล้องวงจรปิดแล้ว และพร้อมที่จะนำมาเปิดเผยต่อศาล

โดยศาลได้นัดหมายไต่สวนกรณีนี้อีกครั้งในวันที่ 22 มี.ค. โดยจะขอเบิกตัว ภาณุพงศ์ จาดนอก และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา พร้อมเรียกตัว วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เข้ามาไต่สวนเพิ่มเติม พร้อมทั้งทำหนังสือขอเทปบันทึกเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 15 มี.ค. จนถึงเวลา 04.00 น. ของวันที่ 16 มี.ค. เข้ามาเป็นหลักฐานประกอบการไต่สวนด้วย


2 อดีตผู้ต้องยืนยันกรณีที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ ผิดวิสัยที่เรือนจำเคยทำ

เอกชัย หงส์กังวาน อดีตผู้ต้องขังคดี 112 ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมากว่า 2 ปี เปิดเผยว่า ไม่เคยพบกรณีการเข้ามาของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ไม่ติดป้ายชื่อเลยแม้แต่ครั้งเดียว  ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าจำเป็นที่จะต้องให้แพทย์ตรวจโควิด-19 นั้น เอกชัยชี้ว่า โดยปกติแล้วแพทย์จะเข้ามาที่เรือนจำเฉพาะเวลากลางวันคือ 10.00 – 14.00 น. ในวันทำงานเท่านั้น นอกจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เวรเฝ้าสถานพยาบาลเท่านั้น ขนาดคนป่วยเจียนตายยังต้องรอแพทย์ตอนกลางวัน

เป็นไปในทางเดียวกันกับข้อมูลจากชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ซึ่งระบุถึงแบบแผนของเรือนจำว่า หลังปิดขัง ตั้งแต่ 15.00-06.00 รวม 15 ชั่วโมง ทุกคนเหมือนอยู่ในกรงขังที่ถูกปิด ไม่ว่าจะไม่สบาย หรือตาย จะไม่มีทางเปิดห้องขังจนกว่าจะเช้า ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้คุม กรณีที่ผู้ต้องขัง 3 คนที่ย้ายจากเรือนจำพิเศษธนบุรี มาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จะต้องถูกส่งตัวไปแดน 2 โดยทันทีเพื่อกักตัว เหมือนคนอื่นที่เข้าคุกมาใหม่ แม้แต่เยี่ยมญาติก็ทำไม่ได้ หรือจะพบทนายก็ต้องผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เท่านั้น การเข้าไปเอาตัวถึงในห้องขังตอนดึก แล้วอ้างว่าเพราะมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี จึงต้องตรวจโควิดกันตอนดึกๆ ดื่นๆ มันผิดวิสัย