ไม่พบผลการค้นหา
ในการรณรงค์งดดื่มแอลกอฮอล์ คอเหล้าคนไทยคงคุ้นเคยกันดีกับแคมเปญ ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พยายามผลักดันต่อเนื่องมาหลายปี ขณะเดียวกันด้านสหราชอาณาจักรก็ไม่ได้น้อยหน้า เมื่อนักดื่มจำนวนมากกำลังหันมาเข้าร่วมแคมเปญ ‘Dry January’ งดแอลกอฮอล์ตลอดเดือนแรกของทุกปี

‘Dry January’ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2014 และได้รับผลตอบรับดีเสมอมา ทว่าหลายภาคส่วนในสหราชอาณาจักรเริ่มออกมาคัดค้านว่า เดือนมกราคม และระยะเวลา 31 วัน อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก สำหรับการหย่าขาดแอลกอฮอล์ 

จากผลสำรวจของ British Liver Trust องค์กรการกุศลที่รณรงค์เรื่องสุขภาพตับพบว่า 1 ใน 10 ของคนสหราชอาณาจักรเลือกจะ ‘หยุดดื่ม’ ชั่วคราวในเดือนมกราคม และมักดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Dry January ที่สามารถคำนวณแคลอรีจากแอลกอฮอล์ ระบุวันงดดื่ม และจำนวนเงินเก็บที่เพิ่มขึ้นไว้ในสมาร์ทโฟน

  • ภาพรณรงค์ให้เข้าร่วมโครงการของ Dry January ที่เผยแพร่อยู่บนโซเชียลมีเดีย

ด้านเว็บไซต์ Alcohol Change UK  ยังระบุว่า ผู้เข้าร่วมโครงการถึง 58 เปอร์เซ็นต์มีน้ำหนักลดลง ขณะเดียวกันนักดื่ม 71 เปอร์เซ็นต์มีการนอนหลับดีขึ้น และ 88 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า Dry January มีส่วนช่วยประหยัดเงิน 

ลอเรน บุคเกอร์ (Lauren Booker) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Try Dry : The Official Guide to a Month off Booze แนะนำให้นักดื่มระงับความสัมพันธ์กับแอลกอฮอล์ในเดือนมกราคม พร้อมบอกว่า ไม่จำเป็นต้องเลิกทั้งหมดทันที โดยเคล็ดลับอยู่ตรงการนำเครื่องดื่มมึนเมาไปไว้ในห้องเก็บของ หรือฝากบ้านเพื่อนจนกว่าเดือนมกราคมจะสิ้นสุดลง

ขัดแย้งกับความเห็นของ สจวต เจฟฟรีส์ (Stuart Jeffries) คอลัมน์นิสต์ของ The Guardian ที่บอกว่า การกระทำเช่นนั้นเปรียบเสมือนการพักรบ และเริ่มสงครามกับตับอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 

เจฟฟรีส์มองว่า การหยุดดื่มสุราเป็นระยะเวลา 1 เดือน ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการหวังผลในระยะยาว กระบวนการของ Drunk December (การดื่มอย่างหนักในเดือนธันวาคม สืบเนื่องจากปาร์ตี้ในหลายเทศกาล) ไปสู่ Dry January ก็เหมือนกับอาการโยโย่ของคนลดน้ำหนักเร็วเกินไป และไม่ถูกวิธี ซึ่งทำให้คอเหล้าดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากขึ้นในเวลาต่อมา

สิ่งสำคัญสำหรับเจฟฟรีส์คือ การเรียนรู้ถึงผลลัพธ์ที่ไม่ได้ดีเลิศสำหรับพฤติกรรมแบบ ‘ชั่วคราว’ และ ‘มกราคมหย่าเหล้า’ ไม่สามารถเป็นแคมเปญที่ปฏิวัติไลฟ์สไตล์การดื่มได้ นักดื่มควรจะมองหาปริมาณแอลกอฮอล์ที่ ‘พอเหมาะ’ ต่างหาก 

ปัจจุบัน CMO (ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาล) แนะนำให้คนสหราชอาณาจักรบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ออาทิตย์ในปริมาณเท่ากับอย่างใดอย่างหนึ่งของไวน์ 9 แก้ว สุรา 14 แก้ว หรือเบียร์ 7 ไพนต์ แต่ปรากฎว่า ค่าเฉลี่ยสูงกว่าที่แนะนำเกือบ 5 เท่า
dry jan3.jpg
  • คนสหราชอาณาจักรบริโภคค็อกเทลเฉลี่ย 3.1 แก้ว ต่อการดื่มหนึ่งครั้ง  

เคธี วิตกี้วิตซ์ (Katie Witkiewitz) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเม็กซิโก ซึ่งทำงานในศูนย์พิษสุราเรื้อรัง และการใช้สารเสพติด บอกว่า การหยุดดื่มสุราแม้เพียงชั่วคราวก็ส่งผลดีต่อร่างกาย และมีส่วนให้บริโภคน้อยลงตลอดปี 

กระนั้น วิตกี้วิตช์ก็มีความกังวลเกี่ยวกับวิธียุติการบริโภคแอลกอฮอล์แบบ ‘หักดิบ’ โดยยกตัวอย่างผู้ที่ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด เพื่อการลดน้ำหนัก แต่วันหนึ่งกลับสามารถทานคุกกี้ทั้งกล่องในคราวเดียว และผู้คนที่เข้าร่วม Dry January อาจจะกลับไปดื่มอย่างหนักเมื่อเดือนมกราคมสิ้นสุดลง 

ทว่างานวิจัยของ ดร. ริชาร์ด เดอ วิตเซอร์ (Dr Richard de Visser) อาจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ ที่ศึกษาพฤติกรรมของนักดื่ม 800 ชีวิต สำหรับการเข้าร่วม Dry January ในปี 2018 กลับพบว่า อัตราเฉลี่ยในการดื่มของกลุ่มเป้าหมายลดลงจาก 4.3 เหลือเพียง 3.3 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่วิตกี้วิตช์ และเจฟฟรีส์เป็นกังวล

dry jan4.jpg
  • ในวันหยุดเทศกาลคนสหราชอาณาจักรดื่มมากถึง 80 แก้ว และ 16 เปอร์เซ็นต์ เริ่มดื่มตั้งแต่สนามบินหากได้ไปฉลองที่ต่างประเทศ

แม้ Dry January จะช่วยให้คนจำนวนมากลดอัตราการบริโภคแอลกอฮอล์และฟื้นฟูสุขภาพได้จริง แต่ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามคือ บุคคลที่เข้าร่วมจนเห็นผลสำเร็จเป็นกลุ่มที่มีปัญหากับแอลกอฮอล์จริงๆ หรือเปล่า ? 

เอียน แฮมิลตัน (Ian Hamilton) วิทยากรเรื่องสุขภาพจิตและการติดยาเสพติดจากมหาวิทยาลัยยอร์ก บอกว่า ตนเองไม่แน่ใจว่าแคมเปญนี้จะสามารถช่วยทุกคนได้จริง หรือมีการประเมินผลที่แข็งแกร่งตามมา

แฮมิลตัน ให้ความเห็นว่า แคมเปญนี้ไม่สามารถทำให้นักดื่มสะบั้นความสัมพันธ์ต่อแอลกอฮอล์ หลายล้านคนที่สมัครเข้าร่วมโครงการคือคนที่ไม่มีอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำให้พวกเขามองว่า การเอาชนะแคมเปญนี้เป็นเรื่องกล้วยๆ 

ย้อนกลับไปที่วิตกี้วิตช์ เธอบอกว่าสิ่งที่น่ากังวล และเป็นข้อเสียเพียงอย่างเดียวสำหรับ Dry January คือการประชาสัมพันธ์แบบ All or Nothing (สื่อถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง) 

ในระยะยาววิตกี้วิตช์มองว่า การดื่มในปริมาณที่เหมาะสมตลอดทั้งปี คือทางออกที่ดีสุด รวมถึงการรณรงค์ให้ดื่มอย่างมีมติ และไม่ควรทำให้การดื่มหนักเป็นพิเศษในช่วงวันหยุดกลายเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป พร้อมสำทับเพิ่มเติมว่า การบริโภคแอลกอฮอล์น้อยลงจะส่งผลประโยชน์ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แม้จะเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มแค่ 4 แก้วต่อปาร์ตี้ เป็น 2 แก้วก็ตาม

ที่มา:

On Being
198Article
0Video
0Blog