เค้กเป็นเด็กสาวที่ดูจะผ่านประสบการณ์ชีวิตมากว่าคนรุ่นเดียวกันจำนวนไม่น้อย เคยเฉียดตายมาแล้ว 2 ครั้งและโควิดนับเป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี รถมอเตอร์ไซค์ชนขณะข้ามทางม้าลาย เส้นเอ็นเข่าขาดต้องพักฟื้นทำกายภาพบำบัดนานนับปี ครั้งที่สองเกิดจากการกินยาพาราฯ เกินขนาดจนต้องล้างท้อง ด้วยเหตุว่าเป็นวัยรุ่นที่มีสภาวะซึมเศร้า เติบโตในครอบครัวซึ่งมี domestic violence ระหว่างพ่อ-แม่ ปัจจุบันเค้กไม่ต้องกินยาต้านเศร้าแล้ว เธอเรียนระดับ ปวส. อาศัยอยู่บ้านย่านพระราม 2 กับยาย ซึ่งเธอเรียกว่า ‘แม่’ พี่สาว พี่ชาย และหลานวัย 8 ขวบอีก 1 คน เธอมีความใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟ
ในเดือนกรกฏาคม บ้านนี้ติดเชื้อกันทั้งหมด โดยเริ่มต้นจากช่วงต้นเดือน พี่สาวซึ่งทำงานในคลินิกเสริมความงามพา ‘แม่’ ไปซื้อของเข้าบ้านและพาสมาชิกครอบครัวไปทานอาหารร่วมกัน เป็นธรรมเนียมหลังได้รับเงินเดือนตอนสิ้นเดือน
สัปดาห์ถัดมา พี่สาวเริ่มมีอาการ ไอ อาเจียน ท้องเสีย ขณะที่เค้กก็เริ่มเป็นไข้ ซึ่งคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา พี่ชายของเค้กพาพี่สาวไปโรงพยาบาล ต้องรอผลอย่างเป็นทางการอีกหลายวัน ขณะที่อาการเริ่มหนักขึ้น สุดท้ายจึงแยกแยกไปกักตัวที่นครปฐมเพราะกลัวจะติดหลาน รู้ผลอีกทีว่าติดโควิดก็วันที่ 16 ก.ค. และต่อมาได้กักตัวใน รพ.สนามที่นครปฐม
หากโควิดมาเยือนช้ากว่านี้อีกหน่อย สถานการณ์ต่างๆ อาจดีขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้น วันที่ 12 ก.ค. พี่ชายของเค้กได้คิวไปฉีดวัคซีน และ 13 ก.ค. ‘แม่’ ก็ได้ไปฉีดวัคซีนเช่นกัน แต่กว่าภูมิจะขึ้นต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์
“ตอนนั้นทั้งคู่ยังไม่รู้ว่าตัวเองรับเชื้อแล้วและต้องกักตัว เขาก็ไปฉีดวัคซีนกัน กลับมาไข้ขึ้น ก็คิดว่าเป็นเป็นเอฟเฟคจากการฉีดวัคซีน แต่อาการหนักขึ้นเรื่อยๆ”
ยายหรือ ‘แม่’ อดทนกินยาอยู่บ้าน จนกระทั่งวันที่ 16-17-18 ก.ค. มีอาการเสมหะเป็นเลือด ตัวเหลืองซีด หายใจแรง เค้กกังวลใจและพยายามหา รพ. ตรวจ
“เค้กพาแม่ไป walk in ตาม รพ.ทั่วกรุงเทพเลยค่ะ แต่ไม่มีที่ไหนแล้ว ไม่มีที่ไหนรับ ต้องจองคิวก่อน พี่ชายขับวนหาทั่วสารทิศ”
ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งเริ่มมีแนวทางให้ประชาชนใช้ชุดตรวจด้วยตนเองได้ และสามารถเข้าระบบ สปสช.เพื่อรับการดูแลได้เลยโดยไม่ต้องใช้ผลแล็ป RT-PCR ครอบครัวของเค้กโชคไม่ดีนักที่ยังต้องเผชิญกับ ‘ล็อค’ ดังกล่าวในช่วงเวลานั้น
เค้กเล่าว่า สุดท้ายกรณีของยายไปจบที่ รพ.ประกันสังคม ในวันที่ 18 ก.ค. ได้รับการแอดมิทตอน 1 ทุ่ม
“กระบวนการที่ รพ.รอนานมาก รอเซ็นรับ แล้วค่าออกซิเจนแกก็ต่ำ 52 สภาพก็ผิดปกติ เค้กก็เลยไปตามพยาบาลมา ขอออกซิเจนให้แก เพราะตอนรอไม่มีอะไรเลย สภาพแกมันไม่ไหวแล้ว ข้าวไม่ได้กินกันทั้งวัน พอผลตรวจของแม่ออกมา ก็คือปอดเขรอะไปหมด ติดเชื้อ”
วันรุ่งขึ้น พี่ชายของเค้กไปตรวจและพบว่าติดเชื้อเช่นเดียวกัน ส่วนเค้กนั้น รพ.ไม่รับตรวจจึงต้องไปตรวจที่แล็ปเอกชน เมื่อเจอผลบวก ปัญหาคลาสสิคก็คือ เข้าสู่ระบบไม่ได้
“โชคดีที่หลานไม่ติด มันน่าจะเป็นปฏิหาริย์ค่ะ ก็เลยแยกส่งไปให้ญาติที่แม่กลอง ให้ไปกักตัวก่อน”
ระหว่างที่เค้กและพี่ชายรู้แล้วว่าติดเชื้อ เค้กซึ่งยังมีอาการน้อยกว่าพยายามประสานทุกทางเพื่อให้พี่ชายซึ่งเริ่มไอจนเสมหะเป็นเลือด กลายเป็นเคสสีเหลืองได้มีเตียงรักษา จนกระทั่งวันที่ 22 ก.ค. จึงได้เตียงใน hospital แห่งหนึ่ง
ที่บ้านจึงเหลือเพียงเค้กคนเดียว โชคดีที่เพื่อนบ้านใจดีนำอาหารมาแขวนไว้ให้ที่หน้าบ้านทุกวัน จนวันที่ 22-25 ก.ค.เค้กเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว ค่าออกซิเจนเหลือ 87
“เราพยายามนอนคว่ำ นอนตะแคง ทำทุกอย่าง วัดออกซิเจนตลอด”
“ถังออกซิเจน เราติดต่อทุกช่องทาง แต่คือมันรอนานมาก ทั้งหน่วยงานรัฐ ทั้งมูลนิธิต่างๆ แต่เราเข้าใจนะคะ เพราะว่าเคสพิเศษมันเยอะมาก มันเยอะมากจริงๆ ต้องคนที่เข้าขั้นวิกฤตเท่านั้นถึงจะได้ สุดท้ายได้ถังออกซิเจนมาจากญาติ เราก็พยายามช่วยเหลือตัวเอง แต่วันที่ 25 คือเค้กไม่ไหวแล้ว ถ้าไม่มีคนมารับ หนูน่าจะตายคาบ้านในวันนั้น”
การประสานงานให้รถไปรับส่ง รพ.ได้ทันเวลาเกิดขึ้นได้ เพราะพยาบาลจากกลุ่มภาคประชาชน ‘ThaiCare’
ThaiCare ได้รับเรื่องไว้ เนื่องจากตอนที่ยังมีแรง เค้กไล่ลงทะเบียนในทุกช่องทางที่เธอค้นหาเจอ ตั้งแต่ทราบผลโควิดแน่ชัดในวันที่ 19 ก.ค. และมีเพียงแห่งเดียวที่ติดต่อกลับ พยาบาล ‘ต่าย’ จาก ThaiCare ติดต่อเค้กมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.มีการแอดไลน์พูดคุยและวิดีโอคอลประเมินอาการกันทุกวัน รวมถึงส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้เค้กด้วย
“เค้กลงทะเบียนทุกช่องทาง ของ สปสช.ก็ด้วย ต้องใช้เวลา 2-3 วันจึงติดต่อกลับว่ารับเรื่องไว้แล้ว ก็คือแค่ว่าเขาแค่รับทราบเฉยๆ ไม่ได้ส่งยาหรืออะไร เราก็ต้องรอแล้วพยายามทำให้ตัวเองรอด โชคดีที่ทางไทยแคร์เข้ามาช่วยดูแล”
“สถานการณ์วันที่ 25 ช่วงเช้าเริ่มเจ็บหน้าอกเริ่มหายใจหอบ ส่งวีดีโอไปให้ญาติดูในกลุ่มไลน์ เรารู้สึกตัวว่าไม่ไหวแล้วจริงๆ เลยสั่งลา สั่งเสีย โพสต์เฟซบุ๊กตอนประมาณ 3-4 ทุ่ม แบบเค้กไม่ไหวแล้ว มันทรมานมากเลย ขอบคุณสำหรับการช่วยเหลือ ประมาณนี้ค่ะ มีคนโทรติดต่อมา แต่เราก็ไม่ได้รับ เพราะว่ามันมีช่วงนึงที่เราหมดสติไปแล้ว แต่ก็รู้สึกตัวขึ้นมาอีกหน แล้วพยายามคลานไปเอาออกซิเจนมาใส่จมูก ก่อนหน้านั้นพยาบาลต่ายก็โทรมาช่วงประมาณ 5 ทุ่มกว่าๆ พอเขาเห็นว่าเค้กพูดไม่ไหวแล้ว เขาก็พยายามจะเห็นหน้าเรา หน้าเค้กมันก็ไม่ไหวแล้วจริงๆ แล้วเค้กก็วูบไปเลย”
“ทีมกู้ภัยของพยาบาลต่ายมารับในกลางดึกนั้นเลย ได้ยินเสียงนิดๆ วี้หว่อ วี้หว่อ น่าจะตี 1 ตี 2 ได้ เขาช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วนำส่ง รพ.ตามสิทธิบัตรทองที่ปากเกร็ด”
“ไปถึง รพ.ก็ไม่รับแล้ว แต่ว่าเราไม่ไหวแล้วจริงๆ พี่กู้ภัยเขาก็พยายามช่วยสู้ บอกว่าสิทธิคนไข้อยู่ที่นี่ทำไมถึงไม่รับรักษา ทาง รพ.บอกประมาณว่าถ้าไม่มีผลตรวจก็ไม่รับ เราก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องแล้วตอนนั้น”
“สุดท้ายยังไงไม่ทราบ ได้เข้าช่อง ER แล้วเขาก็เจาะเลือด สวอปอีกรอบนึง จนกระทั่งตีห้า เค้กนอนรอใน ER รอแบบนอนรอเฉยๆ เลย ไม่มีอะไรให้เลย แล้วก็หลับ ตื่นประมาณ 10 โมงได้ เขาบอกไปโรงพยาบาลสนามนะ”
“ไปถึงเราพอรู้สึกตัวก็เห็นว่าคนไข้เยอะมาก เราเข้าใจบุคลากรด่านหน้าที่อยู่โรงพยาบาลสนามมันน้อยมาก เราก็พยายามถีบตัวเอง ให้พอช่วยตัวเองได้”
เค้กเล่าว่า รพ.สนามจะแบ่งเป็นชั้น 8-9 ชั้น แยกหญิงชาย ในห้องของเค้กจะนอนรวมกันประมาณ 10 เตียง เป็นเตียงกระดาษที่วางไว้ห่างๆ กัน โดยเพื่อนร่วมห้องของเธอล้วนเป็น ผู้สูงอายุ คุณป้าคุณยายทั้งหลายมาทำความรู้จักกับเค้กและอธิบายสิ่งต่างๆ
ที่ รพ.สนาม เค้กไม่ได้ยาฟาวิฯ อาศัยกินจากชุดที่ได้จาก ThaiCare โชคดีของเค้กที่เชื้อไม่ลงปอด
“ที่นี่จะมีอาหารให้ 3 มื้อ กับข้าวที่นี่ก็อร่อยมาก เราไม่สามารถลงจากตึกได้ เขาจะปิดตาย กันผู้ป่วยหนีหนีกลับบ้าน ลิฟท์ก็ต้องแสกนบัตร ห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวม แต่จะมีห้องน้ำเดี่ยวแยกหนึ่งห้องแบบชักโครกให้คนแก่ใช้ อันนี้เค้กก็ต้องหมั่นทำความสะอาด เพราะคนทำความสะอาดนานๆ จะมาที เค้กคิดว่าคนแก่เยอะ กลัวเขาลื่น เลยพยายามล้างทุกวัน”
“พออาการดีขึ้นหน่อย เค้กก็เป็นอาสาเลยค่ะ ด้วยความที่เราสงสารบุคลากรด่านหน้า คือ มีน้อยมากจริงๆ เขาทำงานหนัก เลยคิดว่าไม่ได้แล้ว ต้องช่วยกัน คนหนึ่งทำหน้าที่หลายอย่าง ต้องหันหลังไปหันหลังมา นั่งกับคนนู้น ไปดูคนนี้ เห็นแล้วยังเหนื่อยแทน แล้วใส่ชุด PPE มันร้อน มันหายใจไม่ออก”
“เค้กทำแทบจะทุกอย่าง พยาบาลเขานำอาหารขึ้นมาส่ง เค้กก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวหนูจัดการให้เอง พี่พยาบาลลงไปทำงานต่อเถอะ เขาก็ขอบคุณ แล้วก็ทำความสะอาด แทบจะทั้งชั้นเลย ถูพื้น กวาด ทำความสะอาดห้องน้ำ เก็บขยะ แล้วพอถึงเวลาที่จะวัดความดันหรือวัดชีพจรปลายนิ้ว เราก็อาสาทำให้ ด้วยความที่เพื่อนร่วมห้องอายุเยอะ เขาก็ทำไม่ค่อยจะเป็น เราก็เลยช่วยวัดทุกคน แล้วเขียนค่าต่างๆ ส่งไปให้พยาบาลทางไลน์ ชั้นเค้กน่าจะประมาณ 30-40 คนได้”
“เขาจะมีหน้าห้อง เป็นจุดตรงกลางหรือเป็นที่วางอาหาร เรียกว่าเป็นพื้นที่ center พอถึงเวลาเราก็จะมาประจำจุด คนไข้เขาก็จะออกมาต่อแถว น่ารัก บางคนก็ใช้วล็อคเกอร์”
“ห้องเค้กมีผู้ป่วยจิตเวชด้วย เราก็ดูแลเขา คือเขาอาจจะพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ก็ไม่ได้คลุ้มคลั่ง เค้กเป็นคนที่คุยกับเขารู้เรื่องที่สุดแค่คนเดียว มีอะไรแกก็จะมาหาตลอด แล้วเราก็มีเบอร์ลูกชายเขา มีอาการอะไรเค้กก็ส่งไปให้ลูกชายแกตลอด”
เค้กอยู่ รพ.สนามตั้งแต่ 26 ก.ค.และได้ออกจากรพ.ในวันที่ 2 ส.ค. และแน่นอน เธอคือขวัญใจ คุณป้าคุณยายทั้งชั้น
“ตอนที่หนูกลับบ้านก็ร่ำลาเกือบจะร้องไห้เหมือนกัน ด้วยความที่ตื่นเช้ามาก็เจอกัน ตอนนอนก็เจอกัน กินข้าวก็กินด้วยกัน มันก็เกิดความผูกพัน มีแลกเบอร์โทรศัพท์เผื่อคิดถึงกันก็โทรมหากันบ้าง ตอนนี้ก็ยังมีคนส่งมานะคะ”
วันที่เค้กออกจาก รพ.สนาม ทุกอย่างน่าจะเริ่มต้นใหม่ด้วยดี แต่วันนั้นก็คือวันเดียวกับที่เค้กสูญเสีย ‘แม่’
“พอเค้กกลับมาพักที่บ้าน ตอนดึกวันนั้นมีสายเข้า ซึ่งมันมันเป็นสายที่ไม่ควรจะไม่รับสาย สายกลางดึก คุณหมอโทรมาบอกอาการ แต่เขายังไม่บอกว่าคุณยายเป็นยังไง เขาพยายามเฉลยทีละอย่างๆ จนกระทั่งบอกว่าคุณยายเสียชีวิตแล้ว”
“จริงๆ ตั้งแต่วันแรกที่แกแอดมิท หมอก็บอกให้ทำใจแล้ว เพราะปอดมันเขรอะจริงๆ ต้องใช้ออกซิเจนแบบพิเศษซึ่งทุกโรงพยาบาลตอนนี้ขาดแคลน ก็เลยต้องใช้สิ่งที่มีทำให้มันได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วถ้าสุดความสามารถหมอแล้ว หมอก็ขออนุญาตไม่ยื้อ ไม่ปั้มหัวใจ ไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจเพราะว่าผู้ป่วยจะเจ็บ และการปั๊มหัวใจจะทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจาย เราก็ทำใจตั้งแต่วันนั้น แต่เราก็ยังใจชื้นเพราะแกอยู่ในมือหมอแล้ว อาศัยโทรไปติดตามอาการถามแกว่าเป็นยังไงบ้าง จนวันสุดท้ายก็ไปเพราะว่าติดเชื้อ ทอลซิลอักเสบ และเพราะแกต้องใช้หน้ากากออกซิเจนด้วย มันเจ็บมันรั้งหู แกเลยถอดออก น่าจะเป็นสาเหตุให้แกไปด้วย”
“ความสูญเสียช่วงนี้มันโหดร้าย ไม่ได้ร่ำไม่ได้ลากันเลย แม้แต่หน้าก็ไม่ได้เจอ มันเป็นความทรมานอย่างหนึ่งในช่วงแบบนี้ ถ้าผู้ป่วยเสีย เขาจะห่อศพแบบพิเศษให้ ตอนเช้าก็ไปติดต่อวัดแล้วก็เผาเลย มีพระมาสวดให้ 3-4 รูป ญาติก็ไม่ได้มาแสดงความเสียใจ แค่วิดีโอร่ำลากัน”
ตอนนี้เค้กบอกว่าเธอกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งด้วยความระมัดระวังตัว ป้องกันอย่างดีที่สุด และคอยเป็นผู้แนะนำให้คำปรึกษาในการปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโควิดที่เธอรู้จัก
เมื่อถามว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาอะไรคือปัญหาที่อยากให้แก้ไขมากที่สุด
เธอตอบทันทีด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า
“รัฐบาลค่ะ ควรออกไปค่ะ ถ้าเราได้วัคซีนที่ดีก็คงไม่มีใครต้องตาย นอนตายที่บ้านแบบนี้ แล้วเราก็สูญเสียคนในบ้าน อีกหนึ่งในนั้นก็เกือบจะเป็นเรา ระบบการจัดการบริหารก็ไม่ดีพอ ถ้าทำไม่ได้ ลาออกไปค่ะ ให้คนรุ่นใหม่ ให้คนที่มีความสามารถมาทำ”
“มันแย่มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนจะป่วยโควิด เค้กไปสมัครงาน เขาสัมภาษณ์เรียบร้อย เป็นเชฟในร้านอาหารในห้าง แต่วันรุ่งขึ้นประกาศล็อกดาวน์รอบที่ 3 แมนเนเจอร์ก็โทรมาบอกว่ารัฐบาลประกาศแบบนี้เอาไว้จะโทรแจ้งอีกที...ความหวังเรา ชีวิตวัยรุ่นเรา มันริบหรี่ลงทุกวัน อะไรที่เราตั้งความหวังไว้มันก็พังลงไปดื้อๆ”
“ตอนนี้สิ่งที่เป็นความหวังเดียวก็คือ เออ...ความฝันของเรามั้งคะ เค้กอยากเป็นเชฟ อยากมีชีวิตต่อ อยากทำฝันของตัวเองให้สำเร็จ อยากเรียนจบให้ที่บ้านภูมิใจ มีงานมีการทำ มีชีวิตเป็นของตัวเอง เราต้องพยายามฮึด พยายามสู้”
“ยังไงซะเค้กจะอยู่รออ่านจดหมายของปรีดี พนมยงค์ ที่จะเปิดในปี 2024 มีชีวิตต่อไป จะอยู่สู้เพื่ออนาคตของเรา อนาคตของคนรุ่นหลัง และรอดูการล่มสลายของรัฐบาลชุดนี้”
ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์และความนึกคิดของพัชราภา หรือ เค้ก วัย 18 ปี